ทุกอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลก Mckinsey ได้เผยรายงานประมาณการผลกระทบและการรับมือของแต่ละอุตสาหกรรม
ผลกระทบโดยภาพรวม
โดยรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาคบริการได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัส และนโยบายจำกัดการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศ ซึ่งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงจะไม่สามารถกลับมาได้จนกว่าจะควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้
และนับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของระบบห่วงโซ่อุปทานของโลก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่บริษัททั่วโลกควรพิจารณาคือการปิดโรงงานในประเทศจีนในไตรมาสที่ 1 หลังการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งควรเตรียมพร้อมรับมือกับการขาดแคลนวัตถุดิบและสินค้าคงคลัง
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาคบริการ
- การท่องเที่ยวจะชะลอตัวจนถึง ไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 โดยเฉพาะในเอเชียและยุโรป รวมถึงการใช้จ่ายที่ลดลงของนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งมีมูลค่ากว่า 277 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 17% ของการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวทั่วโลกในปี 2019 นอกจากนี้คาดว่าอุปสงค์ทั่วโลกอาจลดลงมากถึง 40% ทั่วโลกจนกว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้
- ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประเทศในยุโรปและเอเชีย–แปซิฟิก เนื่องจากมีการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวมากถึง 7-20% ของ GDP
- อุตสาหกรรมการให้บริการซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับผู้คน ในระยะสั้นต้องมีการป้องกันและเตรียมพร้อมสำหรับอุปสงค์ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการจัดการลดความเสี่ยงและทบทวนการวางแผนประจำปีเพื่อลดผลกระทบในระยะยาว
อุตสาหกรรมการบินและสายการบิน
- ภาคการบินอาจชะลอตัวถึงต้นไตรมาสที่ 4 หรือปลายไตรมาสที่ 3 หากสถานการณ์ดีขึ้น โดยเฉพาะในเมืองที่มีการแพร่ระบาดหนักอย่าง จีน อิหร่าน และเกาหลีใต้ จะเผชิญกับภาวะขาดทุนจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง เนื่องจากความกังวลต่อโรคระบาด รวมถึงนโยบายจำกัดการเดินทางที่ไม่จำเป็นและป้องกันการรวมตัวของคนหมู่มาก
- ผลกระทบต่อสายการบินจะแตกต่างกันไป สายการบินขนาดเล็กที่มีเงินทุนสำรองน้อยจะมีความเสี่ยงมาก แต่สำหรับสายการบินขนาดใหญ่จะมีชะลอตัวที่ยาวนานกว่า
- สำหรับนักท่องเที่ยวคาดว่าจะสามารถกลับมาเที่ยวภายในประเทศได้ภายใน 2 ไตรมาส และนอกประเทศ 3-4 ไตรมาส หรืออาจนานกว่านั้นหากเชื้อไวรัสวิวัฒนาการ
อุตสาหกรรมยานยนต์
- การแพร่ระบาดอย่างหนักในยุโรปทำให้การผลิตหยุดชะงัก ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตยานยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกและมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมถึง 6.1% ของการจ้างงานทั้งหมด ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตในประเทศจีนเริ่มฟื้นตัวกลับมาแล้ว
- อุตสาหกรรมยานยนต์ในมณฑลหูเป่ยซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาด ถือเป็น 9% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดของประเทศจีน การผลิตทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานจนกว่าจะสามารถกลับมาผลิตได้เต็มประสิทธิภาพ
สินค้าอุปโภคบริโภค
- ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะเริ่มกลับมาในไตรมาสที่ 2 และจะเพิ่มขึ้นเมื่อสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ โดยเห็นได้จากอุปสงค์ในประเทศจีนเริ่มกลับมาแล้วโดยเฉพาะบริการขนส่งและบริการส่งอาหาร
- ธุรกิจค้าปลีกในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจะเผชิญกับอุปสงค์ที่ลดลงอย่างมาก รวมถึงภาวะขาดแคลนสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียนที่จำกัด โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็ก–กลางอาจต้องปลดพนักงานหรือลดเงินเดือน
- รัฐบาลอาจต้องดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเลื่อนการจ่ายเงินเดือนของข้าราชการออกไปก่อน
- ธุรกิจค้าปลีกสามารถลดความเสี่ยงโดยกลยุทธ์ Omnichannel เพื่อปรับตัวตามแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภค
สินค้าอิเล็กทรอนิกส์
- มีแนวโน้วที่จะรุนแรงขึ้นในไตรมาสที่ 2 เนื่องจากภาวะวิกฤตของห่วงโซ่อุปทานและการขาดแคลนสินค้าคงคลัง
- เมืองอู่ฮั่นซึ่งศูนย์กลางการแพร่ระบาดและเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลักตอนกลางของจีนซึ่งผลิตสารกึ่งตัวนำและไฟเบอร์ออฟติก ทำให้เกิดวิกฤตห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกจากการปิดเมือง
- การส่งออก 28% ของเกาหลีใต้เป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ นำไปสู่การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน แม้ว่าอุตสาหกรรมในประเทศจีนจะเริ่มฟื้นฟูแล้ว
- การฟื้นฟูของภาคการผลิตขึ้นอยู่กับการกลับมาทำงานของภาคแรงงานและสินค้าคงคลัง (ประมาณ 2-6 สัปดาห์สำหรับสารกึ่งตัวนำ)
หมายเหตุ: รายงานประมาณการผลกระทบนี้เป็นเพียงมุมมองในเบื้องต้น เนื่องจากไวรัส COVID-19 อาจมีการวิวัฒนาการ
ที่มา Mckinsey