เข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลังของปีกุน ที่ภาคธุรกิจไม่ค่อยมีความคึกคักมากนักเหมือนปีที่ผ่านมา โดยช่วงปลายปี 2561 ก่อนเข้าสู่ 2562 ทุกคนค่อนข้างมีความกังวลในเรื่องของ Brexit แต่มาถึงวันนี้ก็ทำให้เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจในเอเชีย เท่ากับเหตุการณ์ความขัดแย้งของสหรัฐฯและจีน ซึ่งแม้จะจบลงด้วยดีเช่นกัน แต่ก็สร้างความสั่นสะเทือนได้ไม่น้อย
นอกจากนี้ การที่ EIC ปรับลดประมาณการเศรฐกิจไทยปี 2562 เหลือ 3.1% จากเดิม 3.3% โดยมีสาเหตุหลักจากภาคการส่
ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ก็ยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าโลก และการที่สหรัฐอเมริกาปรับเพิ่มอัตราภาษีจาก 10% เป็น 25% ทำให้กระทบกับจีนและเกิดการตอบโต้กลับด้วยอัตราภาษีเช่นกัน จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้อัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกหดตัวลงที่ -1.6% มาดูกันสิว่าในครึ่งปีแรกเป็นอย่างไรกันบ้าง
ทุกค่าย Go to Digital
ปีนี้คงเรียกได้เต็มปากแล้วว่าทุกธนาคารอัพเดทระบบออนไลน์กันทุกค่าย เพราะไม่มีใครยอมตกขบวนเรื่องการทำดิจิทัล จะมากจะน้อยก็ต้องแล้วแต่วิสัยทัศน์ของนายใหญ่ที่จะมอง ซึ่งแต่ละรายต่างก็มีการพัฒนาในเรื่องของแอพพลิเคชั่น ระบบออนไลน์ บิ๊กดาต้าหลังบ้าน เพื่อนำข้อมูลลูกค้ามาใช้ในการพัฒนาสินค้าและบริการให้โดนใจทุกคนมากขึ้น
โดย Kbank ถือว่าเป็นบริษัทที่จริงจังเรื่องการเดินหน้าเทคโนโลยีมากที่สุด ทั้งการฟอร์มบริษัทใหม่อย่าง KBTG เพื่อจริงจังในการสร้างเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ หรือผลักดันสตาร์ทอัพด้วยทีมที่ปรึกษาอย่าง Katalyst แต่ปีนี้ก็ไม่ได้มีดีลใหญ่ที่สร้างความคึกโครมให้ตลาดจับตามองมากนัก อาจเพราะช่วงปลายปี 2561 ถึงต้นปี 2562 มีการจับมือร่วมกับพาร์ทเนอร์ไปมากมาย ตอนนี้คือการอยู่ในช่วงรอรายได้กลับคืนมา
ส่วน SCB และ KMA เอง ก็ไม่น้อยหน้า เร่งพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าและโปรโมทฟีเจอร์ใหม่มากมาย อย่างเช่น KMA หรือธนาคารกรุงศรีอยุธยาในช่องทางออนไลน์เราจะเห็นโฆษณาของ 3 พรีเซนเตอร์วัยใกล้กัน ที่ใช้การเล่าเรื่องว่าผู้ชายสองคนที่เปรียบเสมือนเป็นธนาคารนั้น ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้หญิงอย่างไรบ้าง โดยเล่าเป็นเรื่องสั้นหลายตอนซึ่งทำให้คนดูรู้สึกว่าการใช้งานแอพไม่ใช่เรื่องยาก
ทางด้านของ SCB ก็ใช่เล่น นอกจากจะมีการโปรโมทแม่มณีสำหรับร้านค้าแล้ว ยังตามมาด้วย SCB EASY ที่ทำให้ทุกการใช้จ่ายเป็นเรื่องง่าย นอกจากนี้ยังตามมาด้วยการทำโฆษณาสั้นบน Youtube จำนวน 22 ชิ้น ที่โฆษณาจะตรวจจับด้วยระบบ AI ของทาง Youtube ระบบจะจับข้อมูลและส่งโฆษณาแต่ละชิ้นให้ตรงกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เรียกว่าแต่ละคนจะเห็นโฆษณาที่แตกต่างกันออกไป
ตลาดประกันคึกคัก
สำหรับกลุ่มประกันถือว่ามีความคึกคักมากกว่า อาจเพราะเป็นช่วงกำลังปรับตัวรับยุคดิจิทัล โดยในสายงานนี้มีการเปิดแผนประกันในรูปแบบใหม่ๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้ลูกค้าที่สนใจซื้อผ่านออนไลน์มากกว่าการซื้อผ่านตัวแทน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจำนวนตัวแทนจะลดลง แค่เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารที่สะดวกขึ้น
เพราะถึงอย่างไรการเคลมหรือการติดต่อซื้อขาย ก็ยังต้องใช้ตัวแทนหรือเอเย่นต์ในการพูดคุยเรื่องรายละเอียด ส่วนบริการดิจิทัลจะเข้ามาช่วยเรื่องการยื่นเอกสารหรือให้รายละเอียดที่ดีขึ้น เคลมประกันโดยการกรอกเอกสารออนไลน์และยื่นเรื่องไม่ต้องรอกระบวนการกระดาษเท่านั้น รวมทั้งมีข้อเสนอที่ดีกว่าสำหรับลูกค้าที่สมัครผ่านช่องทางออนไลน์ ถือว่าเป็นการปรับตัวของกลุ่มธุรกิจประกันที่น่าสนใจ
ซึ่งตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงกลางปีนี้ เรียกได้ว่า กลุ่มธุรกิจประกันพยายามชูความทันสมัย เพื่อแข่งขันกับกลุ่มสตาร์ทอัพที่เข้ามาเป็นผู้เล่นในกลุ่มประกันมากมายขึ้น
นอกจากนี้ยังมีดีลใหญ่ท่ีน่าสนใจของ FWD ที่ให้ความสนใจในการที่จะเป็นผู้ถือส่วนแบ่งตลาดหลักในกลุ่มธุรกิจประกันชีวิต โดยมีการเข้าไปถือหุ้นในหลายบริษัทชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะมองว่าภูมิภาคนี้มีโอกาสที่ดีมาก และต้องการเป็นเจ้าตลาดในภูมิภาคนี้
จับมือสตาร์ทอัพกันคึกคัก
แม้กลุ่มธุรกิจธนาคารจะเรียกได้ว่าเจอปัญหา Disrupt โดดเด่นที่สุด ทั้งจากสตาร์ทอัพ Fintech หรือกลุ่มสตาร์ทอัพด้านขนส่งที่พยายามผลักดันให้มี Wallet เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าจ่ายเงินผ่านช่องทางของตนเอง แต่ธนาคารในไทยก็เรียกว่าปรับตัวและยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้เร็วที่สุดเช่นกัน อย่างเช่น การจับมือร่วมกับ GRAB ของ KBANK ในการเป็นเกตเวย์ในการชำระค่าบริการ นำเสนอรูปแบบประกันและมีโปรโมชั่นส่งเสริมการตลาดร่วมกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พาร์ทเนอร์ร่วมขับ
ทาง SCB เองก็ไม่น้อยหน้า ด้วยการไปร่วมมือกับ GET บริษัทลูกของ GOJEK ที่จะมีความร่วมมือกันด้านการชำระเงินและบริการพิเศษต่างๆ แน่นอนว่าเป้าหมายหลักคือการขยายฐานลูกค้าให้เข้าไปสู่กลุ่มผู้ขับขี่และร้านค้าที่ใช้งานแอพพลิเคชั่น GET สามารถใช้เกตเวย์ในการรับเงินและชำระเงินผ่านช่องทางของ SCB
ตามมาด้วยการนำเสนอรูปแบบประกันที่เจาะกลุ่มเฉพาะผู้ขับขี่ และเงินกู้สำหรับร้านค้าในระบบที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน แม้ว่าก่อนหน้านี้ทาง GET จะใช้รูปแบบการประกันผู้ขับขี่และเงินทุนจากทางพาร์ทเนอร์ของบริษัทแม่ แต่ SCB ที่เลือกเข้าไปลงทุนใน GOJEK ก็เพื่อดึงความร่วมมือทางการเงินของ GET กลับมาไว้ที่ตนเอง
ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยาเองก็มีความสัมพันธ์อันดีในการให้บริการทางการเงินแก่ผู้ขับ LALAMOVE ด้วยสินเชื่อแบบใช้ข้อมูลประกอบการพิจารณา โดยการนำฐานข้อมูลของผู้ขับขี่มาพิจารณาในการปล่อยสินเชื่อเพื่อความสะดวกในการอนุมัติเงินแบบไม่ต้องมีหลักค้ำประกันให้วุ่นวาย
สรุปรายได้ธนาคาร
ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 นั้น ทั้ง 5 ธนาคารที่ทีมงาน Thumbsup ได้เก็บข้อมูลมานั้น พบว่ามีทิศทางรายได้ไปในทางบวก แม้ว่าตัวเลขการเติบโตจะแตกต่างกันจากรูปแบบการทำงาน แต่ทุกค่ายหลังจากลงทุนด้านบริการการเงินผ่านช่องทางออนไลน์และแอพพลิเคชั่นแล้ว ช่วงนี้ก็เป็นจังหวะของการรอดูผลตอบรับจากลูกค้า และบริหารจัดการไม่ให้ระบบล่มในช่วงสิ้นเดือน
โดยทาง ธนาคารไทยพาณิชย์หรือ SCB นั้น ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 มีกำไรสุทธิ 9,157 ล้านบาท ทำให้รายได้รวมทั้งหมดอยู่ที่ 9,157 ล้านบาท แม้ว่าจะลดลง 19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ตัวเลขนี้ไม่ได้นับรวมรายได้ใหม่ที่มาจากการเข้ามาซื้อหุ้นของทาง FWD ในกลุ่มธุรกิจประกันที่มีมูลค่า 9.2 หมื่นล้านบาท
ตามมาด้วย ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK ที่มีผลประกอบการเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 พบว่า มีตัวเลขรายได้สูงถึง 21,483 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้านี้ถึง 2,946 ล้านบาท หรือ 15.89% แต่ก็มีการใช้จ่ายในส่วนของค่าใช้จ่ายทางการตลาด และรายได้ที่เกิดจากประกันภัยลดลง ทำให้ภาพรวมมีเม็ดเงินลดลง
ทางด้านของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ KMA ก็ประกาศความแข็งแกร่งของรายได้ในไตรมาส 1/2562 ด้วยตัวเลข 12,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าไตรมาสที่ 1/2561 ซึ่งตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากปัจจัยของการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ภายหลังจากการขายหุ้นในบริษัทเงินติดล้อให้กับพันธมิตร ถึงแม้จะไม่รวมรายได้ในส่วนนี้ ธนาคารก็ยังกำไรสูงถึง 6,900 ล้านบาทเช่นกัน
นอกจากนี้ ธนาคารกรุงเทพ หรือ Bangkok Bank ก็ยังมีทิศทางที่ดี คือมีกำไรเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 0.3% ทำให้มีเม็ดเงินรายได้รวม 9,028 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1/2561 โดยรายได้เพิ่มจากดอกเบี้ยสุทธิและส่วนต่างรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง
สุดท้ายกับธนาคารกรุงไทย หรือ Krungthai ที่ไตรมาส 1/2561 มีรายได้สุทธิของธนาคารเท่ากับ 7,301 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทำให้เม็ดเงินรายได้รวมจากการดำเนินงานเท่ากับ 33,572 ล้านบาท เติบโตขึ้น 13.7%
ดูเหมือนว่าตัวเลขรายได้ในช่วงครึ่งปีแรก ทุกธนาคารยังมีอนาคตที่สดใสอยู่ก็หวังว่าในครึ่งปีหลังจะมีทิศทางที่สดใสเช่นกัน