ความท้าทายในการผลิตคอนเทนต์เพื่อที่จะเอามาตอบโจทย์ของคนในยุคนี้
คุณจันทร์เพ็ญ : ในมุมของนักสื่อสาร เราก็รู้สึกว่ามันมาถึงจุดที่หลายๆ คนเริ่มเรียนรู้เริ่มตระหนักมากขึ้นว่า หลักสูตร กลยุทธ์ต่างๆ ที่เราเรียนรู้ในอดีตมันอาจไม่ใช่แล้ว สื่อดิจิทัลแต่ละอย่างก็ทำหน้าที่ไม่เหมือนกัน มีคาแรกเตอร์คนละแบบ เราต้องทำ tailored-made เพื่อให้มันเหมาะสมที่สุด
ตอนนี้เรามาถึงจุดที่รู้กันแล้วว่าจะทำยังไงให้มันเวิร์ก ซึ่งมันเป็นอุดมคติ ชีวิตจริงเราต้องเจอข้อจำกัดอีกมาก ทั้งเรื่องงบ เรื่องเวลา ซึ่งอาจจะทำให้งานแป้ก
คุณวิเชียร : ในระยะ 7-8 ปีที่ผ่านมา รูปแบบการสื่อสารมันพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อก่อนมันเป็นสื่อที่เราเรียกว่า push เป็นการสื่อสารทางเดียวไม่ว่าจะเป็นทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ คือเราซื้อสื่อแล้วก็สาดออกไป จะพูดกับวัยรุ่นคนนึงก็ต้องเผื่อแผ่แม่ค้ากล้วยปิ้งด้วย
พอมาถึงทุกวันนี้ แต่ละสื่อมันมีวิธีการที่ไม่เหมือนกัน มันกลายเป็นเหมือนทุกสื่ออยู่กับที่ เพราะฉะนั้นการทำคอนเทนต์กับสื่อที่อยู่กับที่ แล้วให้เค้ามาเปิดดูเนี่ยไม่ใช่เรื่องง่าย ในที่สุดแล้วเราต้องทำคอนเทนต์ที่ดึงคนเข้ามาให้ได้
เพราะฉะนั้น เสน่ห์เป็นเรื่องสำคัญมาก เราต้องทำคอนเทนต์ที่มีเสน่ห์มาก ให้ถึงขนาดที่เค้ามากดไลก์ กดแชร์ มาคอนเมนต์ และมาด่าอีกคอมเมนต์ให้เรา ปกป้องเรา ถ้าเค้าไม่แชร์ มันก็แป้ก มันไม่มีวิธีอื่นนอกจากทำคอนเทนต์ให้มีเสน่ห์
ต้องพูดเรื่องของเค้า ไม่ใช่เรื่องของเรา สมัยก่อนจะขายกีตาร์สักตัวก็โฆษณาว่ามันดีอย่างนั้นอย่างนี้ เด็กไม่เชื่อหรอกครับ ต้องให้พี่อ๊อฟ บิ๊กแอส มารีวิวให้ฟังว่ามันเจ๋งยังไง ถ้าเราสังเกตทุกวันนี้ คำว่ารีวิวถูกค้นหาเยอะ มันสะท้อนว่า คำว่ารีวิวมันเป็นเรื่องของเค้า ส่วนคำว่าโฆษณา เป็นเรื่องของเรา
คุณพัชราพร : อันดับแรกต้องรู้ก่อนว่าผู้เสพคอนเทนต์ของคุณเป็นใคร แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือคนทุกกลุ่มต้องการอะไรที่มันรวดเร็ว ที่มันย่อยง่าย ก็เลยมองว่าความท้าทายของการสร้างคอนเทนต์คือเราต้องทำสิ่งที่พรีเซนต์ไปแล้วเค้าเก็ต ย่อยง่าย ทำให้เค้ารู้สึกว่ามันเกี่ยวข้องกับเค้าได้เร็วๆ อย่าง Joox เนี่ย เราก็มีโจทย์ว่าทำยังไงให้เค้าเข้าแอปมาแล้วคลิก 2-3 ทีก็ได้ฟังเพลงแล้ว ไม่ต้องหาอะไรอีก เราก็เลยรวบรวมเป็นเพลย์ลิสต์ที่เหมาะกับแต่ละโมเมนต์
คอนเทนต์เพื่อโปรโมทแบรนด์แบบที่คนไม่รู้สึกว่ามันเป็นการขายของมากเกินไป
คุณจันทร์เพ็ญ : เรื่องแรกคือเรื่อง Customer focus หรือ Insight ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่มี Facebook ใหม่ๆ ตอนนั้นใครทำเพจก็เหมือนกันหมด คอนเทนต์ของแต่ละเพจไม่ต่างกัน แล้วเรามีแฟนเพจอยู่ 1 ล้าน เราก็เลยถามแฟนเพจของเราว่าเพราะอะไรถึงมาติดตาม SCB ก็ได้คำตอบมาว่า เค้าอยากรู้เรื่องการเงิน แต่อย่าทำให้มันยาก
เราก็เลยรู้ว่ามันเป็นจริตคนไทยนั่นแหละ เลยทำให้ความรู้ทางการเงินมันถูกห่อหุ้มไว้ด้วยความอร่อยอยู่บ้าง ก็เริ่มทำคอนเทนต์ “แรงเงิน” เพราะตอนนั้นละครแรงเงากำลังดัง เพื่อให้ความรู้เรื่องการลดหย่อนภาษีปลายปี เราก็ทำแบบนั้นมาเรื่อยๆ
อีกแบบคือ เราก็กลับมาที่ว่าช่องทางของเราเนี่ยมันใหญ่ Facebook มีคนตาม 3 ล้าน Line เรามีเพื่อน 22 ล้านคน แต่สินค้าและบริการของเราเนี่ยมันเฉพาะกลุ่ม เงินออม บัตรเครดิต บ้าน ซึ่งไม่ใช่ของที่ทุกคนต้องการในเวลาเดียวกัน เราเลยพยายามทำให้เกิด Segment ของคอนเทนต์มากขึ้น
ก็เลยกลายมาเป็นแคมเปญ “เด็กน้อยกับรอยยิ้ม” ประกวดภาพถ่ายลูก ซึ่งก็จะได้อีเมลของกลุ่มลูกค้าจากคนที่เข้ามาร่วมสนุกกับแคมเปญเกือบ 2 ล้านคน เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะโปรโมทบริการสำหรับคนมีลูก มีครอบครัว เราก็ยิงไปที่เค้าได้โดยตรง
การโปรโมทคอนเทนต์ที่เป็นมิวสิกในช่องทางดิจิทัลของทาง GMM
คุณวิเชียร : ก่อนที่จะมาถึงการใช้โซเชียล จริงๆ มันเริ่มมาจากเราอยากทำอีคอมเมิร์ซขายพวกสินค้าที่ระลึกของศิลปิน เราพบว่าคุณจะต้องสร้างแฟนคลับขึ้นมาก่อน เราได้วิธีคิดเรื่องนี้มาจากศิลปินเกาหลี พอเค้ามาทีนึงแฟนคลับไปรอกันเพียบเลย เราก็ค้นพบว่า Fan is media แฟนคลับคือมีเดีย
เราต้องเข้าถึงใจของแฟนๆ ให้ได้ คือเค้าพร้อมที่จะมาติดตามกัน เราต้องหาวิธีควบรวมแฟนมาอยู่ด้วยกัน ตั้งแต่ยุคที่เป็นเว็บบอร์ด ไฮไฟว์ จนตอนนี้มีเฟซบุ๊ก เราก็รวมแฟนคลับมาอยู่ด้วยกัน
มันมีกรณีศึกษาตอนที่มีปิดถนนประท้วง ยิงกันตรงราชประสงค์ ตอนนั้นเรากำลังทำอัลบั้มของบอดี้สแลม จริงๆ แล้วมันเป็นวิกฤติมาก แต่ด้วยความที่เราดึงแฟนคลับมาอยู่ด้วยกัน ปรากฎว่าเราก็ขาย Merchandise อัลบั้มครามของพี่ตูนได้ 5,000 กล่อง ผ่านเฟซบุ๊ก จะเห็นว่าถ้าเราดึงแฟนคลับมารวมกันได้มันจะมีพลังมาก