สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT เปิดตัวเลขการใช้งบประมาณโฆษณาดิจิทัลของประเทศไทยในครึ่งปีแรก พบเติบโตต่อเนื่องอยู่ที่ 6,086 ล้านบาท และคาดการณ์เม็ดเงินของทั้งปีกว่า 12,000 ล้านบาท
ดร.ศุภชัย ปาจริยานนท์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ในฐานะผู้จัดงาน DAAT DAY 2017 กล่าวว่า “งานสัมมนาประจำปีของสมาคมฯ ในปีนี้ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรกว่า 50 ราย ทั้งสื่อดิจิทัลและแบรนด์ชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ร่วมนำเสนอข้อมูลและนวัตกรรมดิจิทัลแก่ผู้เข้าร่วมงานสัมมนากว่า 1,700 คน”
Digital Ad Spending ไทยโตต่อเนื่อง
สิ่งที่เป็นไปตามคาดก็คือ ในปีนี้ การใช้งบประมาณโฆษณาดิจิทัลของประเทศไทยมีการเติบโตต่อเนื่อง ด้วยยอดการใช้จริงของครึ่งปีแรกที่ 6,086 ล้านบาท และได้มีการประมาณการภาพรวมของทั้งปีว่าจะมากกว่า 12,000 ล้านบาทด้วย
โดยกลุ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ใช้งบประมาณโฆษณาทางสื่อดิจิทัลสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ กลุ่มสื่อสาร ยานยนต์และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เพียงแต่น่าสังเกตตรงที่กลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิวนั้นเป็นการใช้งบประมาณที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มยานยนต์นั้นพบว่า เติบโตมากขึ้น และก้าวขึ้นมาเป็นอันดับสองของตลาด เนื่องจากธุรกิจยานยนต์มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามานำเสนอคุณสมบัติต่าง ๆ ของรถยนต์มากขึ้น
ส่วนเบอร์หนึ่งอย่างอุตสาหกรรม Communications นั้นคาดว่ายังคงครองตำแหน่งผู้นำอย่างเนื่อง เหตุเพราะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ และดีไวซ์ใหม่ ๆ เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่แพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีผู้ลงโฆษณามากที่สุดยังคงเป็น Facebook และ YouTube ซึ่งทางสมาคมคาดการณ์ว่าเม็ดเงินโฆษณาสำหรับสื่อดิจิทัลไทยจะสูงขึ้นกว่านี้ ถ้านักการตลาดและนักวางแผนการสื่อสารเข้าใจถึงจุดประสงค์และการวัดผลต่าง ๆ มากขึ้น
ทั้งนี้ ในแพลตฟอร์มการลงโฆษณาได้มีการพูดถึงกลุ่ม Rising Star ซึ่งได้แก่ กลุ่มธนาคาร, กลุ่มบัตรเครดิต เดบิต และกลุ่มประกันภัย ว่ามีการใช้จ่ายบนแพลตฟอร์มดิจิทัลเพิ่มขึ้น ซึ่งคุณพัชรี เพิ่มวงศ์อัศวะ กรรมการโฆษณาสมาคมดิจิทัล (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า อุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง และผู้บริโภคต้องศึกษาหาข้อมูลเยอะก่อนตัดสินใจ การเข้าใช้แชนแนลดิจิทัลจะช่วยให้แบรนด์สามารถดึงความสนใจจากโปรดักซ์ของคู่แข่งด้วยแคมเปญที่ใกล้เคียงกันได้มากยิ่งขึ้น
ส่วนแพลตฟอร์มที่เอเจนซีและแบรนด์มีการใช้จ่ายเงินมากที่สุดสามอันดับแรกหนีไม่พ้น
- Facebook 3,416 ล้านบาท คิดเป็น 28%
- YouTube 1,651 ล้านบาท คิดเป็น 14%
- Display 1,331 ล้านบาท คิดเป็น 11%
อย่างไรก็ดี ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ คุณพัชรีเผยว่า ในแง่ของการ Time Spending นั้น Facebook อาจไม่มากเท่า YouTube ที่จะได้ View ที่มีคุณภาพมากกว่า เพราะคนจะรับชมนานกว่านั่นเอง
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้สองแพลตฟอร์มนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาโปรดักซ์ใหม่ ๆ ของ Facebook ก็มีส่วนอย่างมาก หรือรูปแบบการขายโฆษณาแบบ Exclusive Partner ของ YouTube ก็มีผลมากเช่นกัน
ในยุคที่องค์กรส่วนมากหันมาให้ความสำคัญกับการทำ Digital Transformation เพื่อความอยู่รอด และเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน การก้าวขึ้นสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลในทุกแง่มุมกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกองค์กร และตัวเลขจาก DAAT ในวันนี้อาจเป็นอีกหนึ่งในภาพเล็ก ๆ ที่กำลังสะท้อนออกไปถึงภาพใหญ่ที่หลาย ๆ แบรนด์กำลังก้าวไปได้ดีเช่นกัน
ที่มา: DAAT