แนวคิดของ Startup ที่สำเร็จแล้วมักเป็นประโยชน์กับ Startup รุ่นใหม่เสมอ เพราะเหมือนกับผ่านน้ำร้อนมาก่อน การได้รับฟังเรื่องราวจาก Startup เหล่านี้ก็เหมือนเป็นอาหารสมองชั้นเลิศ โดยวันนี้เราต้องขอขอบคุณ Guest Post ของเรา นพ.รัฐ ปัญโญวัฒน์ ซึ่งเป็นคุณหมอที่สนใจด้านธุรกิจ Tech Startup โดยเฉพาะ นำบทสัมภาษณ์ของ Daniel Ek CEO Spotify บน Wired UK Edition เล่มล่าสุด มาแบ่งปันให้กับผู้อ่าน thumbsup กัน
พอดีผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ ของ Daniel Ek ซึ่งเป็น CEO และผู้ร่วมก่อตั้งของ Spotify บริการสตรีมเพลงจากฝั่งยุโรป ซึ่งลงในนิตยสาร Wired UK ฉบับเดือนพฤษภาคม 2557 รู้สึกมีหลายประเด็นน่าสนใจ จึงนำมาสรุปแชร์ครับ โดยเป็นการสรุปจากคำให้สัมภาษณ์ของ Daniel และคำอธิบายเพิ่มเติมของกองบรรณาธิการนิตยสาร Wired ครับ
Daniel Ek มีประวัติน่าสนใจ เริ่มก่อตั้งบริษัทครั้งแรกตอนอายุ 14 ปี เคยมีช่วงที่ล้มลุกคลุกคลานจนเกือบล้มละลาย ก่อนจะมาประสบความสำเร็จกับการทำบริษัทโฆษณา Advertigo และขายบริษัทได้หลายล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่ออายุ 23 ปี จากนั้นจึงร่วมกับเพื่อนทำ Spotify ต่อ ปัจจุบันอายุ 31 ปี ทำ Spotify มา 8 ปีแล้ว และเพิ่งมีลูกสาวไปไม่นาน
ปัจจุบัน Spotify มีเพลงประมาณ 20 ล้านเพลง เพิ่มขึ้นวันละ 20,000 เพลง ปีที่แล้วจ่ายเงินส่วนแบ่งให้ศิลปินไปกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีรายได้ทั้งหมด 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ถึงแม้ผลประกอบการจะยังขาดทุนอยู่ (ราว 80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2555) แต่มูลค่าของบริษัทปัจจุบันอยู่ที่ราว 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีการขายตลาดไปกว่า 55 พื้นที่ทั่วโลก
Daniel เล่าให้ฟังถึงชีวิตในช่วงก่อตั้งบริษัท ระหว่างทำก็ท้อจะเลิกหลายครั้ง บอกว่าอันนี้คือข้อดีของการมี Co-founder ไว้แชร์เรื่องราวต่างๆ (และปรับทุกข์) มีครั้งหนึ่งเจรจากับค่ายเพลงล้มเหลว เพื่อนถามว่า “Do you believe in the product?”ทำให้เขากลับมามีพลังสู้ต่อ
Daniel เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่เป็นแรงขับดันในชีวิตของเขา 4 อย่าง
- เขาต้องทำในสิ่งที่สามารถเกิดผลกระทบต่อสังคม (Impact) ทำสิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลก ช่วงที่เขาเริ่มมีเงินใหม่ๆ เขาก็เคยใช้ชีวิตแบบเศรษฐีทั่วไป แต่เขาพบว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการในชีวิต สิ่งที่เขาต้องการคือการสร้าง Impact ต่อสังคม
- เขาต้องได้ทำในสิ่งที่เขามี Passion
- เขาต้องได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เขารู้สึกท้าทายตลอดเวลา ได้เรียนรู้จากคนเก่งๆ
- เขาต้องได้ทำสิ่งที่จะอยู่ยืนยาวต่อไป แม้เขาจะไม่ได้ทำมันแล้ว
Daniel ไม่สนมูลค่าของธุรกิจเท่าใดนัก (บอกว่าไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตอนนี้มูลค่าของ Spotify คือเท่าไร) เขาสนใจมากกว่าว่าจะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเพลงไปในรูปแบบไหน และเขาไม่คิดจะ IPO ไม่คิดหรือขายบริษัท เขาอยากทำไปเรื่อยๆ อยากทำธุรกิจที่เป็นระดับโลกโดยมีฐานอยู่ในทวีปยุโรป
ในแง่การบริหารองค์กร Daniel ยังไม่คิดจะย้ายสำนักงานใหญ่ของบริษัทไปอยู่ Silicon Valley เหมือนบริษัทไอทีใหญ่ๆอื่นๆ แค่ไปตั้งสาขาไว้ก็พอ เขาให้เหตุผลว่าที่อเมริกา คนเก่งๆมักถูกดึงตัวไปเข้าบริษัทใหญ่ๆหมดแล้ว แต่ที่ยุโรป เขาหาคนเก่งๆมาทำงานด้วยได้เยอะแยะ
เขาให้ความสำคัญกับการออกแบบอาคารสำนักงานมาก เพราะเขาเชื่อว่า 20% ของวัฒนธรรมองค์กรเกิดขึ้นมาจาก “how you work and where you work” ดังนั้นการออกแบบอาคารของ Spotify จึงจัดให้พื้นที่รับประทานอาหารอยู่ส่วนกลาง ทุกคนที่มารับประทานอาหารจะได้มีโอกาสเจอคนจากต่างแผนก มีจัดปาร์ตี้เบียร์ จัดคลาสสอนกีตาร์ เพราะเขาเชื่อว่า innovation เกิดมาจากความหลากหลาย มันไม่มีทางเกิดมาจากเอาคนมานั่งประชุมกันเพื่อคิดว่าจะ innovate อย่างไร มันมักเกิดมาจากมุมมองของคนภายนอก เหมือนผู้ก่อตั้ง Airbnb ก็ไม่ได้มีพื้นฐานด้านการบริหารโรงแรม หรือเขาเองก็ไม่ได้มีความรู้ธุรกิจเพลงมาก่อน เขาแค่รู้สึกว่ามันควรจะเป็นแบบไหน และก็สร้างมันขึ้นมา
ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ Daniel ทิ้งท้ายด้วยการบอกกับ startup ที่อยากเป็นแบบเขาว่า “ผมไม่เคยพบผู้ประกอบการแม้แต่คนเดียวที่บอกไม่เคยล้มเหลวมาก่อน มันจะมีช่วงเวลาที่คุณอยากจะล้มเลิก แต่แทบทุกครั้งมันจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป คุณต้องเป็นคนที่ไม่สมเหตุสมผล (Unreasonable man) คุณต้องทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดว่าคุณจะทำ ถึงแม้ว่ามันจะดูเป็นไปได้ยาก เพราะมันจะเป็นแบบนั้นเสมอ แต่ถ้าคุณเชื่อในสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ จงสู้ต่อไป”
editorial note: บทความนี้คือบทความพิเศษ (ที่เราเรียกว่า Guest Post) จาก นพ.รัฐ ปัญโญวัฒน์ เป็นคุณหมอที่สนใจในการทำ startup ผู้ร่วมก่อตั้ง iamdr Co.,Ltd บริษัทซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชั่นทางการแพทย์ของไทย ปัจจุบันกำลังพัฒนาแอปพลิเคชั่นบนอุปกรณ์พกพาตัวแรกของบริษัท ชื่อว่า drbook บทความนี้ผู้เขียนส่งมาให้ กองบรรณาธิการ thumbsup อัพโหลดขึ้นให้ชาว thumbsup โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้เขียนเขียน ไม่สะท้อนแนวคิดของกองบรรณาธิการ thumbsup เป็นเพียงมุมมองส่วนตัวของผู้เขียน
บทความนี้ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของผู้เขียน ซึ่งมี thumbsup เป็นผู้เผยแพร่เดียวที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ หากต้องการนำบทความไปใช้กรุณาให้เกียรติด้วยการอ้างอิงชื่อผู้เขียนและลิงก์ กลับมายังบทความต้นฉบับ