Site icon Thumbsup

‘โคคา-โคล่า’ จับมือ ‘เซ็นทรัล’ เปิดตัวแคมเปญ “โค้กขอคืน X Central Group Journey to Zero”

โคคา-โคล่า จับมือ กลุ่มเซ็นทรัลและพันธมิตร เปิดตัวโครงการ “โค้กขอคืน X Central Group Journey to Zero” ส่งเสริมการคัดแยกและจัดเก็บวัสดุรีไซเคิลเพื่อลดปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน พร้อมสร้างคุณค่าร่วมผ่านธุรกิจรีไซเคิลสมัยใหม่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล

กลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย จับมือ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และพันธมิตรลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ “โค้กขอคืน x Central Group Journey to Zero” ในการสนับสนุนและจัดทำระบบส่งเสริมการแยกขยะที่ต้นทางในบริเวณศูนย์การค้าของเซ็นทรัล และนำส่งบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม ตลอดจนวัสดุรีไซเคิลอื่นๆ ที่จัดเก็บได้ให้กับบริษัทพันธมิตรเพื่อนำวัสดุเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง โดยขณะนี้ ได้มีการทดลองระบบการจัดเก็บนำร่องในร้านอาหารและภัตตาคารในกลุ่มบริษัทเซ็นทรัล ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล อีสต์วิลล์ และเซ็นทรัลพลาซา บางนามาระยะหนึ่งแล้ว ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายมีแผนจะร่วมกันขยายระบบการจัดเก็บนี้ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล ตลอดจนหัวเมืองใหญ่ๆ ในอนาคต

โครงการ ‘โค้กขอคืน’ เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ World Without Waste ของโคคา-โคล่า ที่มุ่งใช้และจัดการบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มอย่างรับผิดชอบ เพื่อลดปัญหาขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายหลักคือ การจัดเก็บบรรจุภัณฑ์เพื่อนำกลับมารีไซเคิลในปริมาณเทียบเท่ากับปริมาณบรรจุภัณฑ์ที่จำหน่ายออกสู่ตลาดให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ก่อน พ.ศ.2573 โดยในประเทศไทย โคคา-โคล่า มีธุรกิจเครื่องดื่มที่ใช้ขวดแก้วชนิดคืนขวดขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ได้เกือบทั้งหมดอยู่แล้ว ฉะนั้น โครงการ ‘โค้กขอคืน’ จึงเป็นการทดลองสร้างระบบการจัดเก็บวัสดุบรรจุภัณฑ์ชนิดที่ไม่เก็บคืน อันได้แก่ ขวดพลาสติก PET กระป๋องอลูมิเนียม ขวดแก้วชนิดไม่คืนขวด และกล่องเครื่องดื่ม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการแยกขยะอย่างเป็นระบบ โดยโคคา-โคล่า ได้จับมือกับสตาร์ตอัพเจ้าของแพลตฟอร์มการจัดเก็บขยะสมัยใหม่อย่าง GEPP ให้เข้ามาช่วยวางระบบ และทำงานร่วมกับทางกลุ่มบริษัทเซ็นทรัล เพื่อส่งเสริมการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และจัดส่งบรรจุภัณฑ์ให้กับบริษัทผู้รับรีไซเคิลโดยตรง อันจะเป็นการส่งเสริมให้มีการนำวัสดุรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่และลดปริมาณขยะทั้งหมดในภาพรวมตามโครงการ Journey to Zero ของทางกลุ่มบริษัทเซ็นทรัลอีกด้วย

นายพรวุฒิ สารสิน ประธานกรรมการ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด กล่าวในฐานะผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ กลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทยว่า ได้ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญในการผลักดันและส่งเสริมให้มีการแยกขยะที่ต้นทาง และนำบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มและวัสดุรีไซเคิลอื่นๆ กลับเข้าสู่กระบวนการแปรรูปและนำกลับมาใช้ใหม่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเรามีเป้าหมายที่ท้าทายมากในพยายามจัดเก็บบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ในปริมาณที่เทียบเท่ากับที่เราขายออกไปก่อนปี 2573

เราจึงต้องพัฒนาและทดลองระบบการจัดเก็บขึ้นมาใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรมาช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลง การทำงานร่วมกับสตาร์ตอัพอย่าง GEPP ทำให้เราสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาวางระบบ และข้อมูลที่จัดเก็บได้ก็จะช่วยทำให้เราแก้ปัญหาและวางแผนพัฒนาระบบการจัดเก็บได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีพันธมิตรที่ยินยอมให้เราเข้ามาทำการศึกษา พัฒนา และลองผิด ลองถูก ไปด้วยกัน ซึ่งในส่วนนี้เราต้องขอขอบคุณทางกลุ่มเซ็นทรัล และบริษัทพันธมิตรผู้รับซื้อวัสดุรีไซเคิลทุกรายที่ตัดสินใจลงทุนลงแรงมาทำโครงการนี้ด้วยกัน ซึ่งทุกคนทราบดีว่าไม่ใช่งานที่ง่าย และจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบงานหลายอย่าง แต่ก็ยินดีที่จะมาช่วยกันทำเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขยะ”

ทางด้านนายพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า “ตลอดเวลา 72 ปีของการดำเนินธุรกิจ กลุ่มเซ็นทรัลมีนโยบายในการให้ความสำคัญกับการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมและขับเคลื่อนการสร้างโลกสีเขียวภายใต้โครงการ “เซ็นทรัล กรุ๊ป เลิฟ ดิ เอิร์ธ” (CENTRAL Group Love the Earth) เพื่อสร้างประโยชน์ทั้งในระดับองค์กร ชุมชน และมหภาค โดยมีแนวทางในการขับเคลื่อนผ่าน 3 โครงการหลัก ได้แก่ การลดปริมาณขยะและการลดการสร้างคาร์บอน (Journey to Zero) การเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยรอบศูนย์การค้า (Central Green) และฟื้นฟูผืนป่า (Forest Restoration)”

“การจับมือของ โครงการโค้กขอคืน x Central Group Journey to Zero จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะ และนำวัสดุที่สามารถรีไซเคิลไปพัฒนาต่อให้เกิดประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะดำเนินการผ่านผ่านศูนย์การค้าของกลุ่มบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (ซีพีเอ็น) นำร่อง 2 แห่ง ได้แก่ เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ และเซ็นทรัลพลาซา บางนา ด้วยการนำขยะที่เกิดจากร้านอาหารในเครือบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (ซีอาร์จี) เช่น ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว กลับมารีไซเคิล โดยเราจะปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติและพัฒนาระบบการจัดเก็บให้เหมาะสม เช่น การบริหารจัดเก็บและจัดการพื้นที่ในการแยกขยะ ในด้านรายได้จากการจำหน่ายวัสดุรีไซเคิล เราก็มีแผนในการวางแนวทางที่จะมอบกลับคืนให้กับทุกภาคส่วนที่มีส่วนช่วยในการจัดเก็บและคัดแยกขยะด้วย ทั้งนี้ หากโครงการนำร่องดำเนินไปได้ด้วยดี เราก็มีเป้าหมายที่จะร่วมกับโคคา-โคล่าที่ในการขยายการดำเนินการให้ครอบคลุมทั้งกรุงเทพและปริมณฑล ตลอดจนหัวเมืองใหญ่ๆ ที่เรามีศูนย์การค้าตั้งอยู่ทั้งหมด กลุ่มเซ็นทรัล รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมมือกับพันธมิตรรายต่างๆ ที่ล้วนมีเจตจำนงค์เดียวกันในการมุ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการจัดการขยะและวัสดุรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อโลกของเราต่อไป” นายพิชัยกล่าวเสริม

การทำงานในโครงการโค้กขอคืน x Central Group Journey to Zero จะสำเร็จไม่ได้หากขาดความร่วมมือจาก GEPP ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างร้านค้าที่มีวัสดุรีไซเคิลจากการแยกขยะ ผู้รับซื้อวัสดุรีไซเคิล และบริษัทผู้รีไซเคิลวัสดุเหล่านี้ โดย GEPP จะประสานงานให้ผู้รับซื้อเข้าไปซื้อวัสดุรีไซเคิลจากร้านอาหารและภัตตาคารของกลุ่มเซ็นทรัล หลังจากนั้น วัสดุเหล่านี้จะถูกนำส่งและจำหน่ายแยกประเภทให้กับพันธมิตรผู้รับซื้อ อันได้แก่ บริษัทบีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) ผู้รับซื้อวัสดุประเภทแก้ว, บริษัทไทยเบเวอร์เรจ แคน จำกัด ผู้รับซื้อกระป๋องอลูมิเนียม, บริษัทเวสท์ทีเรียล จำกัด ผู้รับซื้อกระดาษและกล่องเครื่องดื่ม, บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ผู้รับซื้อพลาสติกชนิด HDPE-LLDPE-LDPE-PP และบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ผู้รับซื้อพลาสติกชนิด PET

เนื่องจากโครงการนี้เป็นการขายวัสดุรีไซเคิลให้กับผู้รับรีไซเคิลโดยตรงโดยไม่ผ่านคนกลาง GEPP จึงคาดหมายว่าผู้รับซื้อจะมีกำไรจากการซื้อขายวัสดุรีไซเคิลในโครงการนี้สูงกว่าการซื้อขายทั่วไป ซึ่งทาง โคคา-โคล่า มีนโยบายให้ผู้ดำเนินการจัดเก็บต้องปันกำไรส่วนหนึ่งมาใช้สมทบในการขยายโครงการนี้ต่อไปในอนาคต และเมื่อทางเซ็นทรัลเองก็มีนโยบายที่จะมอบรายได้ส่วนหนึ่งที่เกิดจากการดำเนินงานโครงการนี้ เพื่อตอบแทนกลับคืนให้กับทุกภาคส่วนที่ช่วยจัดการและแยกขยะเช่นกัน ระบบการจัดเก็บนี้จึงมิเพียงตั้งอยู่บนหลักการของคุณค่าร่วม (Shared Value) เท่านั้น แต่จะทำให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมจะได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมอันเป็นหัวใจของระบบที่ยั่งยืน

นางสาวมยุรี อรุณวรานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด หรือ GEPP กล่าวว่า “คนจำนวนมากต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะ แต่โครงสร้างและระบบของไทยในปัจจุบันยังไม่เอื้ออำนวย ซึ่ง GEPP จะเข้ามาเติมเต็มในส่วนนี้ โดยได้เริ่มจัดการฝึกอบรมให้พนักงานของเซ็นทรัล พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกโดยการช่วยออกแบบพื้นที่ในการแยกขยะในร้านอาหาร การจัดตารางเวลาเพื่อเข้าไปทำการรับซื้อวัสดุรีไซเคิลถึงที่ นอกจากนี้ เรายังรวบรวมข้อมูลการจัดเก็บและซื้อขายทั้งหมดภายใต้โครงการ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ ประเมินผล ตลอดจนวางแผนในการพัฒนาและขยายโครงการอย่างเป็นระบบร่วมกับโคคา-โคล่าและเซ็นทรัลอย่างต่อเนื่อง”

“ในปัจจุบันนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าปัญหาขยะได้กลายมาเป็นปัญหาระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง อย่างไรก็ดี บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ก็ยังมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้ผู้ผลิตสินค้าสามารถส่งสินค้าได้ถึงมือผู้บริโภคได้อย่างสะอาด ปลอดภัย ในราคาที่ผู้บริโภคสามารถจ่ายซื้อได้ ฉะนั้น การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ในภาพใหญ่ คงไม่สามารถกำจัดบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดออกไปได้ แต่ผู้ประกอบการจะต้องร่วมกันใช้บรรจุภัณฑ์อย่างรับผิดชอบ ลดในส่วนที่ควรลดได้ อะไรที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ก็ควรนำมาใช้ เราจะรอภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ ทุกคน ทุกราย ต้องร่วมกันรับผิดชอบ ซึ่งโครงการ ‘โค้กขอคืน’ ก็เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามนี้ของเรา และนอกจากการทำงานร่วมกับพันธมิตรต่างๆ ในวันนี้แล้ว เราก็มุ่งที่จะขยายเครือข่ายพันธมิตต่อไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างผลการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในวงกว้าง เพราะไม่มีองค์กรใดองค์กรหนึ่งสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยตัวคนเดียวอย่างแน่นอน” นายพรวุฒิกล่าวปิดท้าย