Content Pillar หรือ แกนกลางของข้อมูลที่นักเขียนทุกคนจำเป็นต้องทำไปในทิศทางเดียวกัน โดยรากฐานการทำคอนเทนต์ที่ดีคือไม่ว่านักเขียนจะปรับเปลี่ยนไปกี่คน แต่แนวทางในการนำเสนอเรื่องราวจะต้องเป็นไปในสิ่งที่บริษัทต้องการให้เป็น เพราะธีมหลักของเว็บไซต์ข่าว หรือธีมของบริษัทในการทำคอนเทนต์ควรมีที่มาที่ไปชัดเจน และนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ต้องการนำเสนอในแง่มุมต่างๆ
นอกจากนี้ หลักการสำคัญที่ Content Pillar ควรมีก็คือต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เที่ยงตรงและครอบคลุม เผื่อว่ามีการนำข้อมูลนั้นไปส่งต่อหรือดัดแปลงในแง่มุมต่างๆ ก็จำเป็นต้องชัดเจนและไม่เอนเอียงด้วย
ส่วนการเริ่มต้นลงมือทำ Content Pillar นั้น ควรทำอย่างไรบ้าง วันนี้เรามีข้อมูลมาแนะนำกันค่ะ
กำหนดธีมของธุรกิจว่าต้องการสื่อออกมาอย่างไร
เราขอยกตัวอย่าง แบรนด์ศรีจันทร์ ปกติศรีจันทร์ที่เรานึกถึงคือการขายเครื่องสำอางใช่ไหมคะ การสื่อสารคอนเทนต์สำหรับสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางค์ก็จะได้แนวทางหนึ่ง แต่นอกจากเรื่องของการขายเครื่องสำอางค์และแนวทางการแต่งหน้าแล้ว คนส่วนใหญ่จดจำแบรนด์ศรีจันทร์ได้ด้วยภาพลักษณ์ของคุณรวิศ หาญอุตสาหะ ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานะผู้บริหารไฟแรงที่กล้ารีแบรนด์
แต่สำหรับในมุมมองคนสร้างแบรนด์ ย่อมไม่ต้องการที่จะให้ภาพลักษณ์ของทั้งสองส่วนนี้ทับซ้อนกัน การเลือกเปิดเพจหรือโซเชียลมีเดียใหม่ไปเลย นอกจากจำเพิ่มโอกาสสื่อสารระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริหารแล้ว ยังช่วยลดความสับสนได้ด้วย
หรือในกรณีที่คุณเป็นผู้สื่อข่าวทีวี แต่จำเป็นต้องบริหารเพจบนโซเชียลมีเดียด้วย จริงอยู่ว่าการนำเสนอข่าวสารจะต้องถูกต้อง แม่นยำ เพราะมีคนนำไปใช้ต่อแล้ว การโต้ตอบผ่านคอมเมนท์ก็ต้องระวังการสื่อสารที่ผิดพลาด ที่อาจจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจด้วยค่ะ
กำหนดแนวทางการเขียนว่าจะนำเสนอเนื้อหาประเภทไหน
ด้วยรูปแบบการเขียนที่แตกย่อยออกเป็นหลายส่วน เช่น ข่าวสารบ้านเมือง ข้อมูลเชิงการตลาด เรื่องราวรอบตัวแนวไลฟ์สไตล์ เชิงวิทยาศาสตร์ เชิงวิเคราะห์ให้ความรู้ เป็นต้น การกำหนดแกนของเรื่องราวให้ชัดเจน จะช่วยให้เราสามารถกำหนดภาพลักษณ์ การแสดงออกหรือการใช้ถ้อยคำที่เหมาะสมสำหรับแอดมิน เพื่อที่เราจะได้ทราบว่า ควรจะใช้คำพูดอย่างไร ถึงจะเหมาะกับกลุ่มผู้อ่านด้วยนะคะ เช่น ใช้ภาษาให้เหมือนเพื่อน ถ้อยคำแบบทางการ เพราะแต่ละประเภทของการสื่อสารจะทำให้คนอ่านอินไปในแนวทางเดียวกันได้ง่ายขึ้นค่ะ
วางตารางการโพสต์ที่ชัดเจน
สิ่งที่นักบริหารโซเชียลควรมีคือการสร้าง Monthly Calendar Content ค่ะ เพื่อให้นักการตลาดหรือผู้บริหารเพจ สามารถทราบข้อมูลเชิงลึกว่า ควรโพสต์ช่วงเวลาไหน แบ่งเวลาโพสต์ในทีมอย่างไร โพสต์ไหนที่คนชอบอ่านมากที่สุดหรือช่วงเวลาไหนที่คนเห็นแบรนด์เราได้ดีที่สุด หรือหากเกิดปัญหาขึ้นควรจะรับมืออย่างไร เพราะการกำหนดเวลาการโพสต์จะเหมือนการช่วยตั้งสติสำหรับคนทำงานอีกทางหนึ่งด้วยนะคะ ว่าวันนี้ชั้นได้ทำงานตามแผนงานที่วางไว้หรือยัง หรือตกหล่นตรงไหน ถือว่าช่วยให้คนทำงานรู้ไทม์ไลน์ในชีวิตตัวเองแต่ละวันได้อย่างดีเลย
ตามกระแสโซเชียลให้ทันหรือเป็นผู้นำกระแสบ้าง
จริงอยู่ว่าการทำคอนเทนต์ตามกระแสจะช่วยให้ผู้ติดตามอินกับเรื่องราวการนำเสนอได้ดีขึ้น แต่การทำบ่อยๆ หรือช้าเกินไป ก็อาจเกิดการเอียนคอนเทนต์ซ้ำซากได้เหมือนกัน ดังนั้น การใช้มุกเดิมๆ อย่างที่คนอื่นเล่นมาก่อน หรือบิดได้ไม่น่าสนใจพอก็อาจส่งผลเสียกับแบรนด์ได้เหมือนกัน ดังนั้น นอกจากการตามกระแสให้ทันแล้ว ลองเป็นผู้สร้างกระแส (เชิงสร้างสรรค์) กันบ้างก็ดีนะคะ เพราะอย่างน้อยก็กลายเป็นเสน่ห์ให้คนอยากติดตามแบรนด์หรือคอนเทนต์ของคุณ
อย่างเช่น โอปองแปง หรือ บาสกิ้นรอบบิ้นส์ ที่นำกระแสบางอย่างก่อน ก็ช่วยให้ผู้ติดตามรอดูว่าแบรนด์จะทำอะไรสนุกๆ ออกมาบ้างและกลายเป็นผลดีคือไม่ต้องรอแต่กระแสมาค่อยเล่น หรือสอดส่องกระแสตลอดเวลา แต่สร้างขึ้นมาเอง
จ่ายเงินซื้อโฆษณาบ้างก็ได้
คนทำเพจหลายคนอาจจะอยากปั้นให้แบรนด์ของตนเองติดตลาดหรือเป็นที่รู้จักไวๆ ใช่ไหมคะ อุตส่าห์ทำคอนเทนต์ซะดี ใช้เวลาทุ่มเทแทบตายแต่มีคนกดไลค์ 2 คน แบบนี้ก็น่าเศร้า แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีอาชีพนักปั้นเพจเกิดขึ้น ใช้แอคเคาท์ปลอมมากมายมาเพิ่มยอดไลค์ ยอดผู้ติดตาม แต่ความฉาบฉวยนี้ก็อยู่ได้ไม่นาน คำแนะนำของเราคือใช้ทั้งสองวิธีนี้อย่างเหมาะสมค่ะ
คือไม่ต้องไปจ้างปั๊มเพจให้ดูหลอกลวงและเสียภาพลักษณ์ไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่หากคุณมองว่าคอนเทนต์ที่คุณเขียนมานั้น มันดีมาก ทุ่มเทมาแบบสุดพลังอยากให้คนเห็นเยอะๆ ก็เลือกบูสต์โพสต์ไปเลยค่ะ ถ้างานของคุณดีจริงคนติดตามเพิ่มแน่นอน เป็นหลักการปั้นยอดผู้ติดตามแบบเดียวกับนักขายที่ต้องการขายสินค้าทั้งหลายนั้นแล
อ่านรีพอร์ตบ่อยๆ ช่วยวิเคราะห์กลยุทธ์ได้
แต่ละโซเชียลมีเดียจะมีเครื่องมือสำหรับช่วยวิเคราะห์ข้อมูลที่ใกล้เคียงกันนะคะ เช่น Facebook ก็คือ Creator Studio หรือถ้าเป็น Youtube ก็คือ YT Studio ส่วน Twitter ก็มี analytics ที่ช่วยให้เราเห็นภาพรวมว่า มีจำนวนโพสต์เท่าไหร่ มีคนเห็นโพสต์ของเรามากน้อยแค่ไหน
การที่เรารู้ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ช่วยให้เราสามารถวางแผนโพสต์งานในช่วงเวลาที่มีคนอ่านมากที่สุด (นำไปต่อยอดขายโฆษณาได้อีกด้วย) รวมทั้งทราบว่ากลยุทธ์ที่เราวางแผนนั้นได้ผลแค่ไหน และแคมเปญไหนไม่ประสบความสำเร็จ ช่วยให้เราปรับเปลี่ยนแผนได้ทันเวลา
อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นทำ Content Pillar นั้น ในช่วงแรกอาจจะวุ่นวายไปเสียหน่อย วางแผนหลายอย่างให้ครอบคลุมและมองให้กว้างเข้าไว้ รวมทั้งคิดเผื่อสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตให้มาก เพื่อลดความผิดพลาดในอนาคตให้น้อยที่สุดและเพิ่มโอกาสสำเร็จในปัจจุบันให้มากที่สุดด้วยค่ะ
การเริ่มต้นนั้นไม่ยาก แต่การรักษาธุรกิจให้แข็งแรงได้ตลอดรอดฝั่งนั้น ยากยิ่งกว่านะคะ เป็นกำลังใจให้คนเริ่มต้นสร้างแบรนด์ทุกท่านค่ะ