Clubhouse แอปโซเชียลมีเดียที่ใครๆ ก็พูดถึงในช่วงนี้ จากจุดเริ่มต้นในกลุ่ม early adopter จนเริ่มแพร่หลายในกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ รวมไปถึงบุคคลทั่วไป
แบรนด์ธุรกิจ และนักการตลาดหลายคนที่กำลังมองหาโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคผ่านแอปพลิเคชันนี้ควรเตรียมพร้อมอะไรบ้าง
ก่อนอื่นต้องมาทำความรู้จักกันก่อนว่า Clubhouse คืออะไร ใช้ยังไง แตกต่างจากโซเชียลมีเดียอื่นๆ อย่างไร และสุดท้ายโอกาสทางธุรกิจคืออะไร
Clubhouse คืออะไร?
Clubhouse ก่อตั้งในเดือนเมษายนปี 2020 โดย Paul Davidson และ Rohan Seth จนถึงปัจจุบันระดมทุนได้มากถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กลายเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นภายในระยะเวลาเพียง 8 เดือน
เป็นแอปโซเชียลสำหรับแชทด้วยเสียง โดยผู้ใช้สามารถสร้างห้องเพื่อเป็นพิธีกร (Moderator) และสามารถเข้าร่วมห้องอื่นๆ เพื่อเป็นผู้ฟัง (Audience) ซึ่งพิธีกรสามารถกำหนดให้ผู้ชมคนไหนก็ได้เพื่อมาเป็นผู้พูด (Speaker)
รูปแบบการใช้งานคือผู้ใช้สามารถเข้าร่วมฟังการสนทนา การสัมภาษณ์ และร่วมพูดคุยได้ในหัวข้อต่างๆ ที่สนใจ หรือตามบุคคลที่เราติดตาม (Follow) กำลังพูดหรือฟังอยู่ได้
Clubhouse ใช้ยังไง?
วิธีสมัครใช้งาน Clubhouse คือ ให้ลงทะเบียน ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ และสร้าง Username เป็นของตัวเอง จากนั้นให้ผู้ที่มีบัญชีอยู่แล้วเชิญ (Invite) ผ่านเบอร์โทรศัพ์และ SMS โดยค่าเริ่มต้น 1 บัญชีสามารถเชิญได้ 2 ครั้งเท่านั้น
ทั้งนี้ปัจจุบัน (15 ก.พ.) Clubhouse ยังไม่รองรับอุปกรณ์ในระบบ Android โดยผู้พัฒนาให้เหตุผลว่าต้องการให้แอปฯ เติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป (เหตุผลเดียวกับระบบ Invite)
แตกต่างจากโซเชียลมีเดียอื่นๆ อย่างไร?
ใครจะคาดคิดว่าโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook, Instagram, Twitter, YouTube ฯลฯ ก็ยังมีจุดที่ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนได้ ซึ่งก็คือชุมชนการพูดด้วยเสียง
โดยผู้ก่อตั้ง Clubhouse เชื่อว่า เสียงคือสิ่งที่สร้างประสบการณ์ทางสังคม และให้ความรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์มากกว่าที่จะโพสต์ข้อความหรือรูปภาพ
ฟีเจอร์สำคัญของห้องสนทนาคือ เมื่อปิดห้องไปแล้ว บทสนทนาทั้งหมดจะไม่ถูกบันทึกไว้ (ยกเว้นใช้อุปกรณ์เสริม แต่กฎขอแอปฯ คือห้ามบันทึกเสียง) ทำให้เนื้อหาที่เกิดขึ้นภายในห้องกลายเป็นความ Exclusive ทันที เพราะหาฟังย้อนหลังที่ไหนไม่ได้
นอกจากนี้หัวข้อสนทนาล้วนน่าสนใจ เนื่องจากมีเหล่าผู้นำความคิด (Leader Thought) สร้างห้องสนทนาให้เข้าไปฟังอยู่ตลอดทั้งวัน อาทิเช่น ลงทุนอะไรดี, ปูพื้นฐาน BITCOIN, ทำไมต้องทำงาน, ฟุตบอล รวมถึงการพูดคุยเกี่ยวกับแอป Clubhouse เอง
จุดที่น่าสังเกตที่จุดหนึ่งคือ รูปแบบการเติบโตของ Clubhouse ที่ตรงกันข้ามกับแอปฯ โซเชียลอื่นๆ ที่ให้ผู้ใช้สามารถสมัครเข้าใช้งานได้ง่าย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ใช้ ขณะที่ Clubhouse มีเงื่อนไขในการเข้าใช้แอปพลิเคชันต้องถูกเชิญเท่านั้น ขณะที่เชิญได้จำกัดครั้ง
โอกาสของแบรนด์ใน Clubhouse คืออะไร?
ก่อนที่จะมาพูดถึงสิ่งที่แบรนด์จะได้รับจาก Clubhouse ต้องกำหนดก่อนว่าแบรนด์ต้องการอะไรจากแอปพลิเคชันน้องใหม่นี้
เนื่องจากปัจจุบันการใช้งานของ Clubhouse ยังคงจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้นำความคิดและอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งค่อนข้างเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม
ผู้เขียนได้เข้าไปสังเกตในแอปพลิเคชันแล้วพบว่า หัวสนทนาส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อแบ่งปันความรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึก สร้างการมีส่วนร่วมบทสนทนาระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง ดังนั้นการจุดประกายหัวข้อที่น่าสนใจแล้วแสดงตัวตนของแบรนด์อาจเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด
นอกจากนี้ Clubhouse ได้กล่าวถึงการพัฒนาช่องทางสร้างรายได้ให้กับผู้ใช้งาน อย่างการสมัครสมาชิกคลับ ทิป หรือเก็บเงินค่าเข้าห้องสนทนา การโฆษณาภายในแอปฯ รวมถึงการติดแท็กสนับสนุนของแบรนด์ (Sponsor)
——————————————————————————————————————-
ข้อสังเกต
- Facebook และ Twitter ประกาศพัฒนาฟีเจอร์ที่คล้ายกับ Clubhouse
- Clubhouse ถือเป็นแอปฯ ที่มีศักยภาพ แต่การสร้างรายได้และโฆษณายังไม่ชัดเจน
- จำนวนผู้ใช้งานไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดด
- มีข้อจำกัดสำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้ระบบ Android