Site icon Thumbsup

เจาะเทรนด์ดิจิตอลมาแรงรับปีระกา “VR vs AI vs IoT” จาก DAAT Day 2016

2

แม้งานสัมมนาดิจิตอลยักษ์ใหญ่อย่างDAAT Day 2016 จะจบลงไปแล้วอย่างสวยงาม เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายประเด็นบนเวทีที่จะกลายเป็นกระแสในการพูดถึงต่อไปของผู้คนในวงการดิจิตอล ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจมาจากเวทีสัมมนาหัวข้อ Digital Trend Spotting 2017  ที่มีสามหญิงแกร่งแห่งวงการดิจิตอลคอนเทนต์อย่างคุณณธิดา รัฐธนาวุฒิ ผู้ก่อตั้ง Marketing Oops, คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ผู้ร่วมก่อตั้ง Thumbsup และคุณรัสรินทร์ อรุณอิทธิวิทย์ ผู้ร่วมก่อตั้ง BrandBuffet มาร่วมในการเสวนา

โดยมุมมองของสปีกเกอร์ทั้งสามท่านบนเวทีได้โฟกัสไปที่สามเทรนด์เด่น นั่นคือ เทคโนโลยีเวอร์ชวล เรียลิตี้ หรือ VR ตามด้วยการมาถึงของปัญญาประดิษฐ์ – Artificial Intelligence หรือ AI และการผนวกความสามารถของเทคโนโลยีดิจิตอลลงสู่การใช้งานจริงผ่านอุปกรณ์ IoT

โดยคุณณธิดา จาก Marketing Oops ได้เผยถึงศักยภาพของ VR ผ่านการนำไปใช้งานในหลาย ๆ วงการ ทั้งธุรกิจการบิน อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว วงการเกม และภาพยนตร์ พร้อมเผยถึงรูปแบบการนำไปใช้ว่าไม่ใช่เพราะมันเป็นเทคโนโลยีใหม่ แต่ เพราะ VR เป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจได้ ส่งผลให้หลาย ๆ แบรนด์ลงมาเล่นในตลาดดังกล่าวกันอย่างคึกคัก

ยกตัวอย่างเช่น เครือโรงแรมยักษ์ใหญ่ Marriott ที่นำแว่น VR มาจัดแคมเปญให้กับแขกผู้เข้าพักของโรงแรม โดยให้แขกได้สัมผัสประสบการณ์ในการเดินทางไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ที่น่าสนใจทั่วโลกได้ผ่านแว่นดังกล่าว หรือกรณีของบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ปีนเขายี่ห้อ Merrell ที่จัดกิจกรรมให้ผู้บริโภคได้สัมผัสประสบการณ์การปีนเขาผ่านแว่น VR ของ Oculus Rift ได้อย่างตื่นเต้นเร้าใจ พร้อม ๆ กับได้ประชาสัมพันธ์รองเท้าเพื่อการปีนเขารุ่นใหม่ล่าสุดของทางค่ายไปด้วยในเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ดี แว่น VR อาจไม่ตอบโจทย์ของผู้บริโภคและนักการตลาดได้ทั้งหมด โดยทางคุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจจาก Thumbsup ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของแว่น VR นั่นก็คือ อาการปวดศีรษะหลังจากสวมแว่นที่เกิดกับหลาย ๆ คน ซึ่งทำให้ผู้บริโภคบางส่วนเข็ดขยาดกับการสวมแว่นเหล่านี้ไปเลย

ส่วนเทรนด์ดิจิทัลอีกเทรนด์หนึ่งที่จะมาแรงในปี 2017 ตามการคาดการณ์ของคุณอรนุชผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Thumbsup คือเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เนื่องจากพบว่ามีการใช้งานในหลายวงการแล้วในขณะนี้ เช่น แชทบอทของสำนักข่าว CNN ที่เข้ามาช่วยสรุปข่าวให้ผู้บริโภค รวมถึงแนะนำข่าวสารที่ผู้บริโภคต้องการแบบเฉพาะเจาะจงให้ได้ หรือการนำ AI ไปใช้ในธุรกิจการเงินการธนาคาร เช่น กรณีของ Robo-Adviser แพลตฟอร์มให้คำแนะนำด้านการเงินและการลงทุนโดยเป็นการวิเคราะห์ด้วยอัลกอริธึมจากพอร์ตของผู้ใช้งาน ไม่มีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องเลย เป็นต้น

โดยคุณอรนุชยังได้อธิบายถึงรูปแบบการใช้ AI ในภาคธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลัก ๆ ได้แก่ Interact, Interpret, Integrate และ Engage ทำงานในลักษณะวนลูป (Loop) อย่างต่อเนื่อง เริ่มจาก  Interactหรือก็คือการเริ่มต้นการกระบวนการสื่อสารนั้นเราอาจเปรียบได้กับเทคโนโลยีที่พบในชีวิตประจำวันอย่าง Amazon Echo, siri ที่เริ่มต้นด้วยการทักทายผู้ใช้งานนั่นเอง จากนั้นเมื่อได้รับการตอบกลับจากผู้ใช้งานก็จะเข้าสู่กระบวนการ Interpret เพื่อแปลความในสิ่งที่ผู้ใช้งานต้องการโดยใช้ Machine Learning เมื่อแปลความได้จะเข้าสู่กระบวนการ Integrate เพื่อสร้างรูปแบบการโต้ตอบโดยอิงจากองค์ความรู้พื้นฐานที่มี และกลายเป็นส่วน Engageที่โต้ตอบออกไป จากนั้นระบบก็จะกลับเข้าสู่โหมดของการ Interact ใหม่อีกครั้ง

ด้านคุณรัสรินทร์ อรุณอิทธิวิทย์ ผู้ร่วมก่อตั้ง BrandBuffet ได้ให้ภาพของยุค IoT (Internet of Things) กับการมาถึงของอุปกรณ์อัจฉริยะที่จะมาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ รวมถึงเรื่องของเทคโนโลยีรถอัจฉริยะไร้คนขับที่จะเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางของมนุษย์ในยุคต่อไปอย่างสิ้นเชิง โดยยกตัวอย่างของรถยนต์ค่าย Volvo ที่ประกาศจับมือกับ Netflix  สร้างระบบเอนเตอร์เทนในห้องโดยสารของรถยนต์อย่างเต็มรูปแบบเพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้โดยสารที่ไม่ต้องเพ่งสมาธิกับการขับรถอีกต่อไป

การเปลี่ยนแปลงปรากฏขึ้นในส่วนของช่องเก็บของที่คอนโซลด้านหน้า ในอนาคต ส่วนดังกล่าวอาจกลายเป็นจอดิจิตอลที่พร้อมสำหรับการสตรีมมิ่งคอนเทนต์ต่าง ๆ มารับชมในรถยนต์นั่นเอง และหากผนวกกับบทความที่ทีมงาน Thumbsup เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับแวดวงโฆษณาที่หันมาให้ความสนใจอุตสาหกรรมรถยนต์ในฐานะสื่อใหม่เพื่อการเผยแพร่คอนเทนต์โฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่า การมาถึงของรถอัจฉริยะไร้คนขับที่มีกำหนดอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2020 นั้น จะเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ไม่มีใครอยากตกขบวนเลยทีเดียว

จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีทั้งสามตัว (VR, AI และ IoT) ที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาในเซสชั่นดังกล่าวล้วนเป็นนวัตกรรมแถวหน้าที่ไม่เพียงแต่มีศักยภาพในการสร้างโอกาสใหม่ให้กับองค์กร แต่หลาย ๆ ครั้งยังสามารถกำหนดทิศทางขององค์กรได้อย่างมีนัยสำคัญ และเป็นสิ่งที่นักการตลาดมือฉมังทั่วโลกต่างจับจ้องเป็นตาเดียว