ในมุมของคนทำคอนเทนต์สิ่งที่คาดหวังมากที่สุดคงหนีไม่พ้นการที่มีคนติดตามหรือชื่นชอบเนื้อหาที่ตนเองสร้างสรรค์ แต่ในขณะที่สมองตัน ก็ย่อมมีการคิดบทความสำหรับเขียนออกมาแบบพลาดๆ กันบ้าง แล้วเนื้อหาแบบไหนที่เรียกว่า “พลาด” จนกลายเป็นจุดบอดให้แบรนด์เสียภาพลักษณ์กันล่ะ
วันนี้ thumbsup มีรูปแบบการเขียนคอนเทนต์ที่สร้างโอกาส fail มาฝากกันค่ะ
1. คอนเทนต์มีแต่เรื่องน่าเบื่อ
แม้ว่านักการตลาดจะคาดหวังในโพสต์ของตนเอง กลายเป็นกระแสหรือไวรัลที่คนอยากเล่นต่อๆ กันจนคนจดจำแบรนด์ของเราได้ การสร้างคอนเทนต์นั้นแบรนด์ต้องรู้ก่อนว่าหัวข้อเรื่องที่จะโพสต์นั้น มีแรงดึงดูดมากหรือน้อย ถ้าทำหัวข้อให้ดูน่าเบื่อก็ยากที่คนจะสนใจ นักการตลาดหรือนักสร้างคอนเทนต์ก็ควรปรับให้เนื้อหาน่าสนใจขึ้น เช่น การใส่อารมณ์ขัน ภาพ หรือองค์ประกอบอื่นเพื่อให้เนื้อหานั้นน่าสนใจ อย่าปล่อยให้ตัวเองเขียนแต่บทความแบบเดิมๆ จนผู้ติดตามรู้สึกว่าแบรนด์มีแต่เรื่องน่าเบื่อ
2. เนื้อหาที่เน้นแต่แบรนด์ของตนเอง
Brand-centric content หรือเนื้อหาที่มีแต่เรื่องของแบรนด์เป็นศูนย์กลาง ย่อมเข้าข่ายเนื้อหาที่คนจะไม่อยากกดเข้ามาอ่าน เพราะเรื่องราวเกี่ยวกับแบรนด์ในแง่มุมที่ยากต่อความเข้าใจหรือมีแต่ข่าวประชาสัมพันธ์ทุกครั้ง ทำให้คอนเทนต์กลุ่มนี้ไม่ใช่เรื่องที่คนอยากอ่าน ดังนั้นทางที่ดี แบรนด์ควรตรวจสอบว่าคอนเทนต์เกี่ยวกับแบรนด์ที่เราเขียนนั้น จะโฟกัสที่จุดไหนถึงจะทำให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์จากการอ่านหรือการเข้าชมเนื้อหานี้ หากผู้เขียนอ่านทบทวนแล้วยังไม่ได้รับคำตอบในใจ ก็เตรียมตัวได้เลยว่าคอนเทนต์นี้ จะถูกมองข้ามอย่างแน่นอน
3. คอนเทนต์ที่ไม่มีจุดเด่นให้จับต้องได้
การสร้างเนื้อหาหรือคอนเทนต์ทุกครั้ง ควรคำนึงถึงกลุ่มผู้อ่านหรือผู้ติดตามเสมอ เช่น กลุ่มอายุของผู้ติดตาม พฤติกรรมและความชอบในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้เราสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมกับแบรนด์ เข้าคู่กับข้อมูลของลูกค้าตัวจริงไปพร้อมกัน
เมื่อเราต้องแกนกลุ่มลูกค้านี้ได้แล้ว ก็จะทำให้เรารู้ว่าเนื้อหาที่จะเขียนในแต่ละครั้งควรถูกสร้างขึ้นตามความต้องการ ปัญหา และความนิยมที่ผู้ชมต้องการ และจุดนี้จะทำให้เนื้อหาที่เขียนขึ้นมามีจุดเด่น เพราะถ้าเขียนแนวเรื่องที่ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันและไม่จับกลุ่มลูกค้าที่เหมาะสมสักกลุ่มแต่ทำแนวคอนเทนต์กว้างๆ ย่อมส่งผลให้คอนเทนต์ของคุณมีแนวโน้มที่จะไม่เข้าถึงใครได้เลย ดังนั้น คุณจึงควรปรับแต่งเนื้อหาให้เหมาะกับผู้ชมที่ชัดเจนจะดีกว่า
4. เน้นแต่การทำ SEO ให้ BOT ตรวจเจอ
การทำเนื้อหาที่คาดหวังแต่การค้นหาเจอผ่านเทคนิค SEO จะกลายเป็นการทำเนื้อหาให้อ่านไม่รู้เรื่องหรือเปล่า? จริงอยู่ว่าการเขียนบทความให้เอื้อประโยชน์ค้นหาเจอง่ายๆ ผ่าน Google ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่จงอย่าพยายามเล่นเกมของ Google ให้มากเกินไป ขณะเดียวกันก็อย่าดูถูกผู้อ่านด้วยการทิ้งเนื้อหาหลักของเพจ เพราะสุดท้ายแล้ว Google ก็จะเลือกเมินเนื้อหาของเราเช่นกันหากคอนเทนต์ของคุณไม่มีการเข้าอ่านของผู้คนเลย
5. เน้นขายไม่เน้นให้ความรู้
เข้าใจว่าวัตถุประสงค์ของการทำโซเชียลมีเดียของทุกแบรนด์คือ คาดหวังรายได้จากการขายกลับมา แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือเนื้อหาของแบรนด์ที่คุณสร้างสรรค์อยู่นั้น สามารถเป็นจุดเชื่อมต่อกับรูปแบบการขายสินค้าได้หรือไม่ เพราะไม่มีใครชอบเข้าโซเชียลมีเดียหรือแพลตฟอร์มของแบรนด์เพื่อเจอพนักงานขายที่เน้นขายของจนเกินงาม ความจริงนี้สะท้อนว่าเป็นการง่ายที่จะทำลายเนื้อหาที่น่าตื่นเต้น ผู้อ่านอาจจะหนีไปถ้าไม่ปลื้มวิธีการขายของแบรนด์
6. เรื่องราวยากต่อการเข้าใจ
กรณีที่เป็นเนื้อหาบทความแบบวิเคราะห์หรือข้อมูลเชิงลึกมาก หรือจัดหน้าแบบไม่มีพารากราฟเว้นวรรค เชื่อได้เลยว่าไม่มีคนอ่านแน่นอนเพราะไม่มีใครชอบอ่านประโยคยืดยาว และบทความไร้วรรคตอนที่ไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น คนทำคอนเทนต์ควรแบ่งเนื้อหา ทำหัวเรื่อง หรือใส่สัญลักษณ์แสดงหัวข้อย่อย รวมถึงรายการลำดับเลข ทำให้ผู้อ่านสามารถจับใจความได้ง่ายๆ และเข้าใจเนื้อหาที่เราต้องการสื่อสารได้ง่าย อาจจะทำเป็นไฮไลต์หลักด้านบนเลยก็ได้ เพราะคนไม่มีใครอ่านจบละเอียดทั้งหมด
สรุปแล้ว เนื้อหาที่จะไม่เสี่ยงกับการคว้าน้ำเหลว คือเนื้อหาที่ถูกทำให้สั้นและน่ารื่นรมย์นั่นเอง
ที่มา: PRDaily