Site icon Thumbsup

3 เนื้อแท้การตลาดไม่มีในตำรา แต่จับต้องได้ที่ The Confiture ร้านขนมฝีมือวิศวกร

ปลายปี 2017 ร้านขนมและแยมชื่อดังจากโลกโซเชียล The Confiture เปิดตัวร้านสีครีมลุคอบอุ่นน่ารักเพื่อต้อนรับการค้าแบบออฟไลน์ หลังจากเติบโตสวยงามจากยอดสั่งซื้อออนไลน์ตลอด 2 ปี ความเคลื่อนไหวนี้น่าสนใจมากเพราะถือเป็นสิ่งตอกย้ำความสำเร็จเป็นรูปธรรม จากจุดแข็งที่เหมาะเป็นกรณีศึกษาชั้นเลิศ แถมเป็นกรณีศึกษาที่ไม่ได้เหมาะเฉพาะนักการตลาดเท่านั้น แต่ผู้ประกอบทุกรายสามารถหยิบแนวคิดเหล่านี้ไปใช้ได้จริง

หลายคนอาจรู้จัก The Confiture (ภาษาฝรั่งเศสอ่านว่า คอนฟิจูร์) ผ่านหลายสื่อออนไลน์เจ้าดังของไทยที่เวียนไปสัมภาษณ์เชฟตั้งแต่ร้านออนไลน์เปิดตัวเมื่อ 9 กันยายน 2015 เนื่องจากความเป็นมาของร้านที่ไม่ธรรมดา นั่นคือเชฟที่ทิ้งอาชีพวิศวกร ไปศึกษาจริงจังเพื่อกลับมาเป็นพ่อครัวทำขนมและแยมที่พิถีพิถันแบบไม่มีใครเหมือน

นอกจากสตอรี่ของร้านที่เข้มข้น ใครที่ได้ลิ้มลองขนมนมแยมของ The Confiture จะทราบดีถึงความรู้สึกพิเศษสมราคา ขณะที่หลายคนคลิกติดตามเพจของร้านเพราะเนื้อหาการสื่อสารที่โดนใจ ทั้งหมดนี้ถือเป็นส่วนผสมลงตัวที่ทำให้ The Confiture คือกรณีศึกษาน่าสนใจมากที่ผู้ประกอบการทุกคนควรจดไว้กันลืม

1. สตอรี่น่าทึ่ง

บนเว็บไซต์ theconfiture.com บอกว่าเชฟของร้านคือ “โสรจ ไตรตียะประเสริฐ“ จบการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบและได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาปริญญาตรีและโท ด้านวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว หลังจากที่เรียนจบและกลับมาประเทศไทยเพื่อทำงานตามสายงานที่เรียนมาซักระยะก็ค้นพบกับแรงบันดาลใจ อยากที่จะสรรสร้างสิ่งที่เป็นความสุขให้คนรอบตัวได้ และนั่นคือขนม

โสรจจึงกลับไปที่ญี่ปุ่นอีกครั้งเพื่อไปตามความฝัน ไปศึกษาการทำขนมฝรั่งเศสสไตล์ญี่ปุ่นซึ่งเป็นรูปแบบขนมที่เบลนด์เอกลักษณ์ของทั้งสองชาติเข้าไป มีรสชาติถูกปากคนเอเซีย จนลูกค้าบางรายของ The Confiture บอกว่าขนมของร้านนั้นอร่อยกว่าที่เคยกินที่ฝรั่งเศสเสียอีก

ไม่ว่าขนมนี้จะอร่อยจริงหรือหลอก แต่หลายคนหูผึ่งทันทีที่ได้ฟังว่านี่คือ “ขนมที่ (อดีต) วิศวกรทำ” ลูกค้าจำนวนมากอยากให้ครอบครัวเพื่อนฝูงได้ชิมความพิเศษในขนมนี้ ส่งให้แบรนด์ The Confiture ขายสินค้าชนิดจองไม่ทันในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เพราะเมื่อ The Confiture ประกาศจะทำขนมหรือแยมอะไร ลูกค้าจะสั่งคนละหลายกระปุก/กล่องจนไม่เหลือวางหน้าร้าน

2. ของต้องดีจริง

ไม่ใช่ “เสียหายไปเท่าไหร่แล้ว กับคำว่าของมันต้องมี” แต่ที่ The Confiture คำพูดนี้จะกลายเป็น “เสียหายไปเท่าไหร่แล้ว กับคำว่าของมันต้องกิน” เพราะเมื่อได้ลองเมนูที่ร้าน ก็จะรู้สึกอยากลองเมนูต่อไป ต่อไป ต่อไป และต่อไป

ทั้งหมดนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโสรจมีโอกาสได้ร่วมงานกับเชฟชื่อดังหลายคนในญี่ปุ่น จนสามารถนำเทคนิคและความอร่อยกลับมาใส่ในขนมให้คนไทยได้ชิม ขณะเดียวกัน ขนมฝรั่งเศสสไตล์ญี่ปุ่นที่โสรจทำนั้นผสานเอกลักษณ์ของทั้งสองชาติเข้าไป โดยเน้นความพิถีพิถันในรายละเอียดตามแบบฉบับของญี่ปุ่น

งานนี้เลยไปกันใหญ่ เมนูพุดดิ้งและชูครีมที่มีจำหน่ายเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ จะต้องจองภายในเที่ยงวันพฤหัสบดีของสัปดาห์นั้น เพื่อให้เชฟแสตนด์บายรอเข้าเตาอบ แล้วจึงฉีดครีมสดเข้าไปเมื่อลูกค้ามารับที่ร้าน

The Confiture เป็นตัวอย่างที่ดีมากเรื่องจุดแข็งของสินค้า หากสังเกตให้ดี ชูครีมของ The Confiture จะมีจุดดำจิ๋วทั่วครีมสด เมื่อถามเชฟว่าคืออะไร คำตอบคือมันเป็นเม็ดวานิลลาจากฝัก เพราะร้านไม่ใช้กลิ่นสกัดเนื่องจากกลิ่นจะแรงเกินไป แถมเชฟยังใจดี เดินไปควักฝักวานิลลาหลังร้านมาให้ดูอย่างจริงใจ

3. การสื่อสารที่เข้าถึง

เพจ The Confiture วันนี้มี 12,873 คนถูกใจ และ 12,908 คนติดตามเพจ ตัวเลขนี้แม้จะไม่มากแต่ก็ทำให้ The Confiture มีกลุ่มคนที่ติดตามเหนียวแน่น โดยเฉพาะแนวคิดที่ว่า “ขนมเป็นตัวแทนของความปรารถนาดีที่อยู่ในรูปแบบที่จับต้องได้ ส่งมอบให้กันได้” และการสื่อสารว่าหากลิ้มลองชูครีมของที่นี่ ควรใช้มือ ไม่ต้องใช้ช้อนส้อม

The Confiture ยังพยายามย้ำความเชื่อว่าในทุกวัตถุดิบมีที่มา มีพลังงานดีอยู่ในส่วนประกอบเหล่านั้น เชฟจึงทำหน้าที่ดึงองค์ความอร่อยจากธรรมชาติออกมาให้ถึงมือลูกค้าโดยหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีปรุงแต่งและสารกันเสีย การสื่อสารนี้ได้ผล ทำให้ลูกค้าจำนวนมาก “อิน” กับแนวคิดของร้าน

ถึงบรรทัดนี้เราขอย้ำว่าไม่ได้ค่าโฆษณาใดจาก The Confiture แต่ทั้งหมดเป็นสิ่งที่จับต้องได้จากแบรนด์นี้ ในขณะนี้จริงๆ

ที่มา : ภาพจาก facebook.com/theconfiture/