การอยู่รอดของธุรกิจในยุคที่โลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทั้งกระแสการดิสรัพของเทคโนโลยี พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคน รวมไปถึงการใช้จ่ายประจำวัน แปรเปลี่ยนไปหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การเชื่อมั่นภักดีต่อแบรนด์ การตัดสินใจซื้อ หรือการเข้าถึงสินค้า ไม่ได้จำกัดว่าจะอยู่บนแพลตฟอร์มใดอีกแล้ว
ทุกการใช้จ่ายเลือกได้
เพราะคนไทยเลือกกินอาหารนอกบ้านมากขึ้น รวมทั้งเลือกซื้ออาหารสำเร็จรูปแบบจานด่วนผ่านหน้าร้านสะดวกซื้อมากขึ้น ทำให้เป็นโอกาสของธุรกิจ CPRAM โตต่อเนื่องได้ทุกปี
นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด เล่าว่า ภาพรวมธุรกิจของซีพีแรมโตไม่น้อยกว่า 10% ต่อเนื่องทุกปี โดยปี 2018 ทำรายได้ 17,000 ล้านบาทตามเป้าที่วางไว้ ส่วนปี 2019 ก็ตั้งเป้า 20,000 ล้านบาท คิดว่าจะทำตามเป้าได้ไม่ยาก แต่กลยุทธ์จะใช้เทคโนโลยีมาปรับใช้ในการวิเคราะห์คนมากขึ้น
“เราจะปรับเมนูให้เหมาะกับกลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งผู้สูงวัย เด็ก คนรักสุขภาพ แต่ยังรักษารสชาติให้ดีเหมือนปรุงสุกใหม่ ด้วยการขยายการผลิตไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น เพื่อเอาใจพฤติกรรมที่หลากหลายของคนแต่ละกลุ่ม”
บริษัทมีการตั้งโรงงานใหม่อีก 5 แห่ง 2 แห่งในที่ตั้งใหม่คือ โรงงานลำพูน และโรงงานสุราษฎร์ธานี และอีก 3 แห่งในที่ตั้งเดิม คือโรงงานชลบุรี โรงงานขอนแก่น และโรงงานบ่อเงิน จังหวัดปทุมธานี ด้วยงบลงทุน 4,000 ล้านบาท
ปัจจุบันได้สร้างแล้วเสร็จ ซึ่งมีกำลังการผลิตอาหารพร้อมรับประทานแช่เย็น และแช่เยือกแข็ง เพิ่มขึ้นอีก 50-70% รองรับการขยายตัวของตลาดที่เพิ่มขึ้น
ช่วยให้อาหารที่ผลิตออกจากโรงงานกระจายไปสู่ร้านค้าในเวลาสั้นลงจากเดิมต้องใช้เวลา 6-7 ชม. ลดเหลือ 2-3 ชม.เท่านั้น
ลงทุนต่อเนื่องให้ทำงานดีข้ึน
CPRAM ยังคงวางแผนเรื่องการลงทุนท่ีต่อเนื่อง เพื่อก้าวให้ทันยุคที่เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมากขึ้น โดยปกติแต่ละปีจะใช้ 150-200 ล้านบาทในการรักษามาตรฐานในการผลิต แต่ปีนี้ที่ใช้เงินเยอะเพราะไปลงในด้านของเทคโนโลยี โรงงาน ศูนย์วิจัยต่างๆ เป็นการลงทุนล่วงหน้า 5 ปี เพื่อให้มีรายได้แตะ 30,000 ล้านบาท เชื่อว่าทำได้ไม่ยาก
ความโชคดีของธุรกิจอาหารคือ ภาครัฐยังคงสนับสนุนต่อเนื่อง และให้ความสำคัญกับกลุ่มเกษตรกร เพราะนอกจากความเป็นอยู่ที่ดี ก็จะช่วยรักษามาตรฐานในการทำงานให้ดีขึ้นด้วย
ด้านการส่งออกต่างประเทศ ก็ยังทรงตัวไม่ได้มีตัวเลขเติบโตที่สูงมาก เป็นการรักษาฐานลูกค้าเดิมได้อยู่ แต่บริษัทจะมองเรื่องของชุมชนในต่างประเทศมากขึ้น เห็นได้จากปีที่ผ่านมา บริษัทให้ความสนใจชาวจีนที่อาศัยในแคนาดา เพราะพฤติกรรมการกินอาหารจะชอบรสชาติที่ใกล้เคียงกัน
ซึ่งขณะนี้มีการส่งออกไปแล้วกว่า 14 ประเทศ แต่ก็ยังมองหาประเทศใหม่ๆ ซึ่งกำลังซื้อในประเทศก็ยังดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะสะดวกในการหาซื้อ และคนยุคใหม่ชอบความสะดวกรวดเร็ว กินเมื่อไหร่ก็ได้ จึงเป็นโอกาสของบริษัทที่มีการเติบโตที่ดี
ยุคที่ 7 คือ “ยุคศรีอัจฉริยะ”
ซีพีแรมเดินทางมาถึงปัจจุบันเป็น ยุคที่ 7 คือ “ยุคศรีอัจฉริยะ“ แต่ละยุคใช้เวลา 5 ปี ทำให้ในยุคนี้ซีพีแรมยกระดับขีดความสามารถขององค์กรด้วย CPRAM 4.0 ขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยี และเป็นผู้นำ 3S (FOOD SAFETY, FOOD SECURITY, FOOD SUSTAINABILITY) สู่ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมอาหารของโลก
รวมถึงกำหนดยุทธศาสตร์องค์กรยุคที่ 7 ระยะ 5 ปีด้วย “CPRAM Transformation Roadmap” ซึ่งประกอบด้วย
- Organization Transformation,
- New Business (Vending machine, Catering Service),
- Digitalization, Robotization,
- และจัดตั้ง FTEC (Food Technology Exchange Center)
ในปี 2019 ด้วยกลยุทธ์การขยายตลาดทั้งเชิงลึกตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของผู้บริโภค และเชิงกว้างสู่ภูมิภาคทั่วประเทศไทย
บริษัทมีสัดส่วนการยอดขายอาหารพร้อมรับประทาน 65% และเบเกอรี่ 35% ด้วยผลิตภัณฑ์กว่า 900 SKUs
โดยมีสินค้าและบริการในกลุ่มบริษัท ซีพีแรม จำกัด อาทิ แบรนด์เจด ดราก้อน, แบรนด์เลอแปง, แบรนด์เดลี่ไทย, แบรนด์เดลิกาเซีย, แบรนด์ ซีพีแรม แคทเทอริ่ง, และแบรนด์ฟู้ดดี้ดี เป็นต้น
จำหน่ายผ่านช่องทางร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และร้านค้าชั้นนำทั่วประเทศ กว่า 20,000 แห่ง รวมถึงส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก
นอกจากนี้ ซีพีแรมเตรียมจัดตั้ง FTEC (Food Technology Exchange Center) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสร้างความร่วมมือ และประสานงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมอาหาร ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน
ประกอบด้วยนักวิจัย นักพัฒนา และผู้ใช้ ใน 3 เทคโนโลยีสำคัญ ได้แก่ Biotech, Digitech และ Robotech สู่ความยั่งยืนของอาหาร รวมถึงเป็นการยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมอาหารไทยตั้งแต่ต้นน้ำจวบจนถึงปลายน้ำ
FTEC ยังมีผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศในการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ กับเทคโนโลยี เข้าด้วยกันเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุดในการร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร
นอกจากนี้ ซีพีแรมยังวางการใช้เงิน 1% ของยอดขายหรือปีละ 150-200 ล้านบาท ทุ่มให้กับการวิจัยและพัฒนาให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมของตนเอง เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ ยกระดับองค์กรสู่ CPRAM 4.0 รวมถึงยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของภูมิภาคเอเซีย
กลุ่มผู้สูงวัยยังให้ความสำคัญ
นายวิเศษ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากการที่สังคมไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างชัดเจน ซีพีแรมจึงได้พัฒนาสินค้าออกมาตอบสนองความต้องการกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งตอนนี้ทำออกมาวางตลาดแล้วคือ ข้าวต้มผู้สูงวัย มีคุณสมบัติเคี้ยวแหลกง่ายดูดซึมได้ดีและมีคุณค่าทางโภชนาการที่ผู้สูงอายุต้องการ เป็นเพราะกลุ่มผู้สูงอายุต้องการกินอาหารไม่เหมือนคนปกติ
นอกจากนี้ ซีพีแรมยังได้พัฒนาอาหารสุขภาพและอาหารสำหรับบุคคลเฉพาะกลุ่ม เข้าไปตอบโจทย์ความต้องการ อาทิ กลุ่มผู้ป่วยหรือมีโรคประจำตัว ซึ่งต้องการอาหารคุณสมบัติพิเศษ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ต้องการอาหารที่หวานน้อย หรืออาหารมีความหวานปกติ แต่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วอัตราการดูดซึมความหวานต่ำ ไม่ทำให้ปริมาณน้ำตาลในร่างกายปรับเพิ่มขึ้น เป็นต้น