ด้วยวัฒนธรรมในการทำงานของคนรุ่นใหม่ที่เรียกได้ว่าเปลี่ยนตามใจฉันนั้น ต่างจากคนสมัยก่อนที่รักองค์กรและอยู่กันมาอย่างยาวนาน จากผลสำรวจของ Deloitte Millennial Survey ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจเกี่ยวกับความรู้สึกของคนกลุ่มมิลเลนเนียลที่มีความรู้สึกต่อธุรกิจเปลี่ยนไป และไม่มั่นใจว่าพวกเขาพร้อมสำหรับโลกยุค 4.0 หรือไม่
ผลสำรวจ Deloitte Millennial Survey ครั้งที่ 7 พบว่า ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) และสังคมโลกผ่านไป กลุ่มคนยุคมิลเลนเนียลและ Gen Z ต่างส่งสัญญาณเตือนถึงภาคธุรกิจให้ร่วมกันเร่งมือสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับโลก แม้ว่าธุรกิจบางแห่งจะเริ่มหันมาให้ความสำคัญในประเด็นเรื่องสังคม
แต่กลุ่มมิลเลนเนียลเอง กลับเกิดความเคลือบแคลงในเรื่องของแรงจูงใจรวมทั้งจรรยาบรรณในการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น และนั่นเป็นเสียงจากคนกลุ่มมิลเลนเนียลที่เข้าร่วมการสำรวจรวมทั้งสิ้น 10,455 คน จาก 36 ประเทศ รวมถึงคนกลุ่ม Gen Z ที่เพิ่งเริ่มเข้าทำงานอีกจำนวน 1,850 คนจาก 6 ประเทศ ที่ได้ตอบผลสำรวจในครั้งนี้เช่นกัน
แรงจูงใจในการทำงานลดลง
จากผลสำรวจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า คนกลุ่มมิลเลนเนียลรู้สึกในทางที่ดีกับแรงจูงใจและจรรยาบรรณในการทำธุรกิจ แต่ผลจากการสำรวจในปี 2018 กลับพบว่าตรงกันข้าม โดยความเห็นเรื่องธุรกิจลดลงถึงระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี มีกลุ่มมิลเลนเนียลเพียง 48% ที่ยังเชื่อว่าองค์กรประกอบธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณ เมื่อเทียบกับปี 2017 มีจำนวนถึง 65%นอกจากนี้ มิลเลนเนียล 42% ยังเชื่อว่าผู้บริหารธุรกิจนั้น มีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือสังคม ซึ่งตัวเลขดังกล่าวลดลง 62% ในปีที่แล้ว
ในการสำรวจครั้งนี้กลุ่มมิลเลนเนียลรวมถึงกลุ่ม Gen Z ให้ความสำคัญกับบทบาทของธุรกิจที่มีต่อสังคม และเชื่ออย่างมากว่า ความสำเร็จของธุรกิจนั้นไม่ได้มองกันแค่เพียงเรื่องของผลประกอบการ ธุรกิจควรให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ คือ การสร้างงาน นวัตกรรม การดูแลส่งเสริมชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานของพนักงาน รวมทั้งการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกถามว่า แล้วองค์กรที่ตนสังกัดนั้นให้ความสำคัญในเรื่องใดบ้าง คำตอบที่ได้คือ มุ่งสร้างผลกำไร เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน เน้นการผลิต การขาย หรือบริการ ซึ่งเป็น 3 สิ่งที่องค์กรควรให้ความสำคัญน้อยที่สุด ถึงแม้จะเข้าใจได้ว่าธุรกิจนั้นต้องมีกำไรก่อนถึงจะสามารถให้ในสิ่งที่ต้องการได้ แต่กลุ่มมิลเลนเนียลก็ยังเชื่อว่าธุรกิจควรตั้งเป้าให้กว้างและสมดุลมากขึ้น ควบคู่ไปกับเป้าหมายในด้านผลประกอบการ
นายพูนิท เรนเจน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีลอยท์ โกลบอล กล่าวว่า “คนเจนนี้รู้สึกว่าผู้บริหารองค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องของธุรกิจมากเกินไป โดยไม่คำนึงถึงการทำเพื่อสังคมส่วนรวม ธุรกิจควรหาทางที่จะทำสิ่งดีๆ ให้กับสังคม ชุมชน และให้ความสำคัญกับความหลากหลาย รวมทั้งการให้โอกาสมีส่วนร่วม และยืดหยุ่นในการทำงาน ถ้าองค์กรยังต้องการได้ความจงรักภักดีและความไว้ใจจากพนักงานในกลุ่มมิลเลนเนียลและ Gen Z”
เชื่อช่องว่างช่วยสร้างโอกาส
นอกจากความเชื่อมั่นในเรื่องธุรกิจว่าแย่แล้ว ความเชื่อมั่นต่อผู้นำทางการเมืองยิ่งแย่หนักกว่า เมื่อถูกถามถึงกลุ่มผู้นำบางกลุ่ม ซึ่งรวมถึงกลุ่ม NGO องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ผู้บริหาร ผู้นำศาสนา และผู้นำทางการเมือง คนกลุ่มมิลเลนเนียลเพียง 19% เท่านั้น ที่เชื่อว่านักการเมืองเหล่านั้น จะสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม เทียบกับ 71% ที่ตอบว่าสร้างผลกระทบเชิงลบ
เมื่อเทียบกับความเห็นต่อผู้นำองค์การธุรกิจ ผู้ตอบแบบสำรวจ 44% เชื่อว่า ผู้นำองค์กรธุรกิจจะสร้างผลกระทบที่ดีกับสังคมและยังมีศรัทธาว่าองค์กรธุรกิจ จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายต่อสังคมได้ ขณะที่ 3ใน 4 ของผู้ตอบแบบสำรวจ เชื่อว่า องค์การข้ามชาติขนาดใหญ่มีศักยภาพในการแก้ปัญหาและความท้าทายทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งยังเชื่อว่านอกจากสร้างงานและสร้างกำไร ธุรกิจที่ดีจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสังคมด้วย
ความจงรักภักดีถดถอย จะดึงให้อยู่กับองค์กรจึงต้องมีความหลากหลาย
ความจงรักภักดีของมิลเลนเนียลต่อองค์กรลดระดับลงไปเท่ากับเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดย 43% คิดว่าจะลาออกจากองค์กรที่ตนทำงานอยู่ภายใน 2 ปี มีเพียง 28% เท่านั้นที่มองว่าจะยังคงทำงานที่เดิมเกิน 5 ปี เรียกว่าเป็นคะแนนที่ห่างกันถึง 15 คะแนน หรือเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7 จากปีก่อน และในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามที่บอกว่าตนเองจะลาออกจากงานปัจจุบันในอีก 2 ปีข้างหน้า มีถึง 62% มองว่างานอิสระในระบบเศรษฐกิจแบบ gig economy นั้น จะเป็นทางเลือกที่ดีของพวกเขาเมื่อไม่ได้ทำงานประจำแล้ว มาดูที่กลุ่ม Gen Z ก็พบว่าความจงรักภักดีของกลุ่มนี้ มีน้อยกว่ามิลเลนเนียลถึง 61% และบอกว่าภายใน 2 ปี ถ้ามีโอกาสใหม่ที่ดีกว่าก็จะลาออกจากจากงานปัจจุบันแน่นอน
คำถามในใจขององค์กรธุรกิจ คือ แล้วจะดึงคนเหล่านี้ไว้ได้ยังไง ทั้งกลุ่มมิลเลนเนียลและ Gen Z ต่างให้ความสำคัญกับปัจจัยอย่าง ความอดทน การมีส่วนร่วม ความเคารพ และความคิดเห็นที่แตกต่าง ในขณะที่ค่าตอบแทนที่ได้รับ และวัฒนธรรมองค์กรเป็นตัวดึงดูดคนกลุ่มนี้
แต่ความหลากหลาย การมีส่วนร่วม และความยืดหยุ่น ต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้มิลเลนเนียลและ Gen Z นั้นมีความสุขกับการทำงาน มิลเลนเนียลที่ทำงานในองค์กรที่มีพนักงานและผู้บริหารที่มีความหลากหลาย มีแนวโน้มว่าจะทำงานกับองค์กรไปอีก 5 ปี หรือมากกว่านั้น และในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถามที่บอกว่าจะอยู่กับองค์การเกิน 5 ปี ก็รับรู้ถึงความยืดหยุ่นในการทำงานในปัจุจบันที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการทำงานเมื่อ 3 ปีก่อน
มิลเลนเนียลและ Gen Z ไม่มั่นใจเผชิญโลก 4.0
มิลเลนเนลและ Gen Z ล้วนตระหนักดีว่าโลกยุค 4.0 นั้น กำลังปฏิรูปสถานที่ทำงาน และเป็นไปได้ว่าจะปลดปล่อยคนจากงานที่ซ้ำซากออกไป เพื่อให้คนทำงานไปเน้นงานประเภทที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม หลายๆ คนยังไม่มั่นใจเมื่อจะไปถึงวันนั้น 17% ของผู้ตอบแบบสอบถามและ 32% ของผู้ที่ทำงานอยู่ในองค์กรที่นำเทคโนโลยี 4.0 มาใช้แล้ว ต่างกลัวว่างานบางส่วน หรืองานทั้งหมดจะถูกแทนที่โดยเทคโนโลยี
ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มมิลเลนเนียลเพียง 4 ใน 10 และ Gen Z จำนวน 3 ใน 10 เท่านั้น ที่รู้สึกว่าตนเองมีทักษะที่จำเป็นที่จะประสบความสำเร็จและยังคาดหวังให้องค์กรช่วยสร้างความพร้อมให้พวกเขามั่นใจว่าจะสามารถประสบความสำเร็จในโลกยุคใหม่ได้
นอกเหนือจากความรู้ทางเทคนิค คนทำงานรุ่นเด็กยังต้องการความช่วยเหลือในการสร้างทักษะด้านอารมณ์ (Soft skills) เช่น ความมั่นใจ การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และโดยเฉพาะสำหรับเจนซีที่ต้องเน้นในเรื่องของจรรยาบรรณและความซื่อสัตย์ แต่ในมุมมองของพวกเขา องค์กรยังไม่ได้ให้ความสำคัญและตอบสนองความต้องการในการพัฒนาของพวกเขาในเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่ มิลเลนเนียลเพียง 36% และ Gen Z 42% ที่บอกว่านายจ้างช่วยให้พวกเขาเข้าใจ และเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่สืบเนื่องจากโลกอุตสาหกรรม 4.0
“ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 นี้ องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องฟังมิลเลนเนียล และต้องคิดใหม่ทำใหม่ ในการบริหารบุคลากรที่มีความสามารถ โดยให้ความสำคัญเรื่องการเรียนรู้และพัฒนา ที่จะช่วยให้พนักงานเติบโตในหน้าที่การงานของพวกเขาไปตลอดอายุงาน”
การเป็นผู้บริหารยุคใหม่ที่จะรักษาองค์กรให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะคะ เพราะพวกเขามีจุดยืนในการใช้ชีวิตที่มากกว่าการทำงานแบบเดิม ไม่ใช่แค่ทำงานไปวันๆ แต่จะรักและภักดีต่อองค์กรก็ต่อเมื่อผู้บริหารสามารถดูแลพวกเขาได้ตามที่ต้องการอย่างแท้จริง