13 กุมภาพันธ์ 2018 คือวันเดียวที่ Diesel จะวางจำหน่ายสินค้าปลอมที่ “ตัวเองปลอมตัวเอง” บนเว็บไซต์ คาดว่าชาวออนไลน์ทั่วโลกจะแห่คลิกซื้อสินค้า “limited” ที่ Diesel สร้างขึ้นแบบสะกดคำผิดเป็น “DEISEL” ขณะที่โลกการตลาดต้องจดบันทึกเรื่องราวนี้ ว่า Diesel เป็นแบรนด์ที่มีทีมการตลาดซึ่งก้าวข้ามขีดจำกัดทั้งปวงจนได้รับเสียงปรบมือเหนือแบรนด์คู่แข่งในเวลานี้
เสียงปรบมือนี้เกิดขึ้นเพราะแคมเปญ Go with the Flaw ซึ่ง Diesel ตัดสินใจผลิตสินค้า “knock-off” หรือสินค้าปลอมที่สะกดคำผิดขึ้นมาด้วยตัวเอง โดย Diesel บอกว่าตั้งใจเฉลิมฉลองให้กับคนที่จริงใจกับความต้องการของตัวเอง แล้วเลือกสวมใส่อะไรก็ได้แบบไม่ใส่ใจอะไรทั้งนั้น ประเด็นนี้ Diesel กัดเจ็บแสบโดยเรียกลูกค้าผู้ซื้อของปลอมว่า “who wear whatever the hell they want”
Diesel ไม่ลืมโฆษณาบนเว็บไซต์ว่า สินค้าแบรนด์สะกดผิด DEISEL จะเป็นสินค้าปลอมที่เหมือนต้นแบบมากที่สุดเท่าที่คนกลุ่มนี้จะเคยใส่มา พร้อมกับบอกว่าแฟชันเซ็ตนี้จะเป็นสุดยอดคอลเล็คชันสำหรับทุกคนที่ต้องการโชว์ความสามารถในการพิจารณาสินค้าแฟชันแบบที่น้อยคนจะทำได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่แยกออกระหว่างงานก็อปเกรดเอและงานก็อป “มิลเลอร์”
หากถอดรหัสแคมเปญนี้ เราจะพบว่า Diesel ต้องการตีแผ่วัฒนธรรมวงการสินค้าปลอมออกมาให้ชัด สิ่งที่ Diesel เหน็บกัดในวิดีโอแบรนด์ปลอมอย่าง DEISEL คือบทสนทนาระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าปลอม ที่วงการสินค้าแบรนด์เนมของจริงไม่มีวันเกิดขึ้น
หนุ่มคนขายลีลากวนบอกว่า “นี่คือ Diesel ของแท้นะครับ” ลูกค้าก็บอกทันควันว่า “มันไม่แท้นี่ มันสะกดผิด” เจ้าของร้านจึงแซวลูกค้าว่า “นี่คุณไม่ใช่ตำรวจใช่ไหม” และบอกว่า “เป็น nerd รึเปล่านี่ มาตรวจคำสะกดที่ร้านเรา”
บทสนทนานี้เห็นชัดว่า Diesel จิกกัดลูกค้าผู้ซื้อสินค้าปลอมว่าซื้อแบบรู้ทั้งรู้ คนขายก็ขายแบบไม่สนใจแบรนด์ แถมเมื่อตกลงซื้อแล้ว ก็เข้าสู่วัฒนธรรมต่อรองราคา “1 for 20, 2 for 40, Happy Birthday”
แต่อย่างไร ตอนท้ายของวิดีโอ Diesel ก็สรุปให้ว่านี่คือยีนส์แท้ ปลอมก็แค่ป้ายโลโก้ พร้อมกับไม่ลืมกัดอีกว่าลูกค้าที่ซื้อสินค้าที่ร้านปลอมซึ่ง Diesel ตั้งบนถนน Canal Street ในนิวยอร์กช่วงวันที่ 9-12 กุมภาพันธ์ คือ “คนที่ฉลาดพอที่ตัดสินใจซื้อ”
นอกจาก Diesel จะแสดงตัวว่ารู้ดีถึงความรู้สึกคอสินค้าปลอม ว่าภูมิใจขนาดไหนถ้าได้ซื้อของปลอมที่เหมือนของแท้ แต่ก็ไม่ลืมแทรกภาพความตั้งใจในการผลิตยีนส์ของตัวเองลงไป ทั้งภาพการเย็บมือ การลงมือกรีดยีนส์ ซึ่งต้องปรบมือให้ทีมการตลาดที่สามารถแฝงสารนี้ลงไปในวิดีโอได้แนบเนียน
ที่มา: BrandChannel