สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT ได้จัดงานแถลงข่าวเพื่อแสดงศักยภาพและการเติบโตของอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัล ในปี 2556 พร้อมคาดการณ์การเติบโตของการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อการโฆษณาจากกลุ่มธูรกิจต่างๆ เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 57 ณ Smiles Jazz & Bistro
ปี 2556 ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจต่างๆ ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการโฆษณาบนสื่อดิจิทัลมากถึง 4,828 ล้านบาท โดยจำนวนดังกล่าวนั้นเติบโตขึ้นจากปี 2555 ถึง 52.59% โดยงบประมาณดังกล่าวนั้นเมื่อมองจากภาพรวมของการใช้งบประมาณเพื่อการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ นั้นถือว่ายังเป็นงบประมาณส่วนน้อย โดยคิดเป็น 3.56% จากจำนวนเงินทั้งหมด
ซึ่งทาง DAAT ได้คาดการณ์ว่าในปี 2557 นี้กลุ่มธุรกิจต่างๆ จะหันมาใช้งานสื่อดิจิทัลเพื่อการโฆษณากันมากขึ้น โดยคาดว่าในปี 2557 แบรนด์ต่างๆจะจัดสรรงบประมาณการโฆษณาบนสื่อดิจิทัลรวมที่ 5,863 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2556 ขึ้นถึง 38.3% และจะเป็นสื่อที่แบรนด์ต่างๆ จัดสรรงบประมาณเพื่อทำการตลาดเมื่อเทียบกับงบประมาณการโฆษณาช่องทางอื่นๆ โดยรวมมากถึง 4.82% ในปีนี้อีกด้วย
โดยกลุ่มธุรกิจที่ใช้สื่อดิจิทัลเพื่อการโฆษณามากที่สุดในปี 2556 คือ กลุ่มธุรกิจเพื่อการสื่อสารที่มียอดเงินโฆษณาดิจิทัลถึง 718 ล้านบาท ตามมาด้วยอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ใช้เม็ดเงินไป 504 ล้านบาทและ 366 ล้านบาทตามลำดับ
กลุ่มธุรกิจที่จัดสรรงบประมาณเพื่อการโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลมากที่สุดได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อุตสาหกรรมการสื่อสาร และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง โดยได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลถึง 15.07%, 9.70% และ 8.39% ตามลำดับจากงบประมาณเพื่อโฆษณารวม ซึ่งนาย ศุภฤกษ์ ตั้งเจริญศิริ กรรมการสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ได้ให้ความเห็นว่า การสื่อสารผ่านสื่อดิจิทัลนั้นสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมการสื่อสารได้มากที่สุดจึงทำให้กลุ่มธุรกิจดังกล่าวใช้งานสื่ออนไลน์มากที่สุด
นอกจากนี้ DAAT ยังเผยกลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการจัดสรรงบประมาณเพื่อการโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2556 นั้นได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์บำรุงผิว อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผม ที่มีมูลค่าการเติบโตที่ 139 ล้านบาท 135 ล้านบาทและ 124 ล้านบาทตามลำดับ
ซึ่งนาย ศุภฤกษ์ ตั้งเจริญศิริ ได้กว่าเพิ่มเติมว่า “ธุรกิจ FMCG ได้หันมาใช้เงินในออนไลน์มากขึ้นผ่านทางรูปแบบของวีดีโอ เนื่องจาก ผู้บริโภคส่วนใหญ่ โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย นิยมดูวีดีโอออนไลน์ จึงทำให้เกิดการไหลของเม็ดเงินจากทีวีมาสู่ออนไลน์วีดีโอด้วยเช่นกัน ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ได้เนื่องจากมีการแข่งขันสูงขึ้นนอกจากการใช้เงินเพิ่มขึ้นในเรื่อง Display แล้วยังมีการใช้เงินในรูปแบบของ Search กับ Social ที่มากขึ้นด้วย”
นอกจากการเผยตัวเลขงบประมาณโดยรวมของกลุ่มธุรกิจต่างๆ แล้ว นางสาวจิติรัตน์ สุพรจิรพัฒน์ สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ยังเผยอัตราการใช้งานสื่อออนไลน์ประเภทต่างๆ เพื่อการโฆษณาที่ได้รับความนิยมในสัดส่วนที่ต่างไปในแต่ละอีกด้วย
โดยการโฆษณาประเภท Search นั้นยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2555 – 2557 โดยมีสัดส่วนประเภทโฆษณาเพิ่มขึ้นจาก 14.71% ในปี 2555 เป็น 18.91% ในปี 2556 และคาดว่าจะเท่ากับ 20.16% ในปี 2557 เช่นเดียวกับโฆษณาดิจิทัลประเภทเฟสบุ๊ค (Facebook Ad), วิดีโอ (Video) และมือถือ (Mobile Marketing) ก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน
ในขณะที่การโฆษณาแบบ Mobile Marketing ที่โตขึ้นถึงสองเท่าในปีนี้จะชะลอการเติบโตลงเช่นเดียวกันกับ Social Media ที่จะมีบทบาทลดลง โดยสัดส่วนของการทำการตลาดบนโซเชียลมีเดียนั้นคาดว่าจะตกลงจาก 6.68% ในปี 2556 มาเป็น 6.16% ในปี 2557 นี้
นากจากข้อมูลดังกล่าวแล้วภายในงาน DAAT ยังได้ประกาศการให้ความร่วมมือกับทาง Marketingoops เว็บไซต์ผู้ให้ข้อมูลและกลยุทธ์การทำโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัล ด้วยการเสนอข้อมูลในรูปแบบ infographic เพื่อให้เอเยนซี่โฆษณา และองค์กรอื่นๆ ได้รับข้อมูลที่เป็นมาตรฐานและทำงานได้ง่ายขึ้น
ซึ่ง นางสาวณธิดา รัฐธนาวุฒิ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Marketingoops ได้เผยถึงแผนการสร้าง infographic จากตัวเลขที่สำคัญอื่นๆ ในวงการโฆษณาดิจิทัลของไทย อันได้แก่ ข้อมูลสถิติอินเทอร์เน็ตและพฤิตกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคออนไลน์ (Thailand Digital Industry & Online Users Behaviors), ข้อมูลสถิติการใช้ ไลน์ และโซเชียลเน็ตเวิร์คของไทย (Thailand Social Media Landscape and LINE), ข้อมูลสถิติโทรศัพท์มือถือและกิจกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือของคนไทย (Thailand Mobile Numbers and Mobile Activities) และ ข้อมูลทิศทางภาพรวมธุรกิจโฆษณาดิจิทัล (Digital Ad Spend) ที่จะร่วมมือกับทางสมาคมโฆณาดิจิทัลนี้ว่า จะทำการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวทุกไตรมาส ทุกครึ่งปี และ ทุกปี ผู้ที่สนใจสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ของ DAAT และ MarketingOops
ดาวน์โหลดรายงานได้ที่นี่เลยค่ะ