ผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook อย่าง Chris Hughes ออกมาให้สัมภาษณ์สื่ออเมริกันว่ายังถือว่า Mark Zuckerberg เป็นเพื่อนเช่นเดิมแม้จะไม่เห็นด้วยที่ “พลัง” ของ Mark นั้นเติบโตยิ่งใหญ่เกินไป โดยบอกว่าไม่ได้คุยกับเจ้าพ่อ Facebook เลยนับตั้งแต่ออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานสาธารณะพิจารณาการยุบ-แยกบริษัท สำหรับการเตรียมออกเงินคริปโต Libra นั้นก็อาจเป็นโอกาสเพิ่มอำนาจให้บุคคลที่ไม่สมควรเช่นกัน
Chris Hughes ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC ว่านับตั้งแต่การเขียนความเห็นในคอลัมน์ op-ed ให้สำนักข่าว The New York Times เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา เขาก็ไม่ได้พูดคุยกับ Mark Zuckerberg ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Facebook อีกเลย จุดนี้ Hughes ไม่ได้ยืนยันว่ายังคิดว่า Mark เป็นเพื่อนเท่านั้น แต่ยังเผยว่าไม่มีความรู้สึกส่วนตัวในแง่ลบใด ๆ ต่อ Mark
นอกจากนี้ Hughes ยังแย้งด้วยว่าปัญหาเดียวที่เกิดขึ้น คือ Mark มีอิทธิพลหรือ power มากใหญ่เกินไปเพราะหลายประเทศในโลกไม่ได้ควบคุมตลาดโซเชียลมีเดียในแบบที่ควรจะเป็น
สิ่งที่ Hughes เขียนในบทความลือลั่นช่วงพฤษภาคม มีประโยคที่ระบุว่า “It’s Time to Break Up Facebook” ซึ่งสะท้อนว่า Hughes หวังให้มีการจัดระเบียบ Facebook อย่างจริงจัง ในบทความ Hughes เขียนว่าเขาและ Mark พบกันครั้งสุดท้ายในฤดูร้อนปี 2017 เพียงไม่กี่เดือนก่อนที่จะมีข่าวฉาว Cambridge Analytica ทั้งหมดนี้ Hughes เล่าว่าเนื้อหาที่คุยคือการเล่าถึงช่วงเวลาที่ Mark อยู่กับภรรยาและลูกสาว และมีการพูดคุยเรื่องการเมือง งาน และชีวิตครอบครัวก่อนจะแยกกันไป
อย่างไรก็ตาม Hughes ยอมรับว่าไม่แน่ใจว่าจะได้มีโอกาสพูดคุยกับ Mark อีกหรือไม่ แม้ทั้งคู่จะเป็นเพื่อนร่วมห้องที่ Harvard University ซึ่งพวกเขาเริ่มก่อร่าง Facebook ในปี 2004 ซึ่งไม่นาน Hughes ก็ลาออกจาก Facebook ไม่กี่ปีต่อมาเพื่อทำงานในแคมเปญเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2008 สมัย Barack Obama
ย้ำไม่ใช่ปัญหาส่วนตัว
ก่อนหน้านี้ Hughes ยืนยันว่าสิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดเรื่องอิทธิพลของ Facebook คือการควบคุมบทสนทนาชาวโลกโดยฝ่ายเดียวของ Mark ซึ่ง Mark ไม่ควรมีสิทธิติดตาม จัดระเบียบ และแม้แต่เซ็นเซอร์การสนทนาของคน 2 พันล้านคนทั่วโลก แต่ทั้งหมดนี้ Mark Zuckerberg เคยตอบโต้ผ่านสถานีฝรั่งเศส France 2 เพียงว่า สิ่งที่ Hughes เสนอให้ Facebook ดำเนินการนั้นไม่ได้มีส่วนช่วยอะไรเลย
ล่าสุดคือสัปดาห์ที่ผ่านมา Hughes ออกมาบอกกับ CNBC ว่าเคยหยิบยกประเด็นปัญหานี้ขึ้นมาคุยกับ Mark แล้วในอดีต ซึ่งในเมื่อ Facebook อาจจะไม่สามารถรับผิดชอบต่อรัฐบาลและผู้ใช้ในหลายประเทศทั่วโลกได้ รัฐบาลก็ควรจะต้องแยก Facebook ออกจาก Instagram และ WhatsApp ซึ่งเป็นเครือข่ายสังคมที่ถูกซื้อมาในปี 2012 และ 2014 ตามลำดับ
เรื่องนี้ Hughes โยนเผือกให้ Federal Trade Commission ว่า FTC จำเป็นต้องถอยและยอมรับว่าตัวเองทำผิดพลาด และควรเสนอให้มีการหยุดกิจการในอนาคตด้วย
ไม่ใช่แค่ Facebook
Hughes เผยอีกว่าได้พูดคุยเป็นการส่วนตัวกับ “หลายคนในรัฐบาลอเมริกัน” ซึ่งขณะนี้หลายหน่วยงานกำลังอยู่ในขั้นตอนการค้นหาข้อเท็จจริง คาดว่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาในหลายบริษัทอื่นด้วย
แม้ FTC และ Facebook จะยังเงียบไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อคำพูดของ Hughes แต่ก็มีการประเมินว่าหน่วยงานภาครัฐและนักการเมืองอเมริกันกำลังมองหาแนวทางปฏิบัติต่อบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ซึ่งมีแนวโน้มต่อต้านการแข่งขันยุติธรรม ซึ่งไม่เพียง Facebook แต่ Amazon และ Alphabet บริษัทแม่ของ Google รวมถึง Apple ก็อาจถูกสอบมากขึ้น
Hughes ทิ้งท้ายว่า เขาไม่คิดว่าจะมีบริษัทใดที่สมบูรณ์แบบ แต่กรณีของ Facebook นั้นถือว่ายิ่งใหญ่เกินไป และโลกควรคิดถึงการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างการแข่งขันที่มากขึ้น ทั้งในรูปของพฤติกรรมและโครงสร้างบริษัท.
ที่มา: : CNBC