
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท เทลสกอร์ จำกัด (Tellscore) และบริษัท เดอะ ซีโร่ พับบลิชชิ่ง จำกัด (The Zero Publishing) จัดงานเสวนา “Future of Creator Economy: การขับเคลื่อนนโยบายและเปิดโครงการ Thai Creator for Real Business Workshop” เพื่อเปิดตัวโครงการวิจัยและพัฒนาแนวนโยบาย อววน. และกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจครีเอเตอร์ (Creator Economy) ของไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันเศรษฐกิจครีเอเตอร์ให้เติบโตอย่างเป็นระบบผ่านการออกแบบนโยบาย พัฒนาทักษะและสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการประกอบอาชีพของครีเอเตอร์อย่างยั่งยืน
ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า สอวช. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ โดยมองว่าเศรษฐกิจครีเอเตอร์ (Creator Economy) คือกลไกสำคัญที่จะยกระดับศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ผ่านการนำภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ การลงทุน และการจ้างงานตลอดห่วงโซ่มูลค่า ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย
โครงการนี้ดำเนินการโดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม รองคณบดี(ด้านวิชาการ) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหัวหน้าโครงการ โดยใช้แนวทางวิจัยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Research) ร่วมกับครีเอเตอร์ ผู้ประกอบการ SME แพลตฟอร์ม ภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการ เพื่อวิเคราะห์ภาพรวม ศักยภาพ ช่องว่างในระบบนิเวศของ Creator Economy ในประเทศไทย ทั้งในด้านการพัฒนาเนื้อหา การผลิต การวิเคราะห์แพลตฟอร์ม เครือข่ายการเผยแพร่ การมีส่วนร่วมของผู้ชม ไปจนถึงรูปแบบรายได้และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา

ผศ.ดร.สกุลศรี กล่าวถึงความสำคัญของโครงการว่า “เศรษฐกิจครีเอเตอร์ไม่ใช่แค่การผลิตคอนเทนต์หรือการหารายได้ของครีเอเตอร์ระดับปัจเจก แต่เป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องการการออกแบบเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นของการพัฒนาเนื้อหา (Content Development) ไปจนถึงปลายน้ำของการสร้างรายได้ (monetization) และทรัพย์สินทางปัญญา (IP) เราจึงออกแบบโครงการนี้ให้ศึกษาทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และ ระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เกี่ยวข้อง เพื่อระบุช่องว่างนโยบายและหาแนวทางสนับสนุนที่เหมาะสมกับบริบทไทย การวิจัยเชิงระบบจะดำเนินงานควบคู่กับการพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ครีเอเตอร์ไทยไม่เพียงเติบโตในฐานะผู้ผลิตเนื้อหา แต่สามารถสร้างธุรกิจ สร้างอาชีพ และมีบทบาทในเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศมีระบบเศรษฐกิจที่หลากหลาย และขับเคลื่อนด้วยศักยภาพของครีเอเตอร์ นักสร้างสรรค์อย่างแท้จริง”
ด้านคุณวรพจน์ ประสานพานิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ในยุคปัจจุบัน การเป็นผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องเริ่มจากธุรกิจขนาดใหญ่หรือการมีบริษัทแบบดั้งเดิมอีกต่อไป เพราะแม้จะเป็นอาชีพรายเดี่ยว หากมีการจัดการอย่างเป็นระบบ ก็สามารถเติบโตเป็นผู้ประกอบการที่แท้จริงได้ โดยเฉพาะในกลุ่มครีเอเตอร์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 4,000 ล้านบาทในประเทศไทย สสว. มุ่งเน้นการสร้างระบบกลางที่ช่วยให้ครีเอเตอร์สามารถเข้าถึงการสนับสนุนได้ เช่น การลดต้นทุนผ่านการขอใบรับรองมาตรฐาน (Standard Certification) ซึ่งเราสามารถ subsidize ค่าใช้จ่ายได้ถึง 50–80% ที่สำคัญคือ การสร้างมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมในวงการครีเอเตอร์ เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างรับผิดชอบ ไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม พร้อมกับพัฒนาองค์ความรู้เรื่องกระบวนการทำธุรกิจ การบริหารจัดการ และการหาโอกาสพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ครีเอเตอร์ไทยเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อย่างแท้จริง”
ในการดำเนินโครงการวิจัยนี้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับภาคีวิชาชีพ ได้แก่ บริษัท เทลสกอร์ จำกัด (Tellscore) และบริษัท เดอะ ซีโร่ พับบลิชชิ่ง จำกัด (The Zero Publishing) ซึ่งเป็นผู้นำในการพัฒนาอุตสาหกรรมครีเอเตอร์ของไทย เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ วิชาการ และภาควิชาชีพในการขับเคลื่อนนโยบายเชิงระบบ โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากผู้มีบทบาทจริงในวงการ
คุณสุวิตา จรัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Tellscore กล่าวว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นบทบาทของครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ขยายตัวจากผู้ผลิตคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ สู่การเป็นผู้ประกอบการสื่อ เป็นกลไกสำคัญทางเศรษฐกิจ และแรงขับเคลื่อนสำคัญของแบรนด์ สังคม และวัฒนธรรม เทลสกอร์เชื่อว่า ‘คอนเทนต์ครีเอเตอร์’ ไม่ได้เป็นเพียงอาชีพทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็น ‘Creative Workforce’ ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล หากได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ การมีนโยบายและกลไกที่ชัดเจนในการส่งเสริม Creator Economy จะไม่เพียงแค่ผลักดันอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโต แต่ยังเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากได้ใช้ความสามารถเฉพาะตัวในการพัฒนาธุรกิจ สร้างรายได้ และเติบโตอย่างยั่งยืน”
คุณขจร เจียรนัยพานิชย์ กรรมการผู้จัดการ The Zero Publishing กล่าวเสริมว่า จากการเติบโตที่ก้าวกระโดดและการผลักดันวงการครีเอเตอร์ไทยอย่างต่อเนื่องของ RAiNMaker พบว่าสิ่งที่สำคัญในช่วงเวลานี้ คือการรวมกลุ่มเพื่อกำหนดแนวทาง ผลักดันนโยบาย รวมถึงการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนให้มากขึ้น เพื่อให้วงการครีเอเตอร์ไทยได้มี Ecosystem ที่แข็งแรง ไม่แพ้ในวงการอื่นๆ
ภายในงานยังได้รับเกียรติจากคุณซอฟ รษิกา พาณีวงศ์ เจ้าของช่อง ‘Soft Raziqaa’ ครีเอเตอร์ที่เติบโตอย่างมั่นคง มาร่วมแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ โดยกล่าวว่า “ความสำเร็จในยุคนี้ คือการยืนระยะได้อย่างเข้าใจจุดแข็งของตนเอง และทุกตัวตนมีหน่วยวัดความสำเร็จที่แตกต่างกัน
นอกจากการดำเนินโครงการวิจัยเพื่อศึกษาและออกแบบข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจครีเอเตอร์ โครงการนี้ยังมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อรุ่นใหม่และมืออาชีพผ่านกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “Thai Creator for Real Business Workshop” โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างทักษะด้านธุรกิจให้แก่ครีเอเตอร์ไทย ให้สามารถเติบโตในฐานะผู้ประกอบการ และก้าวสู่ระบบการสนับสนุนทุนจากภาครัฐและเอกชนได้อย่างมั่นคง
เวิร์กชอปนี้ออกแบบมาเพื่อพัฒนาความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับแนวคิด Creator Economy และการวางแผนธุรกิจอย่างเป็นระบบ โดยเนื้อหาครอบคลุมประเด็นสำคัญตั้งแต่การวิเคราะห์คุณค่า (Value Proposition) และกลุ่มเป้าหมาย การพัฒนา การสร้างแบรนด์ส่วนบุคคล (Personal Branding) ที่ชัดเจน การสร้างกลยุทธ์การผลิตและเผยแพร่คอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ตลาด ไปจนถึงการเป็น Solopreneur และการต่อยอดสู่ผู้ประกอบการระดับ SME รวมถึงการวางโมเดลธุรกิจ การวางแผนด้านการเงินและภาษี ตลอดจนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนและดำเนินธุรกิจในโลกดิจิทัล
กิจกรรมอบรมนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ลงมือคิด ทดลอง และพัฒนาแนวคิดของตนเอง พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายกับผู้ร่วมวงการ ทั้งเพื่อนครีเอเตอร์ ผู้ประกอบการ และภาคีผู้สนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจครีเอเตอร์ของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติของการพัฒนาอาชีพรายบุคคลและในระดับระบบนิเวศ (ecosystem)
เวิร์กชอปนี้จะจัดขึ้นใน 3 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น (31 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2568), พิษณุโลก (7 – 8 มิถุนายน 2568), และกรุงเทพมหานคร (14 – 15 มิถุนายน 2568) โดยเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมเพียง 120 คน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 30 เมษายน 2568 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมได้ที่: https://forms.gle/YH516aSmF3PkFAS56