DHL eCommerce เปิดผลสำรวจ ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตอีกมากได้จากหลายปัจจัย ทั้งภาคธุรกิจ SME และนโยบาย Digital Thailand ส่วนธุรกิจ eCommerce นั้น DHL จะหันมาเน้นนโยบาย Next Day ส่งสินค้าถึงมือผู้รับในวันรุ่งขึ้นให้กับลูกค้าใน “พื้นที่ห่างไกล” และ ไปรับสินค้า“ฟรี“ถึงที่ให้กับผู้ประกอบการรายย่อย
โดยการลงทุนของ DHL eCommerce ในปีนี้จะเดินหน้าขยายการลงทุนเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยที่คาดว่าจะโตขึ้นถึง 3 เท่า ที่มูลค่า 3,600 ล้านยูโร หรือประมาณ 140,000 ล้านบาทภายในปี พ.ศ. 2563
เกียรติชัย พิตรปรีชา กรรมการผู้จัดการ DHL eCommerce ประเทศไทย กล่าวว่า “ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 22% ต่อปีจนถึงปี พ.ศ. 2563ในขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วนี้ ผู้บริโภคก็มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทั้งในเรื่องความคุ้มค่าและสมเหตุสมผลของราคาค่าบริการ รวมถึงคุณภาพของการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ ด้วยเหตุนี้เราจึงขยายการลงทุนพัฒนาการให้บริการในด้านต่างๆ เพื่อให้ DHL eCommerce ประเทศไทย เป็นตัวเลือกอันดับ 1 ของผู้บริโภคในประเทศไทย”
โดยสิ่งที่ DHL eCommerce จะให้ความสำคัญในปีนี้ประกอบด้วย
- Pickup Service บริการไปรับสินค้าให้ถึงบ้านสำหรับธุรกิจ SME ซึ่งบริการส่วนนี้เกิดขึ้นเพราะว่า ธุรกิจ SME 55% มองว่า การจัดส่งสินค้าคือกิจกรรมที่เสียเวลาค่อนข้างมาก ดังนั้นหากทำให้ธุรกิจ SME ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาได้ และมีเวลาโฟกัสกับการทำธุรกิจของตนเองจึงน่าจะเป็นประโยชน์กว่า ซึ่งการไปรับสินค้าให้ถึงบ้านนี้ จะไปรับให้ฟรีด้วย หากจัดส่งสินค้าในจำนวนเท่ากับที่ DHL ระบุไว้
- Cross-border Service ในจุดนี้ DHL พบว่า ธุรกิจ SME 33% ก็อยากขยายกิจการไปต่างประเทศ แต่อาจมีข้อจำกัดด้านภาษา ภาษี และการดำเนินการต่าง ๆ DHL จึงอยากเข้ามาช่วยในจุดนี้ และมองว่าหากนำเสนอตัวเลือกด้านราคาที่ธุรกิจสามารถจ่ายได้ ก็จะช่วยลดความยุ่งยากให้กับภาคธุรกิจท่ีไม่ต้องลงมาดำเนินการเกี่ยวกับการจัดส่งไปต่างประเทศด้วยตัวเอง
“เรากำลังพัฒนาและเสริมสร้างเครือข่ายการจัดส่งสินค้าภายในประเทศของเราให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เพื่อมอบบริการที่เหนือกว่าในพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงฐานลูกค้าอีคอมเมิร์ซในต่างจังหวัดที่เพิ่มมากขึ้นได้อย่างทั่วถึงด้วยบริการที่มีมาตรฐานและคุณภาพ นอกจากนี้เราได้ขยายบริการด้านการรับสินค้าถึงที่ (pick-up service) สำหรับผู้ประกอบการทุกขนาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SMEs กว่า 2.7 ล้านรายในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการจัดส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค โดยผู้ประกอบการไม่ต้องเสียเวลาเดินทางและรอเข้าคิวเพื่อจัดส่งสินค้าอีกต่อไป ทำให้มีเวลาในการพัฒนาและขยายธุรกิจให้เติบโตมากยิ่งขึ้น”
ความพร้อมอีกด้านคือเครือข่ายกระจายสินค้า ปัจจุบัน DHL eCommerce มีศูนย์กระจายสินค้าขนาด 3,222 ตารางเมตรในกรุงเทพฯ และเครือข่ายศูนย์กระจายสินค้าย่อยทั่วประเทศไทยที่สามารถรองรับการจัดส่งสินค้ากว่า 15 ล้านรายการในแต่ละปี นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประกอบการยังสามารถใช้บริการเก็บเงินปลายทาง หรือ COD (Cash on Delivery) ซึ่งจะชำระเงินคืนเมื่อสินค้าส่งถึงมือผู้รับในแต่ละวัน รวมถึงศูนย์บริการลูกค้า (Call Center) ที่สามารถให้บริการได้หลากหลายภาษา และมีการบูรณาการระบบไอทีที่เข้าถึงได้ง่ายมารองรับการบริหารคำสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในการจัดเตรียมสินค้าก่อนการจัดส่งผ่านเครือข่ายการให้บริการของ DHL
“มีการคาดการณ์ว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซรูปแบบ B2C ระหว่างประเทศจะมีขนาดใหญ่ขึ้นจนแตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปีพ.ศ. 2563 และในปีที่ผ่านมา DHL eCommerce ประเทศไทยมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วโดยที่เราได้ขยายการให้บริการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค” ชาร์ลส์ บรูเออร์ ประธานกรรมการบริหาร DHL eCommerce กล่าว “เรารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ส่งมอบสินค้าและบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานจนถึงมือผู้บริโภคด้วยรอยยิ้ม และเรายังคงมุ่งมั่นที่จะนำเสนอทางเลือกที่หลากหลายทั้งสำหรับการรับและการจัดส่งสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด”