Site icon Thumbsup

CORONA VIRUS วิกฤติหรือโอกาสในการลงทุน

 ในปี 2020 นับตั้งแต่ต้นปี การลงทุนในสินทรัพย์ส่วนใหญ่ล้วนให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่อย่างไรก็ตามตลาดได้ปรับร่วงลงอย่างรวดเร็วจากปัจจัยที่ไม่ได้มีการคาดการณ์มาก่อน ได้แก่ เหตุการณ์สังหารผู้นำอิหร่านนายพลกาเซ็ม โซไลมานี ตามมาด้วยเรื่อง การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือ Wuhan Coronavirus (2019-nCoV) ที่เริ่มต้นจากตลาดอาหารทะเลเมืองอู่ฮั่นประเทศจีน

เชื้อโรคที่ส่งผลต่อการลงทุน

คุณศรชัย สุเนต์ตา CFA, ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลด้านการลงทุนและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารไทยพาณิชย์ และคุณภาณุวัฒน์ อิงคะสุวณิชย์ เจ้าหน้าที่บริหารและวิเคราะห์กลยุทธ์การลงทุน ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้วิเคราะห์สถานการณ์ไวรัสโคโรน่ากระทบต่อการลงทุนในประเทศไทยได้อย่างน่าสนใจเลยค่ะ

แม้รัฐบาลจีนจะมีมาตรการรับมือได้รวดเร็วโดยการปิดเมืองและห้ามประชาชนจีนเดินทางออกนอกประเทศ แต่ก็ยังมีผู้ติดเชื้อรวมทั่วโลกแล้วกว่า 17,000 รายโดยกว่า 98% ของผู้ติดเชื้อเป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่ ถึงแม้อัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับต่ำประมาณ 3-4% และมักเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ หากเทียบกับกรณีโรค SARS ในจีนช่วงปี 2003 ที่มีอัตราการเสียชีวิต 9% และ MERS ในตะวันออกกลางในช่วงปี 2015 ที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงระดับ 34%

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องจับตาดูต่อไป คือ อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อที่ดูแนวโน้มยังไม่ลดลง โดยหากเปรียบเทียบเหตุการณ์กรณี SARS และ Wuhan Novel Coronavirus ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในช่วงเจ็ดวันตั้งแต่มีการรายงานนั้น SARS มีผู้ติดเชื้อเพียง 456 ราย แต่ Corona virus นี้มีผู้ติดเชื้อ 4,474 ราย จะเห็นได้ว่าแม้เชื้อโรคครั้งนี้จะไม่รุนแรงจนทำให้มีอัตราผู้เสียชีวิตในสัดส่วนมากเท่ากับ SARS แต่มีอัตราการแพร่ระบาดรวดเร็วซึ่งเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2020 นี้แน่นอน

อย่างไรก็ดี โรคนี้สามารถรักษาได้ และในระยะยาวองค์การอนามัยโลก รัฐบาลต่างๆ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง น่าจะสามารถควบคุมโรคได้เหมือนที่ผ่านมา แต่ในช่วงระหว่างนั้นเศรษฐกิจของประเทศและตลาดหุ้นก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีนและไตรมาสแรกของปี ซึ่งเป็นช่วง High season สำหรับการท่องเที่ยวและการบริโภค

โดยหากย้อนไปดูในช่วงที่โรค SARS ระบาดในจีนช่วงเดือน กุมภาพันธ์ – กรกฏาคม ปี 2003 นั้น ในช่วง 2 เดือนแรก ตลาดหุ้นฝั่งเอเชียทั้งไทยและจีนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยดัชนี MSCI China ให้ผลตอบแทนลดลงมากกว่า 7% แต่หลังจากนั้นเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นดัชนี MSCI China ก็ฟื้นตัวและปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนเมษายน – กรกฏาคม แสดงให้เห็นว่าข่าวและการแพร่ระบาดของไวรัสนั้นจะส่งผลกระทบในระยะสั้น แต่ในระยะยาวตลาดหุ้นไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ซึ่งจะเห็นได้ว่าผลตอบแทน 5 เดือนหลังจากที่พบการระบาดของโรค SARS ในตลาดหุ้นต่างๆ ล้วนปรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

กระทบการท่องเที่ยวมหาศาล

ในส่วนของภาคเศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก คือ ภาคการท่องเที่ยวของเอเชียยอดจำนวนนักท่องเที่ยวใน ไต้หวัน, ฮ่องกง, สิงค์โปร์ และ ไทย ลดลงมากกว่า 40% ในช่วงปี 2003 และเริ่มฟื้นตัวในเดือน สิงหาคม 2003 ทั้งนี้สิ่งที่แตกต่างระหว่างปี 2003 และ ปี 2020 ไม่ใช่เพียงแค่ไวรัสคนละชนิด แต่สถานการณ์เศรษฐกิจก็ยังแตกต่างกันด้วย โดยหากการแพร่ระบาดของไวรัส 2019-nCoV ยังลุกลามต่อเนื่องและกระทบต่อเศรษฐกิจจีน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกรุนแรงกว่า SARS ในปี 2003 เนื่องจาก

  1. ขนาดเศรษฐกิจจีนเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลกปรับเพิ่มขึ้นจาก 4.3%ในปี 2003 เป็น 16.3%ในปี 2018
  2. เศรษฐกิจจีนขยายตัวชะลอลงตั้งแต่ปี 2010 โดยในปี 2019GDPของจีนขยายตัวเพียง 6.1% แตกต่างกับปี 2003 ที่ GDP ของจีนขยายตัวสูงมากกว่า 10% โดย Bloomberg คาดว่าผลกระทบจากไวรัส 2019-nCoV อาจกดดัน GDP จีนให้ขยายตัวเหลือเพียง 4.5%
  3. จำนวนนักท่องเที่ยวจีนไปท่องเที่ยวต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้นจาก 16.6 ล้านในปี 2002 เป็น 162 ล้านคน ในปี 2018 ดังนั้นหากการแพร่ระบาดของไวรัส2019-nCoVยังลุกลามจะส่งผลกระทบต่อภาคบริการของจีนค่อนข้างมาก

ดังนั้น จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เราจึงมีมุมมองว่าตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในเอเชียจะผันผวนมากในระยะสั้นประมาณ 1-3 เดือน เนื่องจาก เศรษฐกิจเอเชียมีการเชื่อมโยงกับประเทศจีนค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามธนาคารของประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียยังมีช่องว่างนโยบาย (Policy space) ในการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ จึงทำให้บรรเทาผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจลงได้บ้าง

ในส่วนของสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ แม้จะได้รับปัจจัยบวกจากความกังวลของนักลงทุน แต่ก็อาจเผชิญความเสี่ยงจากแรงขายทำกำไร และเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ที่มีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้น และน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากความต้องการใช้งานในภาคธุรกิจที่ลดลง ทั้งนี้สิ่งที่น่าจับตามอง อัตราการติดเชื้อของผู้ป่วยรายใหม่ส่งสัญญาณเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง และ จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มคงที่ เป็นการบ่งบอกว่าการแพร่เชื้อได้ยุติลง ซึ่งถือเป็นจังหวะที่บ่งชี้ถึงโอกาสเข้าลงทุนได้