Site icon Thumbsup

คุยกับ CSL ในวันที่อยู่ร่วมบ้านกับ AIS และโอกาสใหม่ที่โตแบบหยุดไม่อยู่

หากพูดถึงเน็ตองค์กรแบรนด์ CS LOXINFO เรียกได้ว่าเป็นผู้ให้บริการด้านอินฟราสทรัคเจอร์ที่มีฐานลูกค้าและส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างใหญ่ เพราะอยู่มานานและมีเทคโนโลยีที่ดีคุ้มค่าต่อธุรกิจที่อยากลงทุนด้านนวัตกรรม

แต่เมื่อเวลาผ่านไปการปรับเปลี่ยนของธุรกิจก็ไม่ได้เร็วเท่ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป แม้ว่า CS LOXINFO  จะมีความแข็งแรงด้านเทคโนโลยีใหม่ๆอยู่แล้ว แต่การเข้ามาอยู่ในร่มของบริษัทโทรคมนาคมเบอร์หนึ่งของไทยอย่าง AIS ย่อมสร้างโอกาสปลดล็อกเทคโนโลยีบางอย่างที่ยังขาดไปให้ครอบคลุมได้ดีขึ้น

ทีมงาน thumbsup ได้ร่วมสัมภาษณ์พิเศษกับ ดร.สมชาย กิตติชัยกุลกิจ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ ซีเอส ล็อกซอินโฟ และ คุณนวชัย เกียรติก่อเกื้อ หัวหน้าแผนกงานการตลาด กลุ่มลูกค้าองค์กร ของ AIS เกี่ยวกับการรวมกิจการและโอกาสใหม่ที่น่าสนใจ รวมทั้งการเติบโตของ CSL ที่เพิ่มขึ้นจากไม่กี่เปอร์เซ็นต์ พุ่งทะยานจนอาจจะขึ้นมาเป็นตัวเลขสองหลักได้เลย โดย CSL มั่นใจว่าเป้ารายได้แตะ 4,000 ล้านต่อเนื่องใน 5 ปีนั้นเกิดขึ้นได้แน่นอน

ควบรวมมา 1 ปีแล้วทุกอย่างเป็นบวก

ทุกคนรู้จัก CS LOXINFO ในฐานะผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตองค์กร มา 15 ปีแล้ว จากนั้นก็ขยายมาทำด้าน Data Center, Public Cloud และ Private Cloud ร่วมกับพาร์ทเนอร์อย่าง VMWare, SAP, Cisco, Palo Alto และ Huawei เป็นต้น

ย้อนกลับไปถึงประวัติของ CSL ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2537 โดยการร่วมทุนระหว่าง บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด และบริษัท ไทยคม จำกัด(มหาชน) เพื่อให้บริการด้านศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต บริการอินเทอร์เน็ตและบริการรับส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมเพื่อการสื่อสารทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

ต่อมาในปี 2560 ทาง AWN ได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัทก่อนจะเสร็จสิ้นเมื่อ 23 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา และเข้ามาเป็นหนึ่งในร่มกลยุทธ์ทางธุรกิจของ AIS ในการเจาะกลุ่มลูกค้าองค์กรที่ต้องใช้เครือข่ายบรอดแบนด์ หรืออินเทอร์เน็ต รวมไปถึงพัฒนาโซลูชั่นใหม่ๆ ร่วมกันเพื่อรองรับอนาคต (อ่านประวัติของ CSL)

ดร.สมชาย เล่าว่า หากมองในมุมของการทำงานร่วมกันระหว่าง AIS และ CSL เราเข้ามาทำงานร่วมกันเกิน 10 ปีแล้ว ทางด้านของ ICT ซึ่งการที่มาอยู่ภายใต้บริษัทเดียวกันทำให้ช่วยเสริมจุดอ่อนของตนมาเป็นจุดแข็งได้ดีขึ้นกว่าเดิม

“จุดแข็งของ CSL คือเรามีฐานลูกค้าองค์กรที่แข็งแรงกว่า 5,000 ราย ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น สายการบิน สถาบันการเงินและธนาคาร กลุ่มพลังงาน เป็นต้น แต่เรายังมีจุดอ่อนในเรื่องดาต้าเซ็นเตอร์ โครงข่ายบางจุด ซึ่งการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่มีช่วยให้เราทำงานข้ามหน่วยงานได้ มีทีมในมือที่มากขึ้น เข้ามาเติมเต็มระบบการทำงานได้ดีขึ้น ทำให้ภาพรวมด้าน ecosystem ดีขึ้นกว่าเดิมมาก”

นอกจากนี้ สัดส่วนลูกค้าของเรายังคงเป็นกลุ่มในเมืองถึง 70% ส่วนต่างจังหวัดจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมใหญ่ๆ อยู่ที่ 30% ซึ่งเป้าหมายของ CSL คืออยากเป็น One Stop Service ด้าน ICT ไม่ว่าจะเป็น Cloud, Data Center, Manage Service (Hardware และ Software), SI (Network และ System) เรียกว่าครบวงจรในการเป็นผู้ให้บริการด้านเครือข่ายเลย

“หากมองที่ภาพรวมธุรกิจของเราก็มีโอกาสเติบโตที่ดีแต่ตัวเลขไม่สูง เพียงแค่ 2-3% ต่อปี เพราะฐานลูกค้าอินเทอร์เน็ตองค์กรไม่ได้มีเยอะขนาดนั้น และแทบทุกองค์กรในไทยก็มีโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตกันครบแล้ว สิ่งที่เราได้มาเสริมคือด้านคลาวด์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งหลังจากเข้ามารวมทำให้ภาพรวมธุรกิจ ICT โตขึ้นมาก จากปีที่แล้วโต 20% ตอนนี้ก็เพิ่มเข้าไปอีก ส่วนใหญ่เป็นความต้องการเดินหน้าเรื่องคลาวด์จาก Peivate ให้เป็น Public มากขึ้น”

ทีมวิศวกรดูแลระบบ

ดร.สมชาย ขยายความต่ออีกว่า หากธุรกิจสมัยใหม่ไม่ปรับด้าน SI คงไปต่อได้ยาก เพราะเรื่องของความปลอดภัยนั้นสำคัญมาก และธุรกิจรายย่อยของบ้านเรา ไม่ได้ใส่ใจในเรื่องภัยคุกคามหรือช่องโหว่เหล่านี้มากนัก เราจึงเข้าไปสื่อสารเรื่องปัญหาเหล่านี้ ช่วยสแกนปัญหาของระบบก่อน จากนั้นช่วยดีไซน์ว่าควรปรับปรุงเรื่องไหนบ้าง ถ้าบริษัทเหล่านั้นไม่เตรียมพร้อมก็อาจจะเกิดผลกระทบในระยะยาได้ ซึ่งธุรกิจในยุคนี้เน้นทำเรื่องคลาวด์มากขึ้น

ฐานของธุรกิจบ้านเราไม่เหมือนต่างประเทศที่เป็นเจ้าของนวัตกรรม แต่จะเป็นการเดินหน้าธุรกิจด้วยดิจิทัลแบบผสมผสาน ทำให้ CSL ต้องเดินหน้าแบบ enable คือกึ่งๆ infrastruture ต้องทำให้เป็นแนวกว้างและหาพาร์ทเนอร์เข้ามาเสริมโดยมีเราเป็นแกนกลางในการเสริมให้ธุรกิจเหล่านี้ได้เข้าถึงนวัตกรรมใหม่ๆ 

ในมุมของคู่แข่งด้านธุรกิจนั้น มีบริษัทย่อยด้าน SI มากถึง 200 ราย มีทั้งรายใหญ่และรายย่อยมากมาย

AIS มั่นใจดีลนี้เสริมฐานลูกค้าองค์กร

ทางด้านของ คุณนวชัย เกียรติก่อเกื้อ หัวหน้าแผนกงานการตลาด กลุ่มลูกค้าองค์กร ของ AIS เล่าให้มุมของการร่วมมือกันให้ฟังว่า AIS มีความต้องการที่จะเติบโตด้าน 5G เพื่ออนาคต ซึ่ง 5G ต้องมาในรูปแบบของลูกค้าธุรกิจมากกว่าฐานลูกค้าบุคคล เพราะ 5G คือการทำให้ธุรกิจสามารถใช้งานเครือข่ายได้แบบรวดเร็วและความเสถียรของระบบต้องดี

ประเทศไทยมีจำนวนธุรกิจที่จดทะเบียนบริษัทกว่า 7 แสนองค์กร ซึ่ง AIS และ CSL รวมกัน ทำให้เรามีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดสูงถึง 70% แบ่งเป็น กลุ่มองค์กรขนาดกลาง CSL จะมีฐานลูกค้ากลุ่มนี้เยอะ ส่วนฐานกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ AIS จะมีมากกว่า CSL เพราะองค์กรขนาดใหญ่จะลงทุนทุกอย่างทั้งเครือข่ายและอุปกรณ์

ซึ่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจยุคนี้ไม่ได้ง่ายเหมือนเดิม ทั้งเรื่องของแรงงานคน การตามเทคโนโลยีให้ทัน การลงทุนเครื่องมือใหม่ สิ่งเหล่านี้ต้องลงทุนพร้อมกัน ทำให้ภาคธุรกิจมองว่าเป็นเรื่องยาก การมีคนกลางมาช่วยทำงานและจ่ายเป็นเซอร์วิสช่วยอำนวยความสะดวกได้ดีกว่า และธุรกิจก็จะเดินเข้ามาหา AIS ซึ่งเราช่วยธุรกิจได้ส่วนหนึ่ง แต่การมี CSL ก็ช่วยเสริมในจุดที่เรายังขาด ซึ่งลูกค้าอยากลงทุนด้านไหน จะเลือกติดต่อผ่าน AIS หรือ CSL ก็ได้ เพราะสุดท้ายเราก็ทำงานร่วมกันอยู่ดี

หากย้อนมองไปที่เคสการลงทุนธุรกิจก่อนหน้านี้ AIS มีความร่วมมือกับธุรกิจประกันภัยอย่างไทยวิวัฒน์ (ย้อนอ่านข่าวเก่า) ความร่วมมือนั้นเกิดจากการที่ไทยวิวัฒน์มี Big data และต้องการที่จะให้เราเข้าไปช่วยสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ผ่านแอพพลิเคชั่น เพื่ออำนวยความสะดวกของผู้ใช้งาน ซึ่งเราต้องเข้าไปช่วยในเรื่องการทำระบบและพัฒนาโซลูชั่นผ่าน NB-IOT ซึ่งสิ่งนี้ยังใหม่ในไทย และไม่ได้จบแค่การทำอุปกรณ์ขึ้นมาและจบในครั้งเดียว

แต่ต้องมีเรื่องของการดูแลเซอร์วิสหลังการขายต่อเนื่อง ซึ่ง AIS เองก็ไม่ได้มีทีมหลักที่เข้ามาช่วยดูแลขนาดนั้น การได้ทีม CSL เข้ามาจะช่วยในมุมนี้ คือพัฒนาระบบ บริการหลังการขาย ดูแลและสื่อสารกับลูกค้าใหม่ๆ ในเรื่องนวัตกรรม การนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และนั่นจะช่วยจุดประกายภาคธุรกิจในการเดินหน้า 5G เพื่ออนาคตก็เป็นได้

การเป็นที่ปรึกษาด้านโซลูชั่นแบบเต็มตัวจะช่วยให้ AIS สร้างสรรค์บริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีขึ้น เพราะยังมีเครื่องมืออีกมากที่จะมาช่วย ยิ่งการที่เรามีแบนด์วิธที่ดียิ่งช่วยให้ทำงานได้แบบรื่นไหลขึ้น และยังมีองค์กรอีกกว่า 63% ที่ต้องการหาพาร์เนอร์มาช่วยเพราะไม่ต้องการลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเองทั้งหมด อีกทั้งแรงงานคนก็ขาดแคลนด้วย ลูกค้าจึงอยากโฟกัสแต่ผลงานการลงทุนมากกว่ามานั่งแบกรับต้นทุนเหล่านี้เอง

นอกจากนี้ ทางเรายังคาดว่าการร่วมมือกันจะช่วยให้มีโอกาสการเติบโตที่ดีขึ้นกว่าเดิม ยิ่งธุรกิจที่ต้องการเอาระบบ ICT, Data Center และ Private Cloud มาขึ้น Public Cloud มากขึ้น เพื่อรองรับการใช้งานแบบ Hybrid ก็ยิ่งเป็นโอกาสที่ธุรกิจของ CSL และ AIS จะโตขึ้นกว่าเดิม

บทสรุปที่ดีกว่า

ภาพรวมของธุรกิจ IT Solution ที่มีกว่า 2,000-3,000 ล้านบาทนั้น ดร.สมชาย มองว่าจะกลายมาเป็นโอกาสครั้งสำคัญอีกครั้งของ CSL ที่จะเติบโตเป็นพันล้านบาท และเชื่อว่าถ้าสามารถรักษาการเติบโตได้ต่อเนื่องใน 5 ปี บริษัทจะมีส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจนี้เป็นอันดับหนึ่งได้อย่างแน่นอน