นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ และความร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชกัญชง ระหว่าง รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และนายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร
สำหรับข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ ช่วยเพิ่มรายได้และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกษตรกร ตลอดจนสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้ประชาชน
ทั้งนี้ CPF RD Center จะพัฒนานวัตกรรมอาหารโดยใช้จากสารสำคัญในพืชกัญชง ส่วนมหาวิทยาลัยแม่โจ้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการผลิตพืชกัญชงคุณภาพ จะมาช่วยวางระบบการจัดการวัตถุดิบกัญชง ซึ่งจะเป็นระบบพิเศษ ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ในระบบปิด เพื่อป้องกันโรคและแมลง และที่สำคัญต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงสายพันธุ์และแหล่งเพาะปลูกได้ เพื่อควบคุมเรื่องความปลอดภัยของอาหารซึ่งเป็นเป้าหมายการทำงานร่วมกันในครั้งนี้
“ผมคิดว่าเรื่องกัญชงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับประเทศไทย และประเทศไทยก็เปิดกว้างในเรื่องนี้ การวิจัยพัฒนาพืชกัญชงเป็นเรื่องท้าทาย แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายและยึดความปลอดภัยต่อผู้บริโภคเป็นหลัก การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารนั้นจะต้องรอประกาศขององค์การอาหารและยา (อย.) ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ก่อน จากนั้นคาดว่าจะพร้อมผลิตอาหารสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากกัญชงที่ดีต่อสุขภาพจะออกสู่ตลาดได้ภายในปีนี้”
ทั้งนี้ กัญชงถือเป็นพืชที่พิเศษ ที่รับประทานและดูดซับเข้าสู่ร่างกายได้ 100% ทั้งยังมีคุณค่าสารสำคัญมากมาย อาทิ CBD ที่งานวิจัยในต่างประเทศพบว่ามีประโยชน์ต่อระบบประสาทและสมอง ระบบหัวใจ สารกลุ่มเทอร์ปีนช่วยผ่อนคลาย และสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ส่วนเมล็ดกัญชงเป็นแหล่งโปรตีนที่มีกรดอะมิโนจำเป็นต่อร่างกายรวมถึงมีไขมันโอเมก้า 3, 6, 9 ส่วนกากเมล็ดกัญชงสามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ได้อีกด้วย
วิจัยพัฒนาแบบครบวงจร
รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระบุว่า มหาวิทยาลัยได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชงและกัญชามาตั้งแต่ปี 2554 การลงนามความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาพันธุ์ การผลิต ต่อยอดไปสู่การแปรรูปทั้งเวชภัณฑ์ อาหารสัตว์ เครื่องสำอาง เนื่องจาก CPF มีโนว์ฮาวและเทคโนโลยีช่วยต่อยอดในทุกด้านซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อวงการการศึกษาของไทย
สำหรับความร่วมมือในการวิจัยพัฒนากัญชงอย่างครบวงจรตั้งแต่สายพันธุ์ การเพาะปลูก ไปจนถึงการแปรรูปเป็นอาหารนี้ จะสร้างประโยชน์ให้เกษตรกรมีสายพันธุ์และเทคนิควิธีดูแลพืชอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการในวิถีอินทรีย์ และนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นอาหารสำเร็จรูป จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อห่วงโซ่การผลิตทั้งระบบเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของประเทศ ตอกย้ำวิสัยทัศน์ครัวของโลกได้เป็นอย่างดี
ที่มา