Site icon Thumbsup

CP-Meiji เดินหน้ายกระดับบาริสต้าไทยสู่สากล จัดเวทีแข่งขันลาเต้อาร์ตออนไลน์ครั้งแรกของโลก

วัฒนธรรมการดื่มกาแฟ (Coffee Culture) ในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนไปมาก เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการมากกว่าพลังงานจากคาเฟอีน การเลือกเครื่องดื่มมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์เมล็ดกาแฟ กลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ รสสัมผัสของกาแฟ รวมถึงหน้าตาที่สวยงาม

ในกาแฟหนึ่งแก้ว นอกจากรสชาติที่ดีแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้คือความสวยงามที่จะช่วยสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า ซึ่ง ‘ลาเต้อาร์ต’ หรือการสร้างสรรค์ศิลปะเป็นลวดลายจากโฟมนมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับกาแฟ อีกทั้งยังเป็นความท้าทายของเหล่าบาริสต้าที่ต้องใช้ทั้งทักษะและประสบการณ์อย่างมาก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เวทีการแข่งลาเต้อาร์ตได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งจากทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย จึงมีเวทีการแข่งขันเกิดขึ้นมากมาย ในประเทศไทยยังไม่มีเวทีแข่งขันที่มีมาตรฐานระดับโลก จึงกลายเป็นที่มาของเวทีการแข่งขัน CP-Meiji Speed Latte Art Championship ที่มีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบาริสต้าไทยสู่ระดับสากล และในปีนี้ได้มีการพัฒนาไปอีกขั้นเป็นเวที CP-Meiji E-Speed Latte Art Championship 2020 ซึ่งเป็นเวทีแข่งขันลาเต้อาร์ตออนไลน์ครั้งแรกของโลก

Thumbsup ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณชาลินี พูนลาภมงคล จากซีพี-เมจิผู้อยู่เบื้องหลังเวที CP-Meiji E-Speed Latte Art Championship 2020 และคณะกรรมการผู้ตัดสินในเวทีนี้ได้แก่ คุณสุธิณี อมรพัฒนกุล กรรมการเวทีลาเต้อาร์ตชิงแชมป์โลก, คุณอสมา วิชัยดิษฐ กรรมการเวทีลาเต้อาร์ตชิงแชมป์โลก, คุณอานนท์ ธิติประเสริฐ แชมป์ลาเต้อาร์ตโลกปี 2017, และคุณศุภชัย สว่างอำไพ แชมป์ลาเต้อาร์ตประเทศไทยปี 2018

จากซ้ายไปขวา: คุณอานนท์ ธิติประเสริฐ, คุณอสมา วิชัยดิษฐ, คุณชาลินี พูนลาภมงคล, คุณสุธิณี อมรพัฒนกุล, และคุณศุภชัย สว่างอำไพ

ธุรกิจกาแฟเติบโตแบบก้าวกระโดด

คุณชาลินี ได้เปิดเผยถึงที่มาของเวทีการแข่งขันนี้ว่า “สำหรับซีพี-เมจิ นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์หลักอย่างนมและโยเกิร์ตให้มีคุณภาพดีแล้ว บริษัทได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจกาแฟซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี”

คุณอสมา เล่าว่า “การที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการดื่มกาแฟ (Coffee Culture) ช่วยให้ด้านผู้ผลิตอย่างร้านกาแฟหรือบาริสต้าสามารถคัดสรรเมล็ดกาแฟคุณภาพจากต่างประเทศได้มากขึ้น ทำให้ธุรกิจกาแฟเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการเกื้อหนุนกันทั้งสองฝ่าย”

ซีพี-เมจิ จึงเล็งเห็นว่า บุคลากรในธุรกิจกาแฟจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาไปพร้อมๆ กับการขยายตัวของธุรกิจ จึงได้เริ่มจัดโครงการ CP-Meiji for Barista ในปี 2015 เพื่อพัฒนาทักษะและศักยภาพให้กับบาริสต้า ซึ่งเป็นเบื้องหลังของธุรกิจกาแฟและผู้สร้างสรรค์เมนูเครื่องดื่มต่างๆ

สำหรับโครงการ CP-Meiji for Barista ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ได้จัดกิจกรรมต่างๆ มากมาย ทั้ง CP-Meiji Barista Camp แคมป์อบรมบาริสต้าโดยกรรมการและแชมป์ลาเต้อาร์ตจากเวทีระดับโลก, CP-Meiji Speed Latte Art Championship เวทีประลองฝีมือและความเร็วด้านลาเต้อาร์ต เป็นต้น

ความท้าทายของงานในยุค New Normal

ในปี 2020 นี้ ซีพี-เมจิ ได้ปรับรูปแบบการแข่งขันให้เหมาะสมกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และยังเป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี โดยผู้เข้าแข่งขันสามารถแข่งขันจากร้านกาแฟของตัวเองได้ทุกที่ในประเทศไทย และมีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook: CP-Meiji for Barista ในรอบ 64 คนสุดท้าย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในเวทีการแข่งขันกาแฟของไทยและของโลก

คุณศุภชัย กล่าวว่า “การแข่งขันในรูปแบบออนไลน์ช่วยเปิดโลกให้กับเวทีการแข่งขันอื่นๆ ซึ่งสามารถต่อยอดได้อีกหลากหลายรูปแบบ เป็นการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสช่วยสร้างศักยภาพใหม่ๆ ให้กับการแข่งขันในอนาคต”

“แม้ว่าอุปสรรคสำคัญของการแข่งขันออนไลน์คือสัญญาณที่ไม่สามารถควบคุมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้อาจเกิดการดีเลย์ หรือเหตุขัดข้องอื่นๆ แต่พอเตรียมการมาดีทุกอย่างก็ผ่านมาได้อย่างราบรื่น” คุณชาลินี กล่าวเสริม

แม้รูปแบบในปีนี้จะเปลี่ยนไปแต่เวทีการแข่งขันยังคงรักษาจุดเด่นและเอกลักษณ์ไว้ นั่นก็คือการแข่งขันด้านความเร็วและลายวงล้อซึ่งเป็นลายของแชมป์โลกในแต่ละปีมาเป็นความท้าทายให้กับผู้เข้าแข่งขัน

ยกระดับบาริสต้าไทยสู่เวทีสากล

การเทลาเต้อาร์ตบ่งบอกถึงความสามารถของบาริสต้ามากกว่าการเทลวดลาย เพราะกาแฟหนึ่งแก้วมีรายละเอียดตั้งแต่การเตรียมช็อตกาแฟ การสตีมนม ปริมาณนม การเทลาย ซึ่งทุกขั้นตอนมีความเชื่อมโยงกัน

“อีกหนึ่งปัจจัยคือความเร็วเพราะชื่อของงานคือ Speed Latte Art นอกจากสวยแล้วต้องเร็วด้วย เพราะเราคงไม่อยากรอกาแฟแก้วหนึ่งเป็นเวลานาน นอกจากนั้นสิ่งสำคัญคือไม่อยากให้บาริสต้าลืมพื้นฐานของกาแฟ คือ ความอร่อย ความสะอาด เพราะสุดท้ายแม้ว่ากาแฟจะมีหน้าตาที่สวยงาม แต่รสชาติไม่อร่อยก็ไม่มีประโยชน์” คุณอานนท์ กล่าว

ซึ่งในปีนี้ ผู้ชนะเลิศอันดับหนึ่งได้แก่ คุณวสุวิท ศรีคัมโพธิ์, รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ คุณพลาทูน เสียงเจริญ, รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ คุณสิทธิชัย รุจากุลเฉลิม, และรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ คุณสิทธิศักดิ์ บุญแก้ว คว้ารางวัลมูลค่ารวมกว่า 300,000 บาท

สุดท้ายนี้คุณชาลินี กล่าวว่า “เราภูมิใจที่โครงการ CP-Meiji for Barista ได้สร้าง ส่งเสริม และพัฒนาบาริสต้ารุ่นใหม่ของไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บาริสต้าที่ผ่านเวทีแข่งขันและแคมป์ของซีพี-เมจิ ได้เป็นแชมป์ระดับประเทศและระดับนานาชาติ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในเวทีกาแฟสากล ซีพี-เมจิ จะไม่หยุดนิ่งในการสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อพัฒนาบาริสต้าและร่วมขับเคลื่อนธุรกิจกาแฟของไทยให้เติบโตแข็งแรงต่อไป”