ทันทีที่แบไต๋ดอทคอมโพสต์ข่าวว่า “ขายสินค้าออนไลน์ไม่ระบุราคาสินค้า มีโทษปรับสูงสุด 10,000 บาท” หลังจากที่เว็บเพจ Drama Lawyer ตั้งข้อสังเกตเรื่องโทษปรับสูงสุด 10,000 บาท ชาวออนไลน์หลายคนโดยเฉพาะพ่อค้าแม่ขายพากันเซ็งพร้อมกับจุดประเด็นว่าประกาศนี้อาจทำให้ธุรกิจการค้าออนไลน์ของตัวเองเสียหายหลายแสน เพียงเพราะการ “บังคับให้ระบุราคา”
ฟังแบบนี้แล้วอาจมีบางคนไม่เห็นด้วย เพราะราคาที่ชัดเจนนั้นเป็นข้อมูลสุดพื้นฐานที่เปิดเผยได้ เรียกว่าเป็นข้อมูลอันดับต้นที่ลูกค้าต้องรู้ก่อนจะคลิกซื้อ
แต่การเปิดราคานำไปสู่การตัดราคา เรื่องนี้เป็นเรื่องเด่นในหลายความเห็นที่ระบุว่าสินค้าที่วางขายออนไลน์นั้นมีการแข่งขันสูง การแจ้งราคาทำให้คู่แข่งตัดราคาง่ายมาก เมื่อตัดกันไปมา สุดท้ายก็ “เจ๊งกันหมด” (แม้ว่าการไม่ลงราคา คู่แข่งก็สามารถปลอมเป็นลูกค้า สืบราคาได้ไม่ต่างกัน)
ประเด็นนี้ถูกถกเถียงว่านี่คือข้อดีหรือข้อเสีย ในมุมผู้ซื้อ ลูกค้าย่อมได้ประโยชน์เพราะได้รับสินค้าในราคาประหยัด เนื่องจากการเลือกซื้อสินค้าบนเว็บไซต์นั้นทำได้อิสระ ไม่ต้องคำนึงถึงการเดินทาง ส่วนในมุมผู้ค้า บางทีผู้ค้าขายสินค้าราคาต่ำแล้ว แต่พอรายอื่นมาเห็นราคา ก็ตัดให้ราคาต่ำกว่า ทำให้ธุรกิจไปได้ไม่ดีเท่าที่ควร
ผู้ค้าบางรายมองว่า การไม่บอกราคาแล้วรอให้ลูกค้าที่สนใจในสินค้านั้น ส่งข้อความส่วนตัวหรือ inbox ไปสอบถามราคาสองต่อสอง ถือเป็นเทคนิคการขายที่ให้ลูกค้ามีปฏิสัมพันธ์กับผู้ขายก่อน วิธีนี้ผู้ขายบางรายบอกว่าได้ผลดี เพราะการแซตส่วนตัวสามารถโน้มน้าวใจได้
อย่างไรก็ตาม “ประกาศล่าสุดจากคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ” แสดงว่าผู้ค้าออนไลน์ต้องปรับตัว เนื่องจากประกาศข้อ 3 เขียนชัดเจนว่าต่อจากนี้ผู้ขายสินค้าออนไลน์ต้องแสดงราคาสินค้าเป็นตัวเลขอารบิค และรายละเอียดสินค้า เช่น ขนาด น้ำหนักให้ชัดเจน โดยหากมีค่าใช้จ่ายอื่นนอกจากราคาสินค้า (เช่นค่าส่ง) ก็ต้องแสดงให้ชัดเจนด้วย จุดนี้หากไม่ทำตาม ผู้พบเห็นสามารถแจ้งข้อหาทำความผิดตาม “พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542” ผู้ค้าจะมีโทษปรับสูงสุด 10,000 บาท
อีกจุดน่าสนใจที่ต้องรอดูจากประกาศนี้ คือสินค้ากลุ่มอสังหาฯเช่นโครงการบ้าน คอนโด จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมา หลายโครงการแสดงเฉพาะรูป ไม่แสดงราคาเนื่องจากราคาจำหน่ายไม่คงที่ในระยะยาว รวมถึงอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ราคาเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน
เหนืออื่นใด ประกาศล่าสุดยังเป็นสัญญาณบอกว่ารัฐฯกำลังเข้ามาจัดระเบียบโลกการค้าออนไลน์ของไทยอย่างจริงจังมากขึ้นอีกขั้น และเป็นการจัดระเบียบที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายรู้สึกได้ทั้ง 2 ฝ่าย