Jay Stanley มีดีกรีเป็นนักวิเคราะห์นโยบายอาวุโส สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกันหรือ ACLU สิ่งที่ Stanley ทำคือการวิจัย เขียน และออกมาพูดประกาศเรื่องความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีของประชาชนในอนาคต งานล่าสุดที่เขาเขียนในบล็อก Free Future ของ ACLU ระบุถึงเทรนด์ความนิยมใช้หุ่นยนต์ระวังภัยหรือ robot surveillance ในเมืองใหญ่ อาจจะคุกคามเสรีภาพของพวกเราทุกคนแบบไม่คาดคิด
คำเตือนของ Jay Stanley ในนาม ACLU เกิดขึ้นในวันที่กล้องวงจรปิดถูกนำมาประยุกต์ร่วมกับระบบ AI แบบใหม่ หลังจากที่กล้องวงจรปิดถูกใช้งานทั่วไปในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยมานานหลายปี การเปลี่ยนผ่านเป็นระบบ robot surveillance ที่มีความเฉลียวฉลาดขึ้นนี้เองที่อาจเป็นอันตรายต่อเสรีภาพของพลเมือง และจะสร้างวิถีใหม่หรือ reshape วิธีที่ผู้คนจะปฏิบัติตนในที่สาธารณะด้วย
Stanley เขียนเตือนในรายงานฉบับใหม่ว่ากล้องวงจรปิดที่รวบรวมและจัดเก็บวิดีโอ (ในบางกรณี) กำลังจะถูกเปลี่ยนเป็น robot surveillance ที่คอยเฝ้าดูผู้คนอย่างแข็งขันและต่อเนื่อง กลายเป็นเครือข่ายเครื่องจักรกลเฝ้าระวังที่ยิ่งใหญ่และกำลังเติบโตขึ้นรอบตัวเรา แม้ขณะนี้เครื่องส่วนใหญ่ยังไม่ฉลาดนักและทำงานได้ช้า แต่ทุกอย่างจะมีความหมายทันทีหากมีการปรับปรุงระบบให้ดีขึ้นแบบก้าวกระโดด
ใช้คุมพฤติกรรมได้
Stanley ย้ำว่าผลลัพธ์ของการปูพรมใช้งานระบบ robot surveillance โดยไม่มีการควบคุมดูแลขอบเขตการทำงาน อาจจะทำให้โลกมีสังคมใหม่ซึ่งทุกคนในสังคมสามารถถูกตัดสินหรือประเมินการเคลื่อนไหวและพฤติกรรมสาธารณะของทุกคนได้อย่างต่อเนื่องและครอบคลุมทุกพื้นที่ แน่นอนว่าไม่ต้องใช้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่เป็นคน เพราะนี่จะเป็นระบบ AI security guard ของจริง
คำพูดของ Stanley ไม่ใช่เรื่องโคมลอย ประสบการณ์จากการทำงานเป็นนักวิจัยด้านเทคโนโลยีกับบริษัท Forrester ช่วงก่อนมาทำงานที่ ACLU ทำให้ Stanley เข้าใจแนวโน้มพัฒนาการของเทคโนโลยีรอบด้าน สำหรับรายงานชิ้นใหม่ Stanley อธิบายเพิ่มว่าความก้าวหน้าล่าสุดในเทคโนโลยี AI ช่วยให้ระบบกล้องสามารถจดจำผู้คนได้อย่างรวดเร็วด้วยการวิเคราะห์ใบหน้าและรูปแบบการเดินของแต่ละคน นอกจากนี้ ระบบยังสามารถสังเกตเห็นพฤติกรรม “ผิดปกติ” และตรวจสอบการเคลื่อนไหวของดวงตาและอารมณ์ของผู้คนได้ด้วย
ฝ่ายที่สนับสนุนมองว่าความสามารถที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้ธุรกิจเข้าใจลูกค้าที่เดินทางมาเยี่ยมชมร้านค้าได้ และยังช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจในการติดตามผู้ต้องสงสัย แต่ Stanley เตือนว่าระบบนี้อาจทำให้เกิดปัญหารุนแรงขึ้นได้หากมีการเกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกชนชั้น เช่นกรณีที่กล้องทำเครื่องหมายหรือ flag ภาพประชาชนในละแวกใกล้เคียง และนำผู้คนให้ “จำกัด” พฤติกรรมของพวกเขาในที่สาธารณะเพื่อไม่ให้ระบบทำเครื่องหมายซ้ำอีก
Stanley มองว่าการมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่เป็น AI หรือ AI security guard ซึ่งประสานการทำงานกันเป็นกองทัพนั้นจะทำให้คนในสังคมรู้สึกว่าถูกจับตามองตลอดเวลา เหมือนกับการขับรถไปตามทางหลวงและเห็นตำรวจท่องเที่ยวแล่นตามมาข้างหลังจนรู้สึกอึดอัด และไม่มีใครต้องการที่จะรู้สึกอย่างนั้นตลอดเวลา
ขอให้โปร่งใส
แนวคิดของ Stanley ไม่ได้หวังปิดกั้นการใช้งาน AI security guard แต่ต้องการให้มีมาตรการควบคุมอันตรายที่อาจเกิดขึ้น Stanley ในนาม ACLU จึงเรียกร้องให้มีการอนุมัติกฎหมายเพื่อบังคับใช้กับระบบการเฝ้าระวังอัจฉริยะ ซึ่งจะต้องมีกฎเกณฑ์ที่โปร่งใสเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าใจว่ากล้องเหล่านี้ใช้งานอย่างไร
ก่อนหน้านี้ ACLU เคยเรียกร้องให้มีการเลื่อนโครงการใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ จนกว่าสภาคองเกรสจะสามารถกำหนดได้ว่าเทคโนโลยีนี้ควรใช้อย่างไร โดยย้ำว่าเทคโนโลยีนี้ไม่ควรใช้สำหรับการสร้างข้อมูลสำหรับระบุตัวตนสาธารณชนทั่วไป รวมถึงการตั้งข้อสงสัยกับสาธารณชนไปก่อน
สำหรับ Stanley การส่งสัญญาณเตือนครั้งนี้ถือเป็นอีกหน้าหนึ่งของการทำงานด้านสื่อ โดยก่อนหน้านี้ Stanley มีประสบการณ์ทำสื่อในเครือ Facts on File ชื่อ World News Digest และยังเป็นบรรณาธิการให้กับ Medialink ตัวของ Stanley จบการศึกษาจากวิทยาลัย Williams College และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์อเมริกา จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย.
กล้องวงจรปิดรักษาความปลอดภัยจาก Xiaomi คลิกเลย
ที่มา: : Fastcompany