Site icon Thumbsup

ติดสปีด GET ลุยตลาดเดลิเวอรี่ ใช้ทุกกลยุทธ์ดึงร้านค้าออฟไลน์เข้าแพลตฟอร์มตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

ตลาดเดลิเวอรี่โตมากกว่า 6 เท่าและ GET เข้ามาไทยเพียง 6 เดือน มีการเติบโตมากถึง 168% เรียกได้ว่าโอกาสในตลาดเดลิเวอรี่นั้น ยังมีโอกาสอีกมาก แม้ว่าคนรุ่นใหม่จะใช้งานบริการของ GET กันแล้ว แต่ยังมีร้านอาหารแบบออฟไลน์และคนอีกหลายกลุ่มที่ยังไม่รู้จัก GET ดีพอ

เน้นสื่อสารแบบออฟไลน์มากขึ้น

แม้ว่า GET จะทำตลาดออนไลน์อย่างต่อเนื่องจนเข้าไปถึงใจของคนรุ่นใหม่ที่ใช้งานออนไลน์แล้ว แต่เราก็ต้องพยายามสื่อสารให้คนที่ไม่ได้เข้าถึงออนไลน์แบบ 100% รู้จักแบรนด์ของเรามากขึ้น

นายก่อลาภ สุวัชรังกูร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด GET กล่าวว่า เราเปิดเผยเรื่องเม็ดเงินท่ีจะใช้งานไม่ได้ แต่บอกได้แค่ว่าจะเน้นสัดส่วนไปที่การทำตลาดผ่านสื่อนอกบ้าน หรือ Out of Home เพื่อเน้นเรื่องการสร้างการรับรู้แบรนด์ให้มากขึ้น รวมทั้งใช้สื่อวิทยุหรือพอดแคสต์ เพราะคนรุ่นใหม่เดินทางเยอะขึ้น และต้องการฟังคอนเทนต์ที่ตัวเองต้องการ เราจึงใช้กลยุทธ์นี้ในการสื่อสารภาพลักษณ์ของเรา

นอกจากนี้ ก็เลือกใช้พรีเซนเตอร์อย่าง นนท์ ธนนท์ จำเริญ นักร้องหนุ่มที่มีเพลงฮิตติดชาร์ตมานับไม่ถ้วน มาช่วยสร้างภาพลักษณ์ในการจดจำที่สนุกสนานมากขึ้น ผ่านโฆษณาที่จะเผยแพร่ในทุกช่องทาง เพื่อสร้างการจดจำและติดภาพของ GET มากขึ้น

นายภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GET กล่าวถึงกระแสการเปิดบริการใหม่ของคู่แข่งอย่าง GRAB walk ว่า เราเห็นการเปิดใช้บริการฟีเจอร์นี้แล้ว คิดว่าเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจดี แต่การทำธุรกิจเดลิเวอรี่ของไทยยังมีต้นทุนสูงกว่าเพื่อนบ้าน 3 เท่า และเคยเป็นหนึ่งในแผนที่เราคิด แต่ร้านอาหารเดินไปหาลูกค้าไกลมากและดูจะลำบากเกินไป ก็เลยจะมีแผนบริการที่เชื่อมระหว่างการเดินกับการขนส่งรูปแบบอื่น ซึ่งจะเปิดให้บริการเร็วๆนี้

ทางด้านของความท้าทายในอุตสาหกรรมเดลิเวอรี่นั้น คือเราต้องการให้เซอร์วิสทุกอย่างนิ่งจึงต้องวิ่งให้เร็ว เพื่อทันกันความต้องการของผู้บริโภค ประสบการณ์ในการเข้าใช้งานต้องดี ทรานเซคชั่นในแต่ละบิลต้องจบได้ไว จับความต้องการเรื่องพฤติกรรมการกินอาหารได้ดีไม่แพ้แอพอื่นๆ และทำให้คนหันมาเปิดร้านอาหารเพื่อรองรับความต้องการของคนออนไลน์มากขึ้น

ในต่างประเทศ เคยมีเคสว่านักศึกษาจบใหม่ มีเงินทุนตั้งต้นเพียง 20,000 บาท ก็เปิดร้านอาหารได้แล้ว โดยเน้นที่การส่งขายออนไลน์อย่างเดียว ทำให้ต้นทุนเขาไม่สูงและบริหารจัดการระบบได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งเชื่อว่าในไทยเองเทรนด์นี้ก็คงตามมาในไม่ช้า

ตั้งแต่วันที่เข้ามาบุกตลาดไทย เพียง 6 เดือนก็โตกว่า 6 เท่าแล้ว เชื่อว่าหากเราสามารถสื่อสารให้คนออฟไลน์หรือหน้าร้านอาหารที่ไม่รองรับออนไลน์เข้ามาเป็นหนึ่งในตัวเลือกเมนูสำหรับลูกค้าได้ ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว จึงเป็นเหตุผลให้ GET พยายามกระตุ้นให้ร้านค้าในระบบที่มี 20,000 ร้านค้า ทำรายได้ที่มั่นคงก่อนและไม่ได้เน้นว่าจะต้องมีปริมาณร้านอาหารในระบบมากๆ แต่รายได้ไม่ดี

ส่วนบริการที่ GET จะเน้นหนักคือเรื่องของ GET PAY ที่จะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเร็วๆ นี้หลังจากร่วมมือกับ SCB แล้ว เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ของเราเน้นจ่ายเงินสด รวมทั้งจำนวนบัตรเครดิตก็ไม่ได้ครอบคลุมคนไทยทุกกลุ่ม การผลักดัน GET PAY ให้ใช้งานได้สะดวก น่าจะเป็นเรื่องที่สำเร็จได้ไม่ยาก ช่องทางการเติมเงินก็สะดวก จึงคาดว่าจะเข้าถึงคนท่ีมีและไม่มีบัตรเครดิตได้ทั้งนั้น แต่ก็มองเรื่องการตัดผ่านบัตรเครดิตเช่นกัน มีอยู่ในแผนที่วางไว้แต่ยังไม่ถือว่าเร่งด่วน

ให้ DATA ทำนายกัน

ทางด้านของเทคโนโลยี ที่ได้จากทาง GOJEK และนำมาใช้งานนั้น คือเรื่องของ DATA เพราะบริษัทด้านเทคโนโลยีทุกแห่งมองว่า การนำ DATA มาใช้ให้เกิดประโยชน์ คือการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากที่สุด ทั้งเรื่อง User Experience และ User Interface คือใช้งานได้ง่ายและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างคุ้มค่า

วงศ์ทิพพา วิเศษเกษม ผู้อำนวยการธุรกิจ GET FOOD กล่าวว่า “นอกจากแคมเปญพิเศษนี้แล้ว ทีม GET FOOD เรายังให้ความสำคัญกับการพัฒนา User Experience หรือการใช้งานต่างๆ ให้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และตรงใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาเราได้เก็บข้อมูลการใช้งานของลูกค้าเพื่อนำมาพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ ให้ตอบโจทย์

ในไตรมาสนี้ เราพร้อมที่จะเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่มากมาย ได้แก่ ระบบฟิวเตอร์ที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถเซิร์ชหาร้านหรือเมนูที่ต้องการได้ง่ายขึ้น ฟีเจอร์ OMAKASE ที่จะแนะนำเมนูอาหารที่ Personalized ให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละราย ฟีเจอร์การแสดงส่วนลดแบบใหม่ ที่จะช่วยให้ลูกค้าไม่พลาดกับดีลต่างๆ บนแอพ และอื่นๆ อีกมากมาย

ด้วยพฤติกรรมของลูกค้ากว่า 58% ที่นิยมค้นหาเมนูต่างๆ ก่อน เพื่อดูว่าลูกค้าค้นหาอะไร เมนูไหนที่พวกเขาต้องการ โดย 3 เมนูยอดนิยมที่คนค้นหามากที่สุดคือ ก๋วยเตี๋ยว ขนมปังและส้มตำ จากนั้น ก็จะค้นหาจากราคาที่เหมาะกับกำลังทรัพย์ในการจ่าย และเมนูเด็ดประจำวัน

นอกจากนี้ สิ่งที่ลูกค้ามองหามากที่สุดคือเรื่องของส่วนลดหรือโปรโมชั่น และบางครั้งลูกค้าอาจจะลืมกรอกส่วนลด ระบบของ GET จะดึงส่วนลดที่ลูกค้ามีและเคยเพิ่มเข้าไปในฐานข้อมูล หากสั่งแล้วลืมใส่โค้ด ระบบจะมีการคัดกรองส่วนลดที่ใกล้หมดอายุมาให้ใช้งานก่อน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งาน

การแข่งขันด้านเดลิเวอรี่กำลังร้อนแรง เรียกว่าเป็น 1 ใน 3 ของธุรกิจที่กำลังจะสร้างโอกาสด้านเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อรายได้เข้าสู่ประเทศ แน่นอนว่าผู้เล่นแต่ละรายที่เป็นรายใหญ่ต่างก็ต้องทุ่มสุดตัวเพื่อครองส่วนแบ่งตลาดที่ใหญ่ที่สุด