Site icon Thumbsup

พบ “Wi-Fi สาธารณะ” แอบขโมยรหัสผ่านมากกว่า 637 ล้านรหัสทั่วโลก

wifi2

บทความที่นำเสนอในวันนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการทำการตลาดโดยตรง แต่เชื่อว่าน่าเป็นประโยชน์ไม่น้อยสำหรับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน ที่นิยมการใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สายสาธารณะตามสถานที่ต่างๆ โดยไม่มีการป้องกันขณะการใช้งาน เพราะข้อมูลล่าสุดระบุว่า “Wi-Fi สาธารณะ” เหล่านี้แอบเก็บพาสเวิร์ดของผู้ใช้มากกว่า 637 ล้านรหัสทั่วโลก

เว็บไซต์ Opinium.co.uk ได้ทำการสำรวจข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สายสาธารณะ (Wi-Fi) โดยระบุว่า ปัจจุบันในประเทศอังกฤษมีผู้งานอินเทอร์เน็ตไร้สายสาธารณะที่พบว่ามีความเสี่ยงต่อการโดนโจรกรรมหรือการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวสูงถึง 26 ล้านคน โดยในกลุ่มของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สายสาธารณะทั้งหมดมีเพียง 24% เท่านั้นที่มีวิธีการป้องกันในการใช้งาน ในขณะที่อีก 76% กลับไม่มีการป้องกัน และกลายเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการโดนโจรกรรมข้อมูล

นอกจากนี้ในกลุ่มของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือ (Mobile Internet) ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็นับว่าเป็นผู้ใช้งานอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการโดนโจรกรรมข้อมูลด้วยเช่นกัน โดยผลการสำรวจพบว่า มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือสูงถึง 85% ที่มีการเชื่อมต่อกับ Wi-Fi Hotspot โดยไม่มีการตรวจสอบถึงแหล่งที่มาและความปลอดภัยก่อนใช้งาน

เราเรียกกลุ่มนักลักลอบเก็บข้อมูลบนเครือข่าย Wi-fi ว่า “Wi-Fi Sniffer” ซึ่งเป็นได้ทั้งบุคคลทั่วไปหรืออาชญากรทางคอมพิวเตอร์ที่ดักจับข้อมูลส่วนตัวผ่านการใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สายสาธารณะ โดยข้อมูลที่พบว่าชาว Wi-Fi Sniffer ชอบโจรกรรมสูงสุดคือพาสเวิร์ดรหัสผ่านอีเมล, ข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีธนาคาร และบัตรเครดิต

ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 ปี (ปี 2011-2013) พาสเวิร์ดทั่วโลกรั่วไหลบน Wi-Fi สาธารณะมากกว่า 637 ล้านรหัส โดยเป็นข้อมูลบัญชีบริการ (Account) ที่รั่วไหลเฉพาะในปี 2012 ที่ผ่านมาราว 244 ล้านบัญชี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 2011 ถึงกว่า 10 เท่าตัว ส่วนในปี 2013 คาดว่าทั่วโลกมีแนวโน้มการรั่วไหลของบัญชีรวมกันทำสถิติสูงถึง 370 ล้านบัญชี

สถานที่ที่ถูกระบุว่า มีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูลในการใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สายสาธารณะสูงสุดเป็น 3 อันดับแรก ได้แก่ ร้านกาแฟ โรงแรมและสถานที่สาธารณะต่างๆ โดยกิจกรรมในการใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สายสาธารณะที่พบว่ามีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูลสูงสุด คือ การใช้งานอีเมลส่วนตัว (59%) รองลงมาเป็นการใช้งานโซเชียลมีเดีย (53%) การใช้งานแผนที่ (47%) การใช้งานอีเมลของบริษัท (25%) และการซื้อสินค้าออนไลน์ (18%)

วิธีที่ช่วยป้องการการรั่วไหลของข้อมูลในการใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สายสาธารณะได้ดีที่สุด ก็คือ การดาวน์โหลดโปรแกรมป้องกันไม่ว่าจะเป็น Antivirus, Firewall รวมไปถึงการใช้เครือข่ายส่วนตัว Virtual Private Network (VPN) นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการใช้งานอินเทอร์เน็ตสาธารณะที่มีความเสี่ยงต่อการโดนดักจับข้อมูล

ที่มา : Blog Hidemyass.com