ในยุคที่ SME กำลังประสบปัญหาปรับตัวไม่ทัน จนไม่สามารถก่อให้เกิดรายได้ใหม่ เพื่อพยุงธุรกิจให้ไปรอดได้นั้น ปัญหาสำคัญของร้านโชห่วยหรือ SME ที่นอกจากเทคโนโลยีแล้ว ก็คือเรื่อง “การทำบัญชี” ที่ธุรกิจยุคดั้งเดิมสมัยปู่ย่าตายาย ไม่เคยทำอย่างชัดเจน รวมทั้งเรื่องการทำสต็อกสินค้า จนเกิดปัญหาใช้เงินอนาคตมากขึ้น และส่งผลให้รักษารายได้คงที่เป็นเรื่องยาก ยิ่งการขายสินค้าในอีคอมเมิร์ซเติบโต ลูกค้ายุคใหม่ไม่เดินเข้าร้านโชห่วยหรือหน้าร้านยิ่งเป็นปัญหาไม่สามารถหารายได้ใหม่ๆ ได้ ถ้าไม่ปรับตัว
ภาพรวมตลาดค้าปลีกไทย
ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกทั่วโลกที่มีการเพิ่มขึ้นถึง 22.8 ล้านล้านเหรียญนั้น มีการเติบโตเฉลี่ย 3.8% ซึ่งมูลค่าธุรกิจค้าปลีกในเอเชีย อันดับ 1 คือ จีน ที่มีตัวเลขยอดขายปี 2018 ถึง 4,660,053 ล้านเหรียญสหรัฐ รองมาคือ อินเดีย อยู่ที่ 1,764,468 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนไทยอยู่ที่อันดับ 10 มูลค่า 154,576 ล้านเหรียญสหรัฐ
ด้านยอดขายธุรกิจค้าปลีกของไทยมีมูลค่าเป็นอันดับที่ 3 ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งอินโดนีเซีย มียอดขายอยู่ที่ 639,172 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเฉลี่ย 9.4% ฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 180,847 ล้านเหรียญสหรัฐ โตเฉลี่ย 8.2% และไทย 154,576 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ เวียดนาม แม้จะมีเม็ดเงินโตเพียง 122,414 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่อัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 12.7% ถือว่ามีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้น โดยในรอบ 8 ปีที่ผ่านมาไทยมีอัตราการโตเฉลี่ยเพียง 3.9% เท่านั้น ถือว่าเป็นตัวแรกที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
SME ไม่โตเพราะอะไร
ด้วยตัวเลขด้านบน ทำให้ต้องมาวิเคราะห์ว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ต้องแก้ให้ธุรกิจ SME เติบโต ซึ่งมี 2 เหตุผลหลักคือ ทำอย่างไรถึงจะดึงเงินนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทยให้ได้เยอะๆ ซึ่งเหตุผลที่นักท่องเที่ยวที่มาไม่ชอบซื้อสินค้าราคาแพงในไทยเป็นเพราะระบบ VAT ที่ค่อนข้างแพงและการ Refund ก็ทำได้ยาก ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งคือ Duty Free ของไทยเป็นระบบผูกขาด เพียงรายเดียว ทำให้ไม่มีการแข่งขัน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เปิดกว้างและมีตัวเลือกมากกว่า
ทางด้านสัดส่วนผู้ประกอบการค้าปลีกในไทย แบ่งเป็น
- กลุ่มภูธร สัดส่วน 13% ประมาณ 500-700 ราย
- กลุ่มโมเดิร์นเทรด สัดส่วนอยู่ที่ 32% แม้จำนวนผู้เล่นไม่เยอะ แต่มูลค่าที่ซื้อขายเม็ดเงินสูง
- กลุ่มเอสเอ็มอี มีสัดส่วน 55% ผู้เล่นจำนวนหลายแสนราย
ด้วยจำนวนผู้เล่นกลุ่ม SME ที่มีเยอะมาก หากไม่รู้จักการปรับตัว ก็มีโอกาสเสี่ยงในการปิดกิจการสูง เพราะเจอผลกระทบหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ใช้งานออนไลน์เป็นปัจจัยสำคัญ ยิ่งมีตัวอย่างในหลายประเทศ ที่เจอผลกระทบด้านอีคอมเมิร์ซเข้ามา Disrupt
สาเหตุที่ในต่างประเทศ E-commerce มีการเติบโต เช่น สภาพภูมิอากาศ ยิ่งประเทศที่มีอากาศหนาวมากๆ คนจะไม่อยากออกจากบ้าน ทำให้ออนไลน์โตมาก และอีกสาเหตุคือ มี Activity เยอะ เช่น ไปเดินเล่นที่สวน ไปออกกำลังกาย ไปดูการแข่งขันกีฬา ยิ่งมีกิจกรรมทางเลือกเยอะ คนจะยิ่งไม่ค่อยชอบเข้าห้างเพื่อช้อปปิ้ง
ลักษณะของค้าปลีกขนาดเล็กที่มีปัญหา
- การปรับเปลี่ยนคุณภาพของหน้าร้านน้อยมาก ไม่รู้จะเริ่มต้นปรับอย่างไร
- ขยายธุรกิจลำบาก และมีการเปลี่ยนแปลงต่ำ ทำให้รายได้โตยาก ไม่มีทางเติบโตได้ 15% ใน 5 ปี เมื่อการเปลี่ยนแปลงน้อย การขยับขยายก็ยาก
- บริหารการเงินในระบบกงสี ไม่แยกรายได้ธุรกิจออกจากรายได้ส่วนตัว ทำให้เม็ดเงินไม่สามารถบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่รู้ว่าเป็นเงินจากอนาคตหรือไม่ เช่น ซื้อเงินเชื่อแต่ขายเงินสด ดีงเงินอนาคตมาใช้ก่อน เกิดปัญหาเรื่อง cash flow ที่มากกว่า cash out flow
- มีปัญหาเรื่องระบบบัญชีที่ไม่แข็งแรง ไม่รู้เลยว่าตนเองกำลังเจอปัญหาด้านเงินทุนหรือไม่
- ระบบบัญชีสต็อกไม่ดีพอ หรือไม่ทำบัญชีสต็อก เจอปัญหาใหญ่คือ ไม่สามารถรู้ยอดสินค้าสูญหายหรือเสื่อมสภาพ ดูจากสภาพภายนอก หมุนเวียน 20% เดทสต็อก 80% ยิ่งเป็นโอกาสยากในการขาย
แนวทางพัฒนาและปรับปรุงค้าปลีกขนาดเล็ก
- เปลี่ยน Mindset ของผู้ประกอบการ ข้อนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถึงจะมีเงินทุนเยอะแค่ไหน แต่ถ้าไม่สามารถคิดและบริหารได้ดี ก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้น การศึกษาและหนังสือดีๆ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะการสร้างกรอบความคิดเป็นเรื่องที่จำเป็น หากเจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่ ไม่ได้มีแนวคิดที่จะลุกขึ้นมาพัฒนาหรือปรับปรุงธุรกิจเดิมของครอบครัวที่มีอยู่ ก็ยากที่จะวางแผนกลยุทธ์ด้านธุรกิจให้ดีได้
วรวุฒิ แนะนำว่า “เทคนิคการดีลกับคนรุ่นพ่อ ที่เริ่มต้นปูทางธุรกิจครอบครัวนั้น ต้องเริ่มจากการทำงานชิ้นเล็กๆ ก่อน อย่าเพิ่งคิดการณ์ใหญ่ เพราะคนรุ่นพ่อแม่ เค้าไม่มองว่าเราเป็นพนักงาน ยิ่งเป็นครอบครัวที่มีความใกล้ชิดกันมาก จะยิ่งทำให้เกิดการดูถูก เพราะเค้าเลี้ยงดูเรามา เค้าไม่สนใจและไม่รับรู้หรอกว่าเราเก่งหรือไม่ ดังนั้น การพัฒนาธุรกิจคืออย่าเปลี่ยนเยอะ เพราะถ้าล้มเหลวจะยิ่งโดนดูถูกและบั่นทอนใจ ดังนั้น ต้องค่อยๆ เปลี่ยนจากสิ่งเล็กๆ และทำให้สำเร็จ เพื่อให้เขาไว้วางใจ”
- เงินทุนไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดเท่าทุนความคิด เมื่อมีความคิดที่ดี น่าสนใจ เงินจะวิ่งมาเอง แต่ถ้ามีเงินแต่ไม่มีความคิด ไม่มีหลักการและกลยุทธ์ที่ดีในการบริหาร เงินก็จะหายไปได้ง่ายมาก ดังนั้น อยากปรับปรุงธุรกิจ อย่าไปกังวลแต่เรื่องเงิน
“ผมเข้าไปช่วยที่บ้าน เพื่อหนีปัญหาล้มละลาย พอเข้าไปจัดการเรื่องบัญชี สต็อก ต้นทุน ถึงรู้ว่าเรากำลังเจอปัญหาหนักมาก ต้องรีบแก้ไข ซึ่งเริ่มแรกคือ เราต้องมีใจอยากคิดเปลี่ยนแปลงก่อน”
- มองโลกแบบเปิดกว้าง มีความคิดริเริ่มหรือทดลองขายสินค้าใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยต้องเริ่มจากแนวคิดว่า “สิ่งที่ลูกค้าต้องการ เราจะขาย” จึงเป็นร้านค้าในดวงใจที่คนนึกถึงได้
“มองหาเทรนด์สินค้าใหม่ๆ แม้ธุรกิจที่บ้านจะเป็นร้านโชห่วย แต่ผมก็มองหาสินค้าใหม่ๆ ที่น่าจะเป็นกระแส ก็เลยเริ่มนำแผ่นดิสก์ แผ่นซีดี เข้ามาขาย จากนั้นก็ขายเทปพิมพ์ปริ้นเตอร์ กระดาษพิมพ์ จนตอนนี้ Officemate ขายกาแฟ และมียอดสั่งซื้อไม่แพ้ซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว ซึ่งเราต้องมองเรื่องความต้องการของลูกค้าให้ออก จะได้รู้ว่าควรนำสินค้าประเภทไหนมานำเสนอ หากคุณทำธุรกิจแบบเดิม ขายสินค้าแบบเดิมนาน 5-10 ปี เริ่มอันตรายแล้ว เพราะลูกค้าไม่รู้สึกแปลกใหม่ เค้าก็จะไม่เดินเข้าร้านคุณ เพราะมันไม่มี Magnet ดึงดูดเลยให้เกิดการจดจำเลย”
- เร่งทำระบบบัญชี โดยเฉพาะบัญชีสต็อก
“หากคุณเป็นร้านค้ารายย่อย หรือธุรกิจใดก็ตามที่ต้องมีสินค้าคงคลัง ให้เริ่มทำบัญชีสต็อกสินค้าเข้าออกทันที เริ่มจากการทำทีละตู้ ทีละเชลฟ์ จะต้องมีการเช็คแบบสต็อกการ์ดคุมทุกร้าน คุณเป็นเจ้าของร้าน ขายอะไรออกไปต้องรู้ สินค้าหายต้องทราบ อาจต้องใช้เวลาทำนานหน่อยในช่วงแรก แต่ถ้ามีความพยายามจะสำเร็จได้ไม่ยาก หากยังไม่อยากลงทุนอะไรใหม่ๆ ก็เร่ิมจาก Manual ก่อน นับสต็อกด้วยมือซะ หรือหาเครื่องมือมาช่วย ถ้าไม่ทำ สินค้าคงคลัง (inventory)ในร้านตอนนี้ เหนื่อยแน่”
- หมั่นศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ ด้านบริหารจัดการอยู่ตลอดเวลา (นอกเวลาทำงาน) อ่านหนังสือค้นในกูเกิลและเข้าอบรมจะช่วยให้คุณเปิดแนวความคิดใหม่ๆต้องมีเวลาหาความรู้ใส่ตัว
“ไม่มีใครแก่เกินเรียน ต้องเลิกปิดกั้นความคิดที่ว่า “ไม่มีเวลา” เพราะการที่คุณบอกไม่มีเวลา แต่ไปเที่ยวทะเล เดินห้าง ขับรถเที่ยวได้ แล้วทำไมถึงหาความรู้ไม่ได้ ค้นหาข้อมูลใหม่ๆ บน Google ฟังกลยุทธ์คนเก่งๆ จาก Youtube เข้าร่วมสัมมนาอัพเดทเทรนด์บ้าง คนเรามีช่องทางหาความรู้เยอะ อยู่ที่ว่า “ขยัน” หาความรู้ใส่ตัวหรือไม่”
สรุป ทางรอดของธุรกิจค้าปลีก คือ การหาพาร์ทเนอร์หรือที่ปรึกษามาช่วย คนในธุรกิจเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ต้องรวมตัวกันสู้ อย่าอยู่คนเดียว เมื่อมีการรวมกันจะอยู่รอด และต้องขยันหาความรู้ใหม่ๆ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก