ต้องเรียกว่าคนรุ่นใหม่ชอบทำงานกันมากขึ้น ทำให้นายทุนหลายธุรกิจต่างก็จับโอกาสนี้กันไม่หยุด ทั้งรูปแบบสตาร์ทอัพ หรือการลงทุนของเจ้าของธุรกิจใหญ่ อย่างการเข้ามาจับตลาดโคเวิร์กกิ้งสเปซของ CPN ในครั้งนี้ ก็เป็นเพราะมองเห็นเทรนด์นี้ ที่โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดร. ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากวิสัยทัศน์การสร้าง Center of Life ของเรา ในการเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ จึงขยายไลน์ธุรกิจใหม่แบรนด์ ‘คอมมอน กราวด์’ (Common Ground) โคเวิร์กกิ้งสเปซเต็มรูปแบบ
เพื่อเป็น the New Generation of Innovative Coworking Community หรือ คอมมูนิตี้เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการหัวคิดใหม่ที่ดีที่สุด แห่งแรกในไทย ด้วยการร่วมทุนกับ คอมมอน กราวด์ กรุ๊ป แบรนด์โคเวิร์กกิ้งสเปซที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยตั้งเป้าทุ่มงบ 800 ล้านบาท เปิด 20 สาขา ใน 5 ปี เปิดสาขาแรกต้นปีหน้าที่เซ็นทรัลเวิร์ล เพื่อตอบรับเทรนด์ coworking space และ sharing economy กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ใน 10 ปีข้างหน้า และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของธุรกิจโคเวิร์กกิ้งแห่งใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เทรนด์ของโคเวิร์คกิ้งสเปซในไทย
ปัจจุบันมีกลุ่มบริษัทโคเวิร์กกิ้งสเปซระดับนานาชาติจากต่างประเทศ หันมาปักหมุดและลงทุนในประเทศไทย โดยปัจจัยหลัก 2 ประการ คือ
- เมกะเทรนด์ที่ไลฟ์สไตล์การทำงานของผู้คนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไปตาม Technology และ Flexibility โดยต้องการพื้นที่ทำงานที่มีความเป็น Collaborative Workspace รวมถึงการลดต้นทุนทางธุรกิจทำให้รูปแบบการทำงานของผู้ประกอบการ และบริษัทใหญ่ๆ ทั่วโลกจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยคาดว่าตลาด coworking space ในเอเชีย จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 30% ในปี 2030 จากปัจจุบันที่มีตลาดอยู่ที่ 2%
- อัตราการเติบโตของตัวเลขเอสเอ็มอีในประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตสูง 8-10% ต่อปี มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยกว่า 1 ใน 6 มีธุรกิจอยู่ในกรุงเทพฯ หรือคิดเป็นกว่า 500,000 ราย โดยเอสเอ็มอีเหล่านี้ ล้วนแต่มองหาสถานที่ทำงานในทำเลที่ดี หรือ prime location แต่การเข้าถึงออฟฟิศให้เช่าเกรด A ในกรุงเทพฯ เป็นไปได้ยากและมีราคาสูง เช่นเดียวกับบริษัทใหญ่ๆ ที่ต้องการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ทำให้โคเวิร์กกิ้งในรูปแบบของ ‘คอมมอน กราวด์’ จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในเข้าถึงสถานที่ทำงานรูปแบบใหม่ หรือ โคเวิร์กกิ้งสเปซที่เต็มไปด้วยบริการมาตรฐานเกรด A แต่ยังตั้งอยู่ในทำเลศักยภาพเปี่ยมไปด้วยเครือข่ายทางธุรกิจ
มร. เออร์แมน อะคินซี หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งคอมมอน กราวด์ และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของคอมมอน กราวด์ เผยว่า การเปิดตัวคอมมอน กราวด์ในประเทศไทย ถือเป็นการเปิดตัวในต่างประเทศเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคนี้ โดยจะเป็นรีจินัลแฟลกชิพแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยขนาดพื้นที่ถึง 4,500 ตร.ม. ซึ่งจะตั้งอยู่ใน Bangkok CBD
สำหรับโคเวิร์กกิ้งสเปซรูปแบบใหม่นี้จะทำให้ผู้ประกอบการหรือบริษัทใหญ่ต่างๆ สามารถลดต้นทุน เนื่องจากไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างออฟฟิศแบบถาวร ตั้งอยู่ใน Prime location ทำให้ติดต่องานและหมุนเวียนเปลี่ยนโลเคชั่นได้สะดวก อีกทั้ง มีความแตกต่างจากโคเวิร์กกิ้งสเปซอื่นๆ
ด้วยจุดเด่นในการมอบไลฟ์สไตล์ที่ครบครันและสมบูรณ์แบบ (Enrich Lifestyle) โลเคชั่นที่ใกล้กับศูนย์การค้าพร้อมสิทธิประโยชน์มากมายจากพันธมิตรทางธุรกิจและแบรนด์ต่างๆ ทั้งแฟชั่นไลฟ์สไตล์ ร้านอาหาร ธนาคาร ฟิตเนส ที่จอดรถ ร่วมด้วยกิจกรรมอีเว้นต์และไลฟ์สไตล์เวิร์กช็อปมากมาย
พร้อมต่อยอดการเติบโตทางธุรกิจ (Expand Business through our deep partnerships) ด้วยการได้ทดลองทำตลาด ทำจริง ขายจริงในศูนย์การค้าของซีพีเอ็น และธุรกิจอื่นๆ ของกลุ่มเซ็นทรัล
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถใช้บริการได้ในทุกสาขาทั่วโลก และเพิ่มคอนเนคชั่นทางธุรกิจที่เปิดกว้างและหลากหลายกว่า
สำหรับแผนการลงทุนของคอมมอน กราวด์กรุ๊ปในระดับภูมิภาคว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้านั้น ตั้งเป้าเติบโตกว่า 3 เท่าทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับประเทศไทย จะมีจำนวนสาขาทั่วประเทศ กว่า 20 สาขา
โดยกว่า 10 สาขาจะตั้งอยู่บน Prime Location ในกรุงเทพฯ ที่อยู่ในอาคารสำนักงานที่เชื่อมต่อกับศูนย์การค้าของซีพีเอ็น หรืออาคารสำนักงานให้เช่าอื่นๆ รวมถึงสาขาในหัวเมืองสำคัญ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และ พัทยา เป็นต้น ทำให้ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการในโลเคชั่นของเราได้ทั้งในและต่างประเทศ
ทางด้านของกลุ่มเป้าหมายที่จะมาใช้บริการ คาดว่าจะเป็นกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ อย่างเช่น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มสตาร์ทอัพและฟรีแลนซ์ 80% และกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความต้องการทำงานในโคเวิร์กกิ้งสเปซ 20%
6 เทรนด์โคเวิร์กกิ้งสเปซที่จะเกิดขึ้นในปี 2019 ทั่วโลก ได้แก่
ในระดับนักลงทุนธุรกิจโคเวิร์กกิ้ง
- เทรนด์การเข้ามาลงทุนทำ Coworking space จะเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความครบครันให้กับโครงการในรูปแบบมิกซ์ยูสของกลุ่มบริษัทอสังหาริมทัพย์
- เทรนด์โลคัลแอคโกลบอล หรือ การผสมผสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของผู้ประกอบการในท้องถิ่นเข้ากับความเชี่ยวชาญการจัดการในระดับนานาชาติจากโกลบอลแบรนด์
ในระดับผู้ประกอบการยุคใหม่
- กระแส Work-Life Balance ในคนยุคใหม่
- เทรนด์การชอบใช้พื้นที่การทำงานที่สามารถปรับเปลี่ยนได้และช่วยจุดประกายต่อยอดโอกาสธุรกิจ (Flexible & Hyper Competitive Space)
- เทรนด์ความต้องการเชื่อมต่อเน็ตเวิร์กด้วยเทคโนโลยีและระบบบล็อคเชนในพื้นที่การทำงานและ
- เทรนด์ที่กลุ่มบริษัทใหญ่ๆ (Corporate) เริ่มมองหาพื้นที่การทำงานในรูปแบบใหม่เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ให้กับองค์กรรวมถึงเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ
ความเป็นมาของ Common Ground
Common Ground ก่อตั้งโดยเออร์แมน อะคินซี และจุน เตียว และเป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซสัญชาติมาเลเซียที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สร้างชุมชนโคเวิร์กกิ้งสเปซแบบบูรณาการที่ยั่งยืน จากการต่อยอดจากสโลแกนที่ว่า “ความใฝ่ฝันมีอยู่ที่นี่ (Ambition Lives Here)”
โคเวิร์กกิ้งสเปซเชื่อมโยงชุมชนผ่านพอร์ทัลและแอปพลิเคชันของสมาชิกที่เรียกว่า Ambition Engine ซึ่งช่วยให้สมาชิกสามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นภายในชุมชนได้ทั่วทุกสาขานอกเหนือจากงานอีเวนต์พบปะรายสัปดาห์สมาชิกยังได้รับประโยชน์จากบริการที่ได้รับจากพันธมิตรด้านไลฟ์สไตล์ของคอมมอนกราวด์อีกด้วย
ก่อตั้งขึ้นในเดือนมีนาคมปี 2017 มีสมาชิกกว่า 1,400 คนในหกสาขาซึ่งอยู่ใน กัวลาลัมเปอร์ และเมืองใกล้เคียง โดยมีแผนที่จะเปิดให้ครบ 15 สาขาทั่วมาเลเซียภายในปี 2018 และล่าสุดได้ขยายธุรกิจไปสู่ระดับภูมิภาคประเทศไทย และฟิลิปปินส์