Site icon Thumbsup

LAZY CONSUMER : เจาะ Insight ตลาดคนขี้เกียจ

 

หากเราลองมองย้อนกลับไปในอดีต เราคงเริ่มจะคิดกันไม่ออกแล้วว่า ถ้าในวันข้างหน้าเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกอย่างย้อนกลับไปไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีสมาร์ทโฟน หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือ เราจะใช้ชีวิตกันได้อย่างไร ในเมื่อเทคโนโลยีทุกอย่างในปัจจุบันมีการพัฒนาจนทำให้หลาย ๆ คนเสพย์ติดไลฟ์สไตล์แสนสะดวกสบายนี้กันมากขึ้นทุกวัน

ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า ในปัจจุบันผู้คนจำนวนมากหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากนวัตกรรมต่างๆ สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิต โดยเฉพาะในเรื่องของการประหยัดแรงงานและเวลา ทำให้สังคมไทยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเข้าสู่สังคมของความเคยชิน หรือจะเรียกง่ายๆ ว่าสังคมของ “ความขี้เกียจ” ที่ผู้บริโภคยินดีจะจ่ายเงินให้กับสินค้าใดๆ ก็ตามที่มอบความสะดวกสบายให้พวกเขาได้มากที่สุดนั่นเอง

วันนี้ทีมงาน thumbsup จึงนำผลวิจัย “ตลาดคนขี้เกียจ” หรือ “LAZY CONSUMER” ของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU มานำเสนอแบบคร่าวๆ ให้ผู้อ่านได้รับชมกันครับ

10 พฤติกรรมที่คนไทยขี้เกียจที่สุด

จากผลการวิจัยกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,200 คน ใน 4 กลุ่มอายุ แบ่งเป็น Gen Z, Gen Y, Gen X และ Baby Boomers พบว่า 10 พฤติกรรมขี้เกียจยอดฮิตของคนไทย ได้แก่

  1. ออกกำลังกาย 84%
  2. รอคิวซื้อของ 81%
  3. ทำความสะอาดบ้าน 77%
  4. อ่านหนังสือ 70%
  5. ทำอาหาร 69%
  6. พูดคุยหรือเจอคนเยอะ ๆ 68%
  7. ดูแลผิวพรรณตัวเอง 68%
  8. เรียน / ทำงาน 65%
  9. ออกไปช้อปปิ้ง 64%
  10. การเดินทาง 60%

จากการสังเกตค่าเฉลี่ยของคะแนนความขี้เกียจแล้ว ทุกประเภทจะมีค่าเฉลี่ยที่ใกล้เคียงกันค่อนข้างมาก แต่พฤติกรรมที่มีคะแนนความขี้เกียจเฉลี่ยสูงที่สุดคือ “การรอคิวซื้อของ” ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่เราเห็นในปัจจุบันว่าธุรกิจเดลิเวอรี่ในประเทศไทยนั้น กำลังเฟื่องฟูและได้รับความนิยมสูงมาก เนื่องด้วยไลฟ์สไตล์ของหลายๆ คนต้องการความรวดเร็ว และต้องมีการบริหารเวลาให้คุ้มค่าที่สุด การมีคนไปยืนต่อคิวรอซื้อของให้ ในขณะที่เราสามารถนั่งทำงาน หรือทำธุระส่วนตัวอื่นๆ ได้อย่างอิสระ ก็ตอบโจทย์ที่ผู้บริโภคต้องการได้เป็นอย่างดี ทำให้แบรนด์เดลิเวอรี่ใหม่ๆ เกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลา

SLOTH Strategy กลยุทธ์เด็ดพิชิตใจตลาดคนขี้เกียจ

จากข้อมูลการวิจัยข้างต้น CMMU แนะนำ SLOTH Strategy ให้ภาคธุรกิจนำมาปรับใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มตลาดคนขี้เกียจ ประกอบด้วย

S Speed ต้องมีความรวดเร็ว เพื่อให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกเสียเวลา

LLean ต้องกระชับ ตัด ท่อน เพื่อง่ายต่อการใช้งาน

O – EnjOy ต้องทำให้ผู้บริโภครู้สึกสนุก เกิดแรงจูงใจในการใช้สินค้าและบริการ

T – ConvenienT ความสะดวกสบาย ที่ทำให้ชีวิตนั้นง่ายมากขึ้น

H Happy ความสุข เมื่อความต้องการได้ถูกเติมเต็ม และ ปัญหาถูกแก้ไขด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด

สรุปได้สั้น ๆ ได้ว่า เร็ว กระชับ สนุก สะดวก แฮปปี้ ความสุขของลูกค้า ก็คือ ความสุขของเรา

5 ประเภทธุรกิจและบริการมาแรง ครองใจตลาดคนขี้เกียจ

เมื่อทำการวิเคราะห์เชิงลึก 5 อันดับแรกของพฤติกรรมที่คนทั่วไปขี้เกียจแล้ว พบว่าจากจำนวนประชากรไทย 66.41 ล้านคน มีกลุ่มพฤติกรรมขี้เกียจเหล่านี้มากที่สุด

  1. กลุ่มมนุษย์อยากดูดีแต่ไม่มีแรง หรือการขี้เกียจออกกำลังกาย คิดเป็น 84% หรือประมาณ 55 ล้านคน
  2. กลุ่มมนุษย์ชอบช็อป แต่ไม่ชอบรอหรือขี้เกียจรอคิวซื้อของ คิดเป็น 81% หรือประมาณ 53 ล้านคน
  3. กลุ่มมนุษย์บ้านรก สกปรกค่อยทำ คิดเป็น 77% หรือประมาณ 50 ล้านคน
  4. กลุ่มมนุษย์ไม่ชอบอ่าน แค่ผ่าน ก็พอ หรือขี้เกียจอ่านหนังสือ คิดเป็น 70% หรือประมาณ 46 ล้านคน
  5. กลุ่มมนุษย์ชอบกิน แต่ไม่อินทำอาหาร หรือขี้เกียจทำอาหาร คิดเป็น 69% หรือประมาณ 45 ล้านคน

ซึ่งจากผลการวิจัยทั้งหมดพบว่า 5 ธุรกิจและบริการที่กำลังมาแรงที่สุดในไทยและคาดว่าในอนาคตจะสามารถครองใจตลาดคนขี้เกียจได้ดี คือ

  1. ธุรกิจที่ทำแทนได้ อาทิ ทำบริการความสะอาดบ้าน  บริหารสั่งอาหาร  บริการซื้อของแทน
  2. ธุรกิจที่ไม่ต้องขยับ ไม่ต้องจับ ไม่ต้องถือ อาทิ สินค้าประเภท Automation และ Hand Free
  3. ธุรกิจที่พร้อมใช้งานทันที เช่น สินค้าประเภทพร้อมกิน พร้อมดื่ม
  4. ธุรกิจร่วมมือ ร่วมใจ เช่น Community ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในรูปแบบออนไลน์
  5. ธุรกิจที่เน้นการฟัง เช่น Podcast Content หรือVDO Content

จากข้อมูลดังกล่าวทำให้เห็นว่าตลาด “กลุ่มคนขี้เกียจ” เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายที่น่าจับตา หากคุณกำลังอยากเริ่มทำธุรกิจ หรือกำลังหาแนวทางในการต่อยอดธุรกิจที่กำลังทำอยู่ การหันมาศึกษากลุ่มเป้าหมายดังกล่าวก็อาจจะสร้างโอกาสให้ธุรกิจของคุณได้มากขึ้นในยุคที่ทุกอย่างกำลังผันตัวเข้าหาโลกออนไลน์ และทุกคนกำลังมองหาความสะดวกสบายเช่นปัจจุบัน

สุดท้ายนี้ทีมงานขอขอบคุณงานวิจัยดี ๆ จากวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) หากผู้อ่านท่านใดต้องการอ่านงานวิจัยฉบับเต็มสามารถตามไปอ่านกันได้ที่ ลิ้งก์นี้ ได้เลยครับ