หลังจากที่มีข่าวเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่ได้รับมติเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ว่าผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องไม่ดำเนินการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำ สินทรัพย์ดิจิทัล มาใช้เป็นตัวกลางในการชำระเงิน ซึ่งรวมถึงการดำเนินการ
- ไม่โฆษณาเชิญชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้าเพื่อให้ร้านค้าสามารถรับชำระค่าสินค้า หรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้
- ไม่จัดทำระบบ หรือเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกใด ๆ แก่ร้านค้าในการรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
- ไม่ให้บริการเปิดกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ (Wallet) แก่ร้านค้า เพื่อรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
- ในกรณีที่ผู้ซื้อขายทำการขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับเป็นเงินบาท ผู้ประกอบการต้องโอนเงินบาทเข้าบัญชีผู้ซื้อขายเท่านั้น
- ไม่ให้บริการที่มีลักษณะเป็นการโอน สินทรัพย์ดิจิทัลหรือเงิน จากบัญชีของผู้ซื้อขาย ไปยังบัญชีของรายอื่น หรือบุคคลใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการ
- ไม่ดำเนินการในลักษณะอื่นใดนอกเหนือจาก 1-5 ที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นตัวกลางในการชำระเงิน
เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยกังวลว่า หากมีคนใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในชีวิตประจำวัน จะกระทบต่อเสถียรภาพต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่น “เงินบาท” และจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ทำอยู่บนเงินบาท
“หากคนไทยถือครองเงินบาทน้อยลง ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินนโยบายยากขึ้น และสุดท้ายจะมีผลกระทบต่อทั้งคนที่ใช้ และไม่ได้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัล” อีกเรื่องก็คือ สภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจ หากเงินบาทลดลง แบงก์ชาติก็ยังสามารถอัดฉีดเงินเข้าระบบ เสริมสภาพคล่องได้ แต่หากมีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ต่างอะไรไปจากการที่เราใช้เงินตราต่างประเทศที่เราจะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ หากเราใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในชีวิตประจำวันกันมาก นโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะยิ่งมีผลลดลง
นอกจากนั้น ก.ล.ต. ยังเปิดเผยมุมมองของประเทศต่าง ๆ ต่อการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อในการชำระ
- จีน และ รัสเซีย ห้ามทุกอย่าง ทั้งขุดคริปโท เทรดคริปโท และใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ
- อินโดนีเซีย ห้ามใช้ชำระค่าสินค้า
- อินเดีย อยู่ในระหว่างเสนอกฎหมาย
- เอลซัลวาดอร์ สนับสนุนทุกด้านที่เกี่ยวกับคริปโท
โดยประเทศไทย จะอยู่ในระดับกลาง ประชาชนยังคงสามารถลงทุนได้ สามารถทำธุรกรรม Peer-to-peer หรือยังโอนระหว่างกันเองได้อยู่ ห้ามเฉพาะใช้เป็นตัวกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ ที่ผ่านมา ได้มีบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งมีการบอกลูกค้าว่าสามารถรับชำระได้ด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
ซึ่งทาง ก.ล.ต. ก็ได้มีการส่งหนังสือไปยังบริษัทกลุ่มนี้แล้ว และผู้กำกับดูแลยืนยันว่าจะไม่สนับสนุนเรื่องนี้
ทางด้านของนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์โซลูชั่น จำกัด ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ส่วนตัวว่า
เมื่อวาน Pay Solutions จัดงานแถลงข่าวพูดถึง COVID และโอกาสการเติบโตของการชำระเงินออนไลน์ และเปิดตัวการ (ทดสอบ) รับชำระด้วยคริปโต….
.
www.PaySolutions.asia เป็นบริษัทให้บริการการรับชำระเงินทางออนไลน์ เราคือผู้ให้บริการ Payment Gateway แห่งแรกของไทย (เดิมชื่อ ThaiEpay.com) เปิดมา 18 ปีแล้วครับ ตั้งแต่ปี 2003 เราช่วยธุรกิจคนไทย หลายหมื่นคน ค้าขายรับเงินทางออนไลน์เป็นเงินหลายพันล้านบาทแล้วนะ ผ่านบัตรเครดิต, เงินผ่อน, พร้อมเพย์ หรือ Wallet ต่างๆ
.
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2015 (7 ปีก่อน) PaySolutions ได้เปิดรับชำระผ่าน Bitcoin โดยเราทำงานร่วมกับเว็บ Exchange เว็บแรกของไทย www.BX.in.th ในการรับ Bitcoin แล้วเปลี่ยนเป็นบาท เราเปิดมาได้ 2 ปีกว่าทางแบงค์ชาติ ก็ได้ติดต่อมาขอให้นำบริการนี้ลง เพราะเนื่องด้วยตอนนั้น Bitcoin ยังไม่ม่ีกฏหมายรองรับแบบทุกวันนี้ ผมก็น้อบรับและปิดบริการนั้นลงในช่วงปี 2018
.
แต่พอมาในปีนี้ โลกของคริปโตเปลี่ยนไป โลกทั้งโลกกำลังมุ่งเข้าสู่ Web 3.0 และการทำงานแบบไร้ศูนย์กลาง หรือ Decentralize และผมเองก็เป็นคนนึงที่ทำงานด้านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมา 20 กว่าปี (เรียกได้ว่าเป็นรุ่นอากงของน้องๆ แล้ว) เห็นโอกาสการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้กับระบบชำระเงิน จึงได้นำโครงการนำคริปโตใช้ชำระเงินกลับมาทำใหม่ ซึ่งการที่จะออกบริการรับเงินด้วยคริปโตในครั้งนี้ ทีมงาน PaySolutions ค่อนข้างระวัง ความกังวลของหน่วยงานรัฐอยู่มาก ได้แก่
.
1. ความผันผวนของค่าเงินคริปโต – PaySolutions รับคริปโตเปลี่ยนเป็น Stable Coin สกุลเงินคริปโตที่ความผันผวนน้อยมาก เพราะมันผูกกับเงินดอลล่าร์สหรัฐ แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นบาท ที่ Exchange ในไทยตามระเบียบกฏหมาย
.
2. กลัวเงินฟอกมาจับจ่าย – PaySolutions จำกัดการจ่ายเงินด้วยคริปโตไม่เกิน 2 หมื่นต่อรายการ และกันไว้ให้เกิน 1 แสนบาทต่อเดือน/ร้านค้า
.
3. ถ้าผู้ซื้อท่านไหนมีความน่าสงสัย เราจะขอการยืนยันตัวตน ด้วย Creden eKYC ทันที ถ้าไม่ทำ เราไม่ให้ผ่านครับ
.
4. เปิดทดลองให้กับร้านค้าเฉพาะในวงจำกัด ไม่ได้เปิดให้กับร้านค้าใหม่ จะเป็นร้านค้าเดิม ที่ทำการค้าขายอยู่แล้ว มีการยืนยันธุรกิจ (KYM – Know Your Merchant)ตามมาตรฐานของ ปปง.
.
ย้ำอีกที… “เรายังไม่เปิดในวงกว้าง แต่เป็นการเปิดเพื่อการทดสอบเทคโนโลยีและนวัตกรรม การชำระเงินรูปแบบใหม่” ที่หลายๆ ประเทศเริ่มกันไปไกลแล้ว เลยแอบคิดว่า การเปิดตัว PaySolutions รับเงินคริปโต อาจจะเป็นตัวเร่งทำให้แบงค์ชาติ รีบออกมาแถลงข่าวถึงการไม่สนับสนุนการนำคริปโตมาใช้
.
จริงๆ ผมได้รับการเชิญจากแบงค์ชาตินัดคุยเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่เนื่องจากไม่สะดวกจึงเลื่อนมาเป็นสัปดาห์นี้…. เดียวคงเข้าไปคุยตามที่เราได้เตรียมตัวมา และตั้งใจจะนำเสนอถึงการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ด้านการชำระเงิน
.
เอาจริงๆ ถ้าครั้งนี้แบงค์ชาติขอให้หยุดบริการ ในฐานะของ “บริษัท PaySolutions” ผู้ได้รับใบอนุญาติจากธนาคารแห่งประเทศไทย ก็คงต้องปฏิบัติตาม…
.
แต่ในฐานะของคนที่อยากพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ “ผมคงไม่หยุด” แต่ผมคงต้องหาประเทศที่มีความพร้อมในการรองรับ และเปิดให้มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และก้าวเดินต่อไป… ซึ่งมันอาจจะดีก็ได้ การออกไปนอกประเทศ มันจะเป็นการทำให้ธุรกิจเดินออกสู่ Global Market ได้เร็วขึ้น
.
เอาจริงๆ นะ ส่วนตัวผมทำงานกับภาครัฐมาเป็นสิบปีแล้วนะ ร่วมออกกฏหมายดิจิทัลของประเทศมาหลายฉบับ ชี้และปลุกคนไทยให้ตื่นตัวเทคโนโลยี หรือ การปลุกรัฐให้ตื่นกับการเก็บภาษีของบริษัทต่างประเทศ ทำงานมาในคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐมามากมาย สอนและอบรบคนรัฐมาก็เป็นพันๆ คน เรื่องเทคโนโลยีและสิ่งใหม่ๆ มามากมาย…. และทุกวันนี้ยังทำงานอยู่ในวุฒิสภา (มีโอกาสไปสอนพี่ๆ ในวุฒิสภาให้รู้จักคริปโตอยู่เลย) ด้วยเป้าหมายอยากให้ประเทศไทยเติบโตด้วยเทคโนโลยี
.
แต่การที่รัฐจะกลัวอะไร กังวลอะไร น่าจะมาคุยกับเอกชนและหาทางออกร่วมกัน “ทุกอย่างมันมีปัญหาหมดแหละ” แต่ถ้าเราค่อยๆ คุย วางแผน มี sandbox มีการค่อยๆ ทำไปด้วยกัน เอกชนนำ รัฐเดินไปด้วยกัน มีอะไรสนับสนุนกัน ติดอะไร กังวลอะไร บอกเอกชน มันมีทางออกนับล้าน ที่เราจะแก้ปัญหาได้ ผมว่าไทยเราน่าจะเป็นแนวหน้าด้านเทคโนโลยี Cryptocurrency ของอาเซียนได้เลยนะ ดูจากน้องๆ หลายๆ คนที่พัฒนาผลงานทางด้านนี้
.
สรุปที่บ่นมายาวๆ ไม่ได้อยากให้คุณเห็นด้วยกับผม หรือ ไปด่าหน่วยงานภาครัฐ หรอกนะ แต่อยากจะบอกว่า ส่วนตัวเองเจตนาที่ดีมากๆ ในการที่จะทำเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศของเรา ถ้าใครพอจะพอส่งต่อ หรือรู้จัก ผู้ที่มีบทบาทในการบริหารประเทศ ยังไงก็ฝากส่งต่อเค้าหน่อยนะครับ
.
ประเทศวันนี้มันต้องกล้าทำอะไรใหม่ๆ เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ ได้คิด ได้ทำ แล้วคนรุ่นใหญ่คอยสนับสนุนอยู่เค้าไปทิศทางที่เราเห็นร่วมกันว่าดี “แตกต่างถึงจะเติบโตครับ”
.
*** ย้ำอีกที… อย่าเขียนบ่นหรือด่าอะไรในโพสต์นี้เลยคัรบ การบ่นด่าใน social ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรหรอกครับ การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง เกิดจากการที่เราลุกขึ้นขึ้นมาแล้ว “ลงมือทำ”
.
หากเป็นไปได้ “ช่วยแชร์อันนี้ให้ลุงตู่ หรือ ผู้ว่าแบงค์ชาติหน่อยสิครับ” และผมอยากนั่งคุยกับผู้ที่มีอำนาจหรือผู้บริหาร ผมว่าถ้ามีโ่อกาสได้คุยกัน เราอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ครับ
.
ด้วยจิตคารวะ
.
ป้อม ภาวุธ
งานนี้ไม่รู้ว่าในเรื่องของธุรกิจจะต้องใช้เวลาในการวางแผน พัฒนาและปรับข้อกฏหมายอีกนานแค่ไหน แต่ที่เห็นชัดคือประชาชนกล้าที่จะลองใช้งานและปรับตัวตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแล้ว