ไม่ปรับตัวไม่ได้แล้ว สำหรับห้างสรรพสินค้าชั้นนำระดับประเทศอย่าง CPN ที่วันนี้มีการแถลงข่าวกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ 5 ปี ไม่ว่าจะเป็น การขยายสาขาและปรับปรุงสาขาทั้งในและต่างประเทศ ขยายธุรกิจไปพร้อมประกาศใช้งบไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท เสริมประสบการณ์ดิจิทัลให้ลูกค้าอย่างเต็มที่
คุณปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แถลงวิสัยทัศน์ 5 ปี (2018-2022) ของ CPN สร้างเทรนด์รีเทลด้วยแนวคิด “Co-Create Center of Life” ด้วย 3 กลยุทธ์คือ การสร้าง Destination Concepts, Digital Platform, และ Partnerships โดยจะใช้งบกว่า 1 แสนล้านบาทภายในระยะเวลา 5 ปี เพื่อสร้าง ‘The New Landscape’ ของวงการค้าปลีก
สำหรับการปรับตัวครั้งใหญ่ของเซ็นทรัลนั้น คงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะถึงอย่างไรห้างสรรพสินค้าชั้นนำในไทยที่ไม่ว่าใครก็อยากเข้ามาสัมผัสคงหนีไม่พ้นห้างสรรพสินค้าในประเทศไทย ที่แต่ละรายแข่งกันด้วยความสวยงามของสถานที่ ความคุ้มค่าของการมาสัมผัสแฟชั่น และแน่นอนอีกสิ่งที่จะมาช่วยเสริมประสบการณ์คือเรื่องของเทคโนโลยี
โดยเรื่องนี้ คุณปรีชาได้แสดงความคิดเห็นว่า ในอนาคต เรื่องของ Big Data จะเข้ามามีบทบาทมากในการเสริมความแข็งแรงของธุรกิจ เราได้ร่วมมือกับ Central group ในเรื่อง digital หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาแอป the1card ที่มีฐานลูกค้าในมือกว่า 12 ล้านราย มาวิเคราะห์ความต้องการและเข้าใจเรื่องการใช้จ่ายของลูกค้าได้ดีขึ้น เช่น เมื่อลูกค้าเข้ามาห้างปุ๊บ นอกจากจะทราบโปรโมชั่นแล้ว ถ้าไม่สะดวกมาก็สามารถสั่งซื้อออนไลน์และมารับของวันหลังได้ ตอบโจทย์ในเรื่องของ Customer experience ให้มากที่สุด
หรือหากลูกค้าชาวไทยและนักท่องเที่ยวต้องการแผนที่ร้านค้าในห้าง จะมี lay out ร้านค้าแต่ละจุดแสดงให้ทราบโดยไม่ต้องมองหาแผนที่ให้วุ่นวาย การจองที่จอดรถ ร้านอาหารหรือบริการไลฟ์สไตล์ต่างๆ สามารถทำได้ผ่านมือถือทั้งสิ้น
“รวมทั้งมีความร่วมมือกับทุกธนาคารให้สามารถใช้จ่ายผ่าน QR Code ได้ หรือนักท่องเที่ยวชาวจีนจะซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มของ wechat และ Alipay ของร้านค้าในห้างก็ทำได้เช่นกัน”
นอกจากนี้ ยังมีพันธมิตรที่แข็งแรงอย่าง Central JD ที่จะเข้ามาช่วยเสริมเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ หรือเทคโนโลยีใหม่ ประสบการณ์ลูกค้าและการพัฒนาระบบต่างๆ ให้ดีขึ้นร่วมกัน
ปัจจุบัน ทาง CPN มีการทำระบบบริหาร ลีสซิ่งและลงทุน fiber optic อยู่แล้ว แต่จะเสริมในเรื่องของ physical store ในปีนี้ โดยใช้งบลงทุนไอทีรวมแล้วไม่น้อยกว่าหลักร้อยล้านบาท เพื่อผสมผสานระบบให้ครบวงจรขึ้น ทั้ง payment, invoice, shopper experience และ application
“การที่เราลงทุนออนไลน์ช้าไม่ใช่กลัวตกเทรนด์ แต่เพราะมองว่าถึงจะเป็นธุรกิจดั้งเดิมหรือยุคใหม่มันก็เชื่อมโยงกันอยู่ดี ไม่มีอะไรที่จะมาทดแทนกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ มีหลายคนมองว่าออนไลน์จะเข้ามาแทน physical ซึ่งเป็นไปไม่ได้ คุณจะเห็นธุรกิจออนไลน์หลายที่ต้องลงทุนจุดออฟไลน์เพิ่มเสริมประสบการณ์ด้วย เพราะยังไงมนุษย์ต้องการใช้ชีวิตและออกไปมีประสบการณ์ 90% ของคนชอบซื้อแบบ physical มากกว่า ส่วน online คือการเสริมประสบการณ์เท่านั้น”
รวมทั้งการลงทุนทำ online ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นแบรนด์ใหญ่ยิ่งยาก เพราะความคาดหวังจะสูง ดังนั้นต้องทำแบบผสมผสานดีกว่า จับความต้องการของลูกค้าและผสมผสานทั้งสองแพลตฟอร์ม รวมทั้งสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาผนวกกัน ย่อมเป็นเรื่องที่ดี
เป็นอีกหนึ่งความคิดเห็นที่น่าสนใจทีเดียวนะคะ ใครที่เคยยึดติดว่าโลกออนไลน์คือทั้งหมดของคนยุคใหม่ แต่อาจไม่ใช่ทั้งหมด เพราะถึงอย่างไรมนุษย์เราก็ต้องการออกไปใช้ชีวิต ออกไปค้นหาประสบการณ์และสร้างสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ รวมทั้งโลกของเทคโนโลยีก็ไม่มีวันหยุดนิ่ง สิ่งใหม่ๆ จะเข้ามาอัพเดทสิ่งเดิมเสมอ อยู่ที่ธุรกิจจะกล้าลงมือทำกันหรือยัง