การเข้าถึงข้อมูลของผู้บริโภคในปัจจุบันนอกเหนือจากการศึกษาผ่านทางเว็บไซต์แล้ว โทรศัพท์มือถือก็เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยให้เรียนรู้ข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น แต่การเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากอาจกระทบต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงผู้บริโภคอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้สึกยินดีกับการให้ข้อมูลส่วนตัวสักเท่าไหร่นัก ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างแรงจูงใจในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะโปรโมชั่นหรือผลตอบแทน เพื่อช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลเป็นเรื่องที่ง่ายยิ่งขึ้น
การรายงานของเว็บไซต์ PSFK เผยว่า แบรนด์ส่วนใหญ่เริ่มหันมาดึงดูดผู้บริโภคเพื่อให้ข้อมูลกับแบรนด์ ด้วยวิธีการแลกเปลี่ยนกับข้อเสนอและบริการต่างๆ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ในเชิงลึกทั้งด้านการตลาด รวมถึงด้านธุรกิจ เพื่อนำไปสู่การตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น
ตัวอย่างที่น่าสนใจของการเข้าถึงข้อมูลและนำไปใช้ประโยชน์ด้านธุรกิจ คือ แอพพลิเคชั่น Swirl เป็นรูปแบบในการทำตลาดบนมือถือ ที่ช่วยเปิดประสบการณ์ใหม่ในการซื้อสินค้า แอพ Swirl เป็นการเสนอโปรโมชั่นที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละรายเพื่อแลกเปลี่ยนกับการเข้าถึงข้อมูลของลูกค้า เช่น การติดตามสถานที่ซื้อสินค้าหรือสินค้าที่ได้รับความสนใจภายในร้าน
ประโยชน์ของแอพ Swirl นอกจากทำให้แบรนด์สามารถติดตามข้อมูลของลูกค้าได้แล้วนั้น ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจในการซื้อสินค้าและช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์และลูกค้าในเวลาเดียวกัน โดย Hilmi Ozguc ตำแหน่ง CEO ของ Swirl เผยว่าลูกค้ามีแนวโน้มที่จะให้ข้อมูลส่วนตัวกับแบรนด์มากขึ้นหากได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า แต่ลูกค้าเองต้องมีขอบเขตในการให้ข้อมูลด้วยเช่นกัน
อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ CVS เชนร้านขายยายักษ์ใหญ่ ที่นำเสนอโปรโมชั่นพิเศษและคูปองสำหรับสมาชิกที่แตกต่างกันในแต่ละรายโดยดูจากประวัติการซื้อสินค้าในอดีต วิธีดังกล่าวมีข้อดีหลายด้าน เช่น ประหยัดกระดาษ, เวลาในการซื้อสินค้าของลูกค้า และเป็นการยื่นข้อเสนอในการซื้อสินค้า ที่ช่วยให้ลูกค้าไม่ต้องไปเสิร์ชหาจากที่ไหนอีก
การเข้าถึงข้อมูลของลูกค้านอกจากวิธีดังกล่าวที่เสนอแล้ว ยังอาจได้มาจากบริษัทที่สำรวจและรวบรวมข้อมูล ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เรียกได้ว่า มีมูลค่ามากกว่าเงินเสียอีก
ที่มา: PSFK