Site icon Thumbsup

CRG เพิ่มกลยุทธ์จับตลาด Delivery หวังตอบโจทย์ลูกค้าใช้มือถือสั่งอาหาร

ธุรกิจอาหารในห้างสรรพสินค้าชั้นนำนั้น มีมูลค่าตลาดสูงถึง 400,000 ล้านบาท แต่การที่จะดึงให้ลูกค้าเดินเข้าสาขานั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันง่ายๆ เพราะพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่นิยมที่จะใช้บริการ Delivery มากขึ้น และการที่จะให้แบรนด์เข้าถึงช่องทางเหล่านี้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ในระยะเวลาสั้นๆ

ณัฐ วงศ์พานิช  กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) เปิดเผยว่า ผลประกอบการปี 60 ที่ผ่านมา แตะ 10,987 ล้านบาท ทำให้ผลกำไรรวมทุกแบรนด์เติบโตมากกว่า 15% จึงได้ตั้งเป้ารายได้ปี 2561 ยอดขายเพิ่ม 11% ผ่านกลยุทธ์ Change for Growth และเตรียมขยายแบรนด์ในพอร์ตเพิ่ม

ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนานกว่า 40 ปี CRG ในฐานะผู้ให้บริการธุรกิจ Food Chain Industry และมีร้านอาหารในมือมากถึง 11 แบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Mister Donut, KFC, Auntie Anne, Pepper Lunch, Chabuton, ColdStone Creamery, The Terrace, Yoshinoya, Ootoya, Tenya, Katsuya เป็นต้น ซึ่งการเตรียมแผนขยายธุรกิจครั้งใหญ่ในปี 2561 นี้ ก็เพื่อรุกตลาดที่มีอัตราเติบโตต่อเนื่องและมีเม็ดเงินมากกว่า 400,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นตลาด Segment ร้านอาหารเครือข่ายหรือ “Food Chain” สูงถึง 140,000 ล้านบาท โดยซีอาร์จีมีสัดส่วนในตลาดประมาณ 8%

อย่างไรก็ตาม ทางด้านของแผนและกลยุทธ์หลัก อย่าง Change for Growth จะประกอบด้วย 3 เรื่อง คือ การเพิ่มแบรนด์ร้านอาหารใหม่ๆ ในประเทศ ทั้งการซื้อแบรนด์ธุรกิจ ซื้อลิขสิทธิ์แฟรนไชส์และร่วมทุน รวมทั้งการสร้างคอนเซ็ปท์แนวใหม่ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อเข้าถึงและขยายฐานกลุ่มผู้บริโภคซึ่งจะทำให้ปีนี้จะเป็นปีที่พิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยหรือ SME เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรทำธุรกิจ เนื่องจากเป็นรากฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย รวมทั้งให้ร้านค้ารายย่อยติดต่อได้ผ่านช่องทางออนไลน์ คือ successtogether@crg.co.th โดย CRG จะเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจให้ด้วย

ประการสอง บริษัทเตรียมขยายธุรกิจไปในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลมีฐานธุรกิจในหลายประเทศทั่วโลก  ซีอาร์จี จะนำร่องโฟกัสตลาดอาเซียน เริ่มที่ประเทศเวียดนามเป็นอันดับแรก เนื่องจากมีฐานธุรกิจห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า ทั้งห้างบิ๊กซี โรบินส์ที่สามารถรุกตลาดได้ทันที

ขณะเดียวกัน ประเทศเวียดนามเป็นตลาดที่มีศักยภาพมาก มีจำนวนประชากร 90-100 ล้านคน มากกว่าประเทศไทยและมีศักยภาพด้านกำลังซื้อสูง แม้ธุรกิจโมเดิร์นเทรดและธุรกิจอาหารยังมีขนาดไม่ใหญ่เท่าประเทศไทย แต่มีแนวโน้มขยายตัวได้อีกหลายเท่า ซึ่งถือเป็นจังหวะที่ดีมากในเวลานี้

ประการที่สาม คือ การพัฒนาระบบและ New DNA เพื่อรองรับการเติบโต โดยจะพัฒนา Central Kitchen เพื่อควบคุมต้นทุนและคุณภาพของอาหารเปลี่ยน POS System เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการให้บริการได้ดียิ่งขึ้นและใช้ Business Intelligent (Information System) ในการจัดกลุ่มข้อมูลที่ซีอาร์จีมีอยู่ เพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์ข้อมูลให้สามารถนำมาใช้งานได้มากและรวดเร็วขึ้น เพื่อตอบสนองธุรกิจในทุกระดับ รวมทั้งสร้าง New DNA พนักงานยุค 4.0 ที่กล้าคิดกล้าตัดสินใจ ยอมเสี่ยงเพื่อสร้างสิ่งใหม่ ไม่เห็นความผิดพลาดเป็นเรื่องใหญ่

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ในปี 2561 มากกว่า 12,000 ล้านบาทหรือเติบโตมากกว่า 11% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งจากผลการดำเนินการในปีที่ผ่านมา นอกจากการเติบโตของยอดขายแล้ว บริษัทยังมีอัตราเติบโตของผลกำไรเป็นที่น่าพอใจทุกแบรนด์และหลายแบรนด์ก็มีอัตราการเติบโตของผลกำไรอยู่ในอัตราสูงมาก เช่น มิสเตอร์โดนัท   มีอัตราเติบโต 17% ชาบูตง เติบโต 332% โอโตยะ เติบโต 267% เทนยะ เติบโต 368% คัตสึยะ เติบโต 259% โยชิโนยะ เติบโต 129%

ด้านปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายการตลาดซีอาร์จี กล่าวว่า  แบรนด์ธุรกิจอาหารทั้ง 11 แบรนด์ จะมีการปรับคอนเซ็ปท์และสร้างความตื่นเต้นดึงดูดกลุ่มลูกค้า ตอกย้ำจุดแข็งด้านคุณภาพอาหาร ความอร่อย ความหลากหลาย และบริการที่ดีเยี่ยม เพื่อรองรับอุตสาหกรรมอาหารที่ยังมีแนวโน้มเติบโตสูงและมีผู้เล่นในตลาดมากขึ้น เช่น Mister Donut และ Auntie Anne จะเน้นการพัฒนารูปแบบสินค้าใหม่ให้มีความหลากหลาย (Product Innovation)

ด้านแบรนด์อื่นๆ มีแผนปรับคอนเซ็ปท์และรูปโฉมเช่นเดียวกัน  เช่น Ootoya ที่จะมีการ Renovate สาขาให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น รวมทั้งยังโฟกัสการขยายตลาดผ่านช่องทาง Delivery มากขึ้น เนื่องจากภาพรวมธุรกิจ Delivery เติบโตสูงไม่ต่ำกว่า 12-15% และเป็นเทรนด์การใช้บริการของผู้บริโภครุ่นใหม่โดยจับมือกับผู้นำด้านบริการขนส่งทั้ง Line Man, Food Panda, Uber Eats และ Grab Food รวมทั้งจะขยายพันธมิตรเพิ่มขึ้นพร้อมปรับระบบต่างๆของร้านสาขารองรับการเติบโต โดยการสั่งอาหาร 1 ครั้ง จะทำได้หลายแบรนด์ ไม่ผูกขาดแค่รายใดรายหนึ่ง