หลายคนกลัวที่จะแตกต่าง แต่ไม่ใช่ เต๋อ นวพล-ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับหนังที่มีผลงานเป็นเอกลักษณ์ แต่ก็เข้าถึงได้ จนสร้างให้คำว่า “แกแมสแล้วว่ะ” ที่มาจากโฆษณาติดปากคนดูไปช่วงหนึ่ง เราลองมาดูวิธีคิด Creative Idea ให้นอกกรอบ แต่ก็สร้างความแมสของเขากัน
“หลายคนยังกลัวอยู่ดีที่จะสร้างเส้นทางที่ต่างจากคนอื่น เพราะทำแล้วมันไม่ได้สำเร็จเลย” แต่นวพลบอกว่าจริงๆ แล้วนั้น ไม่มีใครรู้ว่าความสำเร็จจะมาหาเราเมื่อไหร่ ไม่มีบอกว่าจะต้องสำเร็จในปีที่ 4 นะ ให้อดทนหน่อย ซึ่งเวลาที่เราอยู่จุดที่เริ่มทำนั้นเหมือนอยู่จุดมืดๆ ที่แต่ละคนใช้เวลาในการสำเร็จไม่เท่ากัน
ทำอย่างไรให้มีคนดูหนังโฆษณาที่เราทำ ?
นวพล : ทำสิ่งที่คนดูยังไม่เห็น หรือทำคอนเทนต์เดิมแต่ลึกมากๆ อาจจะทำรายการเดิมแต่เจาะลึกอินไซต์มากๆ นั่นคือความ Speacialize เพราะตอนนี้มันเป็นโลกที่ข้อมูลทั่วๆ ไปหาได้ง่าย แต่ถ้าเรื่องนี้สร้างความรู้สึกว่า “เฮ้ย ทำไมเรื่องนี้เราไม่เคยรู้มาก่อน” มันคือพื้นฐานง่ายๆ ของความครีเอทีฟ
เพราะการทำสิ่งเดิมมันเห็นผลเร็ว แต่สักพักเราก็จะต้องวิ่งตามสิ่งนั้นไปเรื่อยๆ และในระยะยาวก็เหนื่อยเหมือนกัน จริงๆ ก็เหมือนคนขายก๋วยเตี๋ยว ที่เห็นข้าวมันไก่ดัง แล้ววันหนึ่งเราเปิดร้านข้าวมันไก่ตาม จากนั้นเห็นผัดไทยดังก็เปิดตาม ถ้าทำแบบนี้มันจะต้องเปิดไปเรื่อยๆ และอาจเป็นงานที่เราไม่ถนัดด้วยซ้ำ
เราคิดไอเดียได้มากมาย แต่ไอเดียที่เราคิดมามันต้องตรวจสอบว่ามันดีจริงๆ หรือมีคนทำไปหรือยัง บางทีเขาทำไป 20 ปีแล้วนะ ดังนั้นต้องรีเช็กให้ดีว่ามันเป็นมุมใหม่จริงหรือเปล่า บางครั้งเราต้องเฆี่ยนตีตัวเองเพื่อให้ดราฟต์ 1 ดีที่สุด เพราะถ้าเช็กดีๆดราฟต์แรกอาจเป็นไฟนอลดราฟต์ก็ได้ และการเช็กมันเกิดจากการต้องดูเยอะ อ่านเยอะ หรือต้องมีความรู้ในสายงานที่เราถนัด ดังนั้นเราจะรู้ดีว่าไอเดียนั้นใหม่จริงหรือเปล่า จากสิ่งที่เรารู้ดีและถนัดมากๆ
การเลือกทำงานกับลูกค้า ก็เหมือนการเลือกคบแฟน
นวพล : ทำโฆษณามาแล้ว 3 ปี แล้วก่อนเข้าวงการโฆษณาเราก็กลัวมาก เพราะได้ยินความน่ากลัวของสิ่งต่างๆ มาเยอะ เราเลยเลือกทำงานที่สบายใจ ต่อให้เป็นงานโฆษณาก็ตาม เราคิดว่า “เราทำงานโฆษณาแล้วเราไม่ทะเลาะกับลูกค้าได้ไหม?” ซึ่งเราพบว่าทำได้
โดยในปีแรกจะใช้วิธีว่าถ้ามีบรีฟอะไรจากลูกค้าก็ขอมาดูก่อนรับงาน เพราะไม่ได้แบบ “ส่งมาเลยครับ อะไรก็ได้เราทำได้หมด” เพราะเดี๋ยวบางอย่างทำไม่ได้ก็กลายเป็นแย่อีก เพราะฉะนั้นเราจะรู้ว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง หรือบางทีเราดูบรีฟก็มีเสนอเพิ่ม แล้วถ้าไม่ได้จริงๆ ก็จากกันด้วยดี เพราะเราเชื่อในการจับคู่ที่ถูกต้องระหว่างความต้องการของลูกค้ากับสไตล์การทำงาน เพราะเหมือนการคลุมถุงชน ถ้าไม่ได้ดูใจกันมาเลยก็ต้องทะเลาะกัน แต่ถ้าเคยคบกันเราก็พอเดาทางกันได้บ้าง และมันจะ win-win กันทั้งคู่ และเราจะแนะนำเขาได้จริงๆ ว่ามันควรเป็นอย่างไร
ไม่ใช่ “เพราะเป็น นวพล เลยจะทำอะไรก็ได้”
นวพล : อีกเรื่องที่เรากังวลคือ ‘ความเร็ว’ ในการทำโฆษณาของนวพล ในปีแรกอาจจะช้ากว่าคนอื่นหน่อย (2 เดือน ได้ 1งาน ส่วนคนอื่นใน 1 เดือนอาจจะได้ 2 งาน) แต่ปีที่ 2 การทำงานเริ่มดีขึ้น ซึ่งเป็นจุดที่กังวลเหมือนกัน
เพราะมันมีคนที่ไม่เข้าใจเหมือนกัน แต่ข้อดีในการทำแบบนี้คือเราจะพัฒนางานได้เยอะ แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวเราก็จะใช้จ่ายน้อยหน่อย ถ้าเราเกิดมีหนี้สินขึ้นมาก็อาจทำทุกงาน และต้องอดทนถึงที่สุดไม่ว่าจะถูกทุบตีแบบไหน แต่มองว่าปีหนึ่งเราอยู่กับงานสามร้อยกว่าวันถ้าไม่ได้ชอบมัน เราจะทรมานและไม่มีความสุขเท่าไหร่
เราเลยคิดว่า ‘ยึดที่การเลือกงานหน่อย ส่วนรถก็ขับปกติไม่แพงมากก็ได้’ เพราะรถอาจจะขับวันละ 4 ชม. แต่งานเราอยู่กับมันอาจจะ 12 ชม. เลือกที่เราไม่เครียด ไม่ต้องไปหาหมอ ทำให้เขามีผลงานโฆษณาน่าสนใจหลายๆ ตัวออกมา ลองไปดูกันว่าที่มาที่ไปของแต่ละตัวเป็นอย่างไรบ้าง
Girls Don’t cry คืองานที่ทุกคนสามารถสัมผัสได้
นวพล : งานนี้โจทย์มาจากทาง BNK48 Official และ Salmon House ที่มันเป็นสารคดี และเราทราบดีอยู่แล้วว่าควบคุมอะไรไม่ได้ เราต้องอยู่กับเด็กๆ 26 คนไปสักพัก เราก็เลยต้องคุยให้ตรงกันก่อนว่าสิ่งที่เราสนใจในการทำสารคดีตรงกับทาง BNK48 Official นี่เราคิดตรงกันหรือเปล่า และจะไปในทิศทางเดียวกันใช่ไหม เพราะเราย้อนเวลากลับไปต้นปีแล้วถ่ายใหม่ไม่ได้
ซึ่งคุณต้อมค่อนข้างเปิดกว้างด้านความคิดมากๆ แล้วพอทำไปเรื่อยๆ เขาก็ปล่อยเราจริงๆ ‘ถ้าโจทย์คือวงไอดอลมันกว้าง คุณจะคุยถึงเรื่องอะไร แง่ไหน?’ เราค่อยๆ คิดว่าเราสนใจเรื่องอะไร ซึ่งเป็นวิธีการทำงานของเรา ไม่ว่าจะได้โจทย์เป็นสินค้าอะไรเราจะหาความสนใจในสิ่งนั้น หรือเราเห็นอะไรบ้างที่จะบอกคนจ้างได้ว่ามันเป็นมุมแตกต่าง และสิ่งนี้เราต้องมองเห็นก่อน
ก่อนหน้านี้มีหลายไอเดียมาก เช่น จะตาม เจนนิษฐ์คนเดียวไหม หรือจะตามเฌอปรางคนเดียวดี จะไปฝั่งแฟนคลับด้วยไหม แต่เราสนใจในเรื่องว่ามันคือเด็กผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่ต้องมาอยู่ในสถานการณ์ที่พิเศษมาก ถ้าเกิดเราอายุ 14-15 ปี เราเคยไม่เคยเจออะไรแบบนี้ ซึ่งเหมือนน้องอายุ 14-15 ปีต้องมาเจอสถานการณ์กดดันเหมือนที่เราเจอตอนอายุ 30 ปี ซึ่งถ้าคิดเป็นพล็อตก็คงเป็นประมาณนี้
พอเราทำไปเรื่อยๆ ก็พบว่าสิ่งที่เด็กๆ เจอมันก็ไม่ได้ต่างจากที่เราเจอนัก มันเหมือนสังคมออฟฟิศ เช่น อยู่ดีๆ ทำไมคนนี้ได้โปรโมต เราทำงานเยอะกว่าหรือเปล่า ซึ่งเป็นเรื่องที่คนทำงานจะนึกออกกัน มุมนี้มันน่าสนใจ และเล่าได้เฉพาะจากวงนี้ เพราะมันคือสถานการณ์พิเศษ มันมีมุมมองน่าสนใจและน่าสนุก และทาง BNK อยากให้เป็นหนังที่คนทั่วไปดูได้ และเราเองก็อยากให้เป็นแบบนั้น
Friendshi(t)p by KBank มาจากการเอาตัวรอดของเรา
นวพล : ชิ้นนี้บรีฟคือ ‘K PLUS เป็นแอปที่ทุกคนใช้’ แล้วเราก็หาวิธีว่าคำนี้มันเป็นอะไรได้บ้าง ซึ่งเราคิดไว้หลายๆ ไอเดีย จนมาถึงไอเดียหนึ่งคือ ‘เรื่องที่ทุกคนใช้เป็นเรื่องที่ แมส’ แล้วก็นึกถึงตัวเองที่คุยไม่เก่ง แต่เวลาไปกินโต๊ะจีนต้องไปนั่งกับคนเยอะๆ ก็ไม่อยากมีจังหวะเดดแอร์บนโต๊ะสนทนา วิธีการรอดก็คือ ‘นึกเรื่องที่แมสที่สุดมาคุย’ เช่น ดินฟ้าอากาศ ข่าวสารบ้านเมือง ละครเมื่อคืน อะไรก็ได้ที่ทุกคนเข้าใจ
จึงเป็นที่มาของคนที่คุยไม่เก่ง แล้วต้องย้ายไปเรียนอีกเมือง เจอเพื่อนใหม่ แล้วไม่รู้ว่าจะคุยกับเพื่อนใหม่อย่างไร เลยได้คำแนะนำว่าถ้านึกไม่ออกก็ชวนยคุยเรื่องแมสๆ สิ อย่างการใช้แอปพลิเคชั่น K PLUS ที่แมสๆ และทุกคนต้องใช้เป็น แล้วก็ได้ผล เป็นการนึกมาจากเรื่องใกล้ตัว
ขายไอเดียยังไงให้ลูกค้า Approve ?
นวพล : พอเป็นธนาคารเราก็จะหวั่นๆ หน่อย ว่าเขาจะโอเคไหม แต่เราก็เข้าไปประชุมแล้วเล่าสิ่งต่างๆ ให้เขาฟังไปเรื่อยๆ จนจบ คำถามแรกจากผู้บริหารคือ “นี่น้องจะถ่ายฉากมอเตอร์ไซค์ยกล้อได้ใช่ไหม ถ้าน้องถ่ายไม่ได้พี่ไม่ให้ผ่าน” ซึ่งหลังจากประโยคนี้ก็เริ่มรู้แล้วว่าเขาโอเค เพราะลูกค้าต้องการให้แอปนี้สื่อสารกับวัยรุ่นได้อย่างเต็มที่ไปเลย มันเหมือนการตรวจเช็กกันก่อนประมาณหนึ่ง
สุดท้ายแล้ว ถ้านวพลบอกว่ามันไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่ทำจะสำเร็จจริงๆ ไหม ยิ่งถ้าใครอ้างสูตรเยอะๆ ก็ยิ่งน่ากลัวเข้าไปกันใหญ่ เพราะการทำของที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มันไม่มีใครรับประกันว่ามันจะโอเค เหมือนฉากยกล้อในห้องประชุม ที่คงไม่เคยมีใครเสนอมาก่อน ถ้าลูกค้าหวังยอด views เราก็อาจจะไม่รับเลย เพราะเราจะทำมันด้วยความเครียด กลัว ไปเรื่อยๆ และอย่างหนึ่งที่อยากให้เขารู้คือ ‘เราทำเต็มที่ และเราคิดมาแล้ว’