Site icon Thumbsup

ผลสำรวจชี้ นักศึกษาไทยให้ความสำคัญเรื่อง “ฐานเงินเดือน” และ “ประโยชน์จากการทำงาน” มากที่สุด

ด้วยบริษัทยุคใหม่มีความใส่ใจกับชีวิตการทำงานของพนักงานมากขึ้น ทั้งเรื่องของความใส่ใจเกี่ยวกับความต้องการของพนักงาน ใส่ใจสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิต เพื่อให้การทำงานออกมาดีและดึงดูดใจให้อยากทำงานกับองค์กรไปนานๆ โดยบริษัทด้านเทคโนโลยียังคงเป็นบริษัทที่นักศึกษาและคนรุ่นใหม่รู้สึกว่าองค์กรที่น่าทำงานด้วยมากที่สุด ซึ่งแรงจูงใจส่วนใหญ่มาจาก รูปแบบการทำงาน สวัสดิการที่ได้รับและเงินเดือน เป็นต้น

ยูนิเวอร์ซัม (Universum) ผู้นำด้านการสร้างแบรนด์ประเภทองค์กรในระดับสากล เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกผลการสำรวจบุคคลผู้มีทักษะสูงทั่วโลกฉบับประเทศไทย เพื่อวัดระดับความน่าสนใจขององค์กรในตลาดแรงไทย และตรวจสอบความต้องการด้านการทำงานของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่จะเป็นแรงงานในอนาคต

ทั้งนี้ กูเกิล ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยีครองตำแหน่งนายจ้างยอดนิยมอันดับหนึ่ง ในกลุ่มนักศึกษาธุรกิจ/พาณิชย์ แต่ ปตท. สามารถแซงหน้ากูเกิลและกลายเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งสำหรับนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม บริษัทในอุตสาหกรรมโรมแรมและค้าปลีกยังเป็นที่นิยมแม้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ องค์กรนายจ้างที่น่าสนใจที่สุดสำหรับนักศึกษาธุรกิจ/พาณิชย์ คือ กูเกิล ตามมาด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ยักษ์ใหญ่แห่งวงการบันเทิงเมืองไทยซึ่งครองอันดับ 3

ในขณะที่ คิง เพาเวอร์ ศูนย์จำหน่ายสินค้าปลีกสำหรับนักเดินทางอยู่อันดับ 4 โดยอุตสาหกรรมที่นักศึกษาชื่นชอบนั้นมีความหลากหลาย โดยธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมยังคงเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมสูงสุด (39% )

ปตท. กฟผ. และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังรั้งอันดับต้น ๆ ของบริษัทนายจ้างในอุดมคติ แม้นักศึกษาสนใจทำงานในภาคเอกชนอย่างมาก
ในขณะที่นักศึกษาไทยส่วนใหญ่ต้องการทำงานในภาคเอกชน (88% ของนักศึกษาธุรกิจ/พาณิชย์ และ 84% ของนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์) หากยังมีนักศึกษาธุรกิจ/พาณิชย์กว่า 73% และนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ราว 74% คาดหวังจะได้ทำงานในองค์กรที่มีการดำเนินงานระดับโลก

โดยบริษัทมหาชนยังคงเป็นตัวเลือกที่นักศึกษาส่วนมากต้องการเข้าไปทำงาน บริษัทมหาชนอย่าง ปตท. และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ติด 3 อันดับแรกนายจ้างในอุดมคติ โดย ปตท. ครองอันดับ 1 และ กฟผ. ครองอันดับ 3 นายจ้างที่น่าสนใจที่สุดสำหรับนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยครองอันดับ 2 ในหมู่นักศึกษาธุรกิจ/พาณิชย์

กูเกิล ปตท. ปูนซีเมนต์ไทย ติดอันดับนายจ้างที่ใช้โซเชียลมีเดียสร้างการมีส่วนร่วมมากที่สุด

สำหรับการใช้ช่องทางการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ เว็บไซต์ขององค์กรนายจ้างยังคงเป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกใช้งานมากที่สุด โดยคิดเป็น 52% ของผู้ตอบแบบสอบถาม นักศึกษา 47% ยังระบุว่าเริ่มหันมาใช้เฟซบุ๊กและกูเกิลพลัส (41%) ในการค้นหาข้อมูลของนายจ้างในอนาคต โดยในหมู่นักศึกษาที่ทำแบบสำรวจ กูเกิล ปตท. และ ปูนซีเมนต์ไทย ติด 3 อันดับแรกของนายจ้างที่ใช้โซเชียลมีเดียสร้างการมีส่วนร่วมมากที่สุด

เนื่องจากเฟซบุ๊กได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนไทยมากกว่าโซเชียลมีเดียช่องทางอื่นๆ อย่างอินสตาแกรมหรือลิงก์อิน ดังนั้น บุคคลผู้มีทักษะสูงจึงใช้เว็บไซต์ทางการของบริษัทในการศึกษาเกี่ยวกับนายจ้าง และใช้เฟซบุ๊กเพื่อพิจารณาว่าผู้คนมีส่วนร่วมกับบริษัทนั้นอย่างไร และในฐานะนายจ้าง บริษัทมักจะนั้นแบ่งปันคอนเทนต์เกี่ยวกับองค์กรของตนเองในรูปแบบใด

“นายจ้างควรออกแบบการสร้างแบรนด์ของตนเอง ผ่านการระบุลักษณะความแตกต่างที่สำคัญและแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้องเมื่อมีเป้าหมายในการค้นหาผู้สมัครงานที่มีความแตกต่าง เนื่องจากบรรดานายจ้างในประเทศไทยล้วนตื่นตัวอย่างมากบนเฟซบุ๊ก ทำให้ผู้มีทักษะสูงมักใช้เฟซบุ๊กเพื่อสร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงประสบการณ์ของลูกจ้างในบริษัท เป็นการใช้งานแพลตฟอร์มยอดนิยมให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะช่วยให้ผู้มีทักษะสูงรู้ว่าจะสามารถคาดหวังสิ่งใดจากการทำงานในองค์กรของคุณ” นายพราทิก ซาเบอวัล กล่าวเสริม

ไฮไลต์อื่น ๆ จากการสำรวจครั้งนี้คือ นักศึกษาคิดว่าการบริหารที่ส่งเสริมความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล (77%) ถือเป็นประเด็นที่มีความสำคัญที่สุด ที่นายจ้างต้องให้ความสำคัญบนโซเชียลมีเดีย ตามมาด้วยโอกาสการก้าวหน้าในสายงาน (75%) และแนวคิดของผู้บริหารบริษัท (73%)

ความไม่เสมอภาคของค่าตอบแทนระหว่างเพศยังปรากฏในสาขาธุรกิจ/พาณิชย์ และวิศวกรรมศาสตร์

เงินเดือนรายปีที่นักศึกษาในประเทศไทยคาดหวังคือ 431,689 บาท โดยนักศึกษาธุรกิจ/พาณิชย์มีความคาดหวังเรื่องเงินเดือนสูงกว่าโดยเฉลี่ยคาดหวังค่าตอบแทนต่อปีที่ 452,869 บาท ในขณะที่นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ คาดหวังที่ 434,663 บาท สาขาธุรกิจ/พาณิชย์มีช่องว่างของค่าตอบแทนระหว่างเพศที่ 14% โดยนักศึกษาหญิงคาดหวังเงินเดือนต่ำกว่านักศึกษาชาย ส่วนนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ มีช่องว่างของค่าตอบแทนระหว่างเพศน้อยกว่าอย่างชัดเจน โดยนักศึกษาหญิงคาดหวังต่ำกว่านักศึกษาชายที่ 8%