การไม่มีรูปโปรไฟล์หรือใช้รูปเก่าและไม่ชัดเจน และการใช้หัวข้อที่น่าเบื่อหรือมีการสะกดคำผิด เป็น 2 ใน 5 เหตุผลที่ทำให้ผู้สมัครส่วนใหญ่พลาดโอกาสในการหาตำแหน่งงานเพราะถูกฝ่ายบุคคลมองข้ามไปและไม่คลิกชมโปรไฟล์บน LinkedIn ดังนั้นเพื่อเลี่ยงความไร้เสน่ห์ทั้งปวง เราจึงขอนำเสนอเคล็ดวิธีสร้าง Profile บน Linkedin ให้โดดเด่นสะดุดตาผ่าน Infographic นี้
หากให้ลองนึกถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ชื่อดังระดับโลกในเวลานี้ เชื่อว่าจะต้องมีโซเชียลมีเดียอย่าง Linkedin รวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน ซึ่งปัจจุบัน Linkedin ไม่เพียงเป็นโซเชียลมีเดียที่เน้นการใช้งานด้านเครือข่ายธุรกิจ และสร้างเครือข่ายทางด้านวิชาชีพเป็นหลักเท่านั้น แต่ยังเป็นสื่อกลางที่ใช้ในการพบปะและติดต่อกันระหว่างบริษัทจัดหางานและผู้สมัครงานอีกด้วย
เว็บไซต์ Bullhorn.com ได้ทำการสำรวจข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นบริษัทจัดหางานในสหรัฐฯมากกว่า 160,000 บริษัทพบว่า ปัจจุบันบริษัทจัดหางานกว่า 97% ใช้ Linkedin เพื่อเป็นช่องทางหลักในการค้นหาผู้สมัครงาน ในขณะที่โซเชียลมีเดียรูปแบบอื่นอย่าง Facebook กลับถูกใช้เพื่อค้นหาผู้สมัครงานเพียงแค่ 22% และ Twitter 27% เท่านั้น
ธุรกิจ 7 ประเภทที่นิยมค้นหาผู้สมัครบน Linkedin ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT), การเงินและการธนาคาร, ธุรกิจสุขภาพ, การผลิต (Manufacturing), วิศวกร, การขาย และธุรการ และเพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่กำลังมองหาตำแหน่งงานผ่าน Linkedin วันนี้มีเราคำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางในการนำเสนอโปรไฟล์ให้น่าสนใจมาฝากกัน
องค์ประกอบสำคัญในการนำเสนอโปรไฟล์ให้น่าสนใจและดูเป็นมือาชีพประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่
- ภาพถ่าย (Photo) ภาพถ่ายที่ใช้ควรเป็นภาพถ่ายที่มองเห็นหน้าตาได้อย่างชัดเจน รวมถึงใช้พื้นหลังเรียบไม่ฉูดฉาด และควรเป็นภาพถ่ายในลักษณะ Headshot หรือถ่ายตั้งแต่ช่วงไหล่ขึ้นไป
- หัวข้อ (Headline) ควรมีการรระบุถึงหน้าที่ในการทำงานเพิ่มเติมจากตำแหน่งงานและชื่อบริษัท
- คีย์เวิร์ด (Keyword) ต้องมีความหลากหลายและสามารถสื่อสารได้ตรงกับตำแหน่งงานที่ต้องการ
- สามารถมองเห็นได้ (Visibility) หมายถึง การตั้งโปรไฟล์ให้เป็นสาธารณะ (Public) ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงโปรไฟล์ของผู้สมัครงานได้ อีกทั้งยังควรอัพเดตโปรไฟล์อยู่เป็นประจำและมีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายอยู่เสมอ
ข้อผิดพลาด 5 ข้อในการนำเสนอโปรไฟล์ ที่ทำให้ผู้สมัครส่วนใหญ่พลาดโอกาสในการหาตำแหน่งงานก็คือ ขาดการเชื่อมโยงกับบริษัทจัดหางาน รวมถึงไม่มีการติดต่อกับผู้ใช้งานรายอื่น, ไม่มีรูปโปรไฟล์หรือใช้รูปเก่าและไม่ชัดเจน, ใช้หัวข้อที่น่าเบื่อหรือมีการสะกดคำผิด, ใช้คีย์เวิร์ดที่ไม่เหมาะสม และการตั้งโปรไฟล์เป็นส่วนตัว ซึ่งผู้ใช้งานอื่นไม่สามารถเข้าถึงได้
นอกจากการให้ความสำคัญกับโปร์ไฟล์แล้ว สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเลยก็คือ การขยายเครือข่ายในการเชื่อมต่อกับผู้ใช้งานอื่นให้มีความกว้างขวางเพิ่มมากขึ้น โดยระดับของการเชื่อมต่อกับกลุ่มผู้ใช้งานอื่นสามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ระดับ ได่แก่
- ระดับที่ 1 การสร้างเครือข่ายของตัวเอง คือ การเชื่อมโยงในระดับเบื้องต้นกับกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อกันโดยตรงผ่านการเชิญ (Invitation) บน Linkedin
- ระดับที่ 2 ระดับที่เริ่มมีการแนะนำและบอกต่อ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงที่ต่อยอดจากกลุ่มผู้ใช้งานในระดับที่ 1 เพิ่มขึ้นไป เช่น กลุ่มเพื่อนของเพื่อน
- ระดับที่ 3 การเข้าร่วมกับกลุ่ม (Group) รวมถึงการเชื่อมต่อจากกลุ่มผู้ใช้งานในระดับที่ 2 เพิ่มขึ้นไป ซึ่งในระดับนี้จะมีเชื่อมโยงในระดับที่มีความซับซ้อนและกว้างขว้างมากที่สุด โดยการเชื่อมโยงในระดับที่ 3 นี้จะช้วยให้บริษัทจัดหางานสามารถเข้าถึงผู้สมัครงานได้ง่ายดายมากยิ่งขึ้น
จากข้อมูลทั้งหมดเป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ที่กำลังสมัตรงานผ่าน Linkedin ได้นำไปปรับใช้เพื่อเชื่อมโยงกับบริษัทจัดหางานได้ดียิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าการหางานผ่าน Linkedin จะยังคงไม่เป็นที่นิยมมากนักในบ้านเรา แต่เชื่อว่าหากว่ามีการเตรียมตัวให้พร้อมไว้ก่อนล่วงหน้าก็จะช่วยให้ได้เปรียบผู้สมัครงานคนอื่นๆ ซึ่งในอนาคตโซเชียลมีเดียอย่าง Linkedin อาจเข้ามาเป็นช่องทางสำคัญในการเชื่อมต่อและพบปะระหว่างบริษัทจัดหางานในบ้านเรา เช่นเดียวกับสหรัฐฯอย่างในปัจจุบันก็เป็นได้
ที่มา: Linkedin In 30 Minutes