เนื้อหาดีน่าสนใจก็ทำให้แบรนด์ดูดีน่ามองตามไปด้วย แต่เนื้อหาที่เข้าข่าย “Bad content” ก็เป็นจุดบอดที่ทำให้แบรนด์ตกต่ำรวดเร็วเช่นกัน ความท้าทายของผู้สร้าง content ในวันนี้คืออย่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ Bad content ซึ่งมีลักษณะคร่าว ๆ ตาม 6 รูปแบบนี้
1. เนื้อหาน่าเบื่อ
ไม่ใช่ว่าทุก blog post จะต้องเป็นไวรัลหรือน่าตื่นเต้นเหมือนนวนิยายที่วางไม่ลง แต่ก็ควรมีความน่าสนใจบ้างในทางใดก็ทางหนึ่ง จุดนี้แบรนด์ที่รู้ว่าหัวเรื่องของโพสต์มีแรงดึงดูดน้อย ก็สามารถหาทางปรับให้เนื้อหาน่าสนใจขึ้นมาได้ เช่น การใส่อารมณ์ขัน ภาพ หรือองค์ประกอบอื่นเพื่อให้เนื้อหานั้นน่าสนใจยิ่งขึ้น
2. เนื้อหาที่เน้นแต่ Brand
Brand-centric content หรือเนื้อหาที่มีเรื่องของแบรนด์เป็นศูนย์กลางเข้าข่ายเนื้อหาที่เสี่ยงไร้คนอ่าน เพราะเรื่องราวใน content กลุ่มนี้ไม่ใช่เรื่องของคนอ่าน และไม่ใช่เรื่องของคนเขียน ดังนั้นทางที่ดี แบรนด์ควรตรวจสอบว่า content นั้นโฟกัสที่ผู้อ่าน และผู้อ่านจะได้รับอะไรจากการอ่านหรือชมเนื้อหานี้ หากผู้อ่านไม่ได้รับคำตอบ ก็เตรียมตัวได้เลยว่า content นี้จะถูกมองข้ามไป
3. เนื้อหาที่ไม่ได้เขียนถึงใครเป็นพิเศษ
เราขอฟันธงว่าการสร้างเนื้อหาหรือ content ทุกครั้ง ควรคำนึงถึงผู้ชมเสมอ เช่นกลุ่มอายุของผู้ชม และข้อมูลประชากรอื่นที่สามารถกำหนดเป็นกลุ่มเป้าหมายได้โดยจับคู่กับข้อมูลลูกค้าตัวจริง
เมื่อคำนึงแล้ว เนื้อหาก็ควรถูกสร้างขึ้นตามความต้องการ ปัญหา และความนิยมที่ผู้ชมต้องการ จุดนี้จำไว้ว่าเนื้อหาทั่วไปที่เขียนขึ้นสำหรับทุกคนมีแนวโน้มที่จะไม่เข้าถึงใคร ดังนั้นจงปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะกับผู้ชมเฉพาะรายจะดีกว่า
4. เนื้อหาที่เขียนขึ้นสำหรับบ็อต
เทคนิค SEO ทำให้เนื้อหานั้นอ่านไม่รู้เรื่องหรือเปล่า? เมื่อถามตัวเองแล้วจงอย่าพยายามเล่นเกมของ Google ให้มากเกินงาม ขณะเดียวกันก็อย่าดูถูกผู้อ่านด้วยการทิ้งคำหลักทั่วเพจ เพราะทั้ง Google และผู้อ่านจะเมินเนื้อหาของเราในที่สุด
5. เนื้อหาเน้นขาย
เนื้อหาของแบรนด์อาจเป็นจุดเชื่อมต่อกับการขาย แต่ไม่มีใครชอบพนักงานขายที่เร่งขายของจนเกินงาม ความจริงนี้สะท้อนว่าเป็นการง่ายที่จะทำลายเนื้อหาที่น่าตื่นเต้น ผู้อ่านอาจจะหนีไปถ้าไม่ปลื้มวิธีการขายของแบรนด์
6. เนื้อหาที่อ่านยาก
กรณีที่เป็นเนื้อหาบทความ เชื่อขนมกินได้เลยไม่มีใครชอบประโยคยาวยืด และบทความไร้วรรคตอนที่ไม่มีที่สิ้นสุด จงแน่ใจว่าได้แบ่งเนื้อหา ทำหัวเรื่อง หรือใส่สัญลักษณ์แสดงหัวข้อย่อย รวมถึงรายการลำดับเลข ทำให้ผู้อ่านสามารถจับใจความโดยคร่าว และเข้าใจสารได้ง่าย
สรุปแล้ว เนื้อหาที่จะไม่เสี่ยงกับการคว้าน้ำเหลว คือเนื้อหาที่ถูกทำให้สั้นและน่ารื่นรมย์นั่นเอง
ที่มา: PRDaily