กลายเป็นธรรมเนียมทุกปีสำหรับ We are social และ Hootsuite ในการสรุปภาพรวมการใช้งานดิจิทัลทุกรูปแบบ รวมถึงการเติบโตของแพลตฟอร์มยอดนิยม ที่เสมือนเป็นไบเบิลให้คนที่อยากเข้าสู่ออนไลน์มีข้อมูลที่ชัดเจนขึ้นว่า ถ้ายังไม่เริ่มต้นเข้าสู่โลกออนไลน์ในยุค 2021 นั้น อาจเป็นเรื่องที่ช้าไปสำหรับบางคนแล้ว
ภาพรวมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
เริ่มต้นกันที่ จากประชากรรวมทั้งหมดทั่วโลกที่มีกว่า 7.83 พันล้านคนนั้น ถูกแบ่งเป็น สัดส่วนผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ 5.22 พันล้านคน สัดส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 4.66 พันล้านคนและสัดส่วนผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย 4.20 พันล้านคน
นอกจากนี้ สัดส่วนการใช้งานอุปกรณ์สื่อสารของแต่ละบุคคลนั้น ก็ถูกแยกออกเป็นแต่ละประเภท เช่นกัน โดยประชาชนส่วนใหญ่ของโลกนี้ มีการใช้งานโทรศัพท์มือถือกว่า 97.1% ในตัวเลขนี้ มีการแบ่งประเภทเป็น สมาร์ทโฟน 96.6% และฟีเจอร์โฟน (โทรศัพท์ปุ่มกด) 9.0%
อย่างไรก็ตามในมุมของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์ประเภทต่างๆ นั้น ก็ถูกแบ่งเป็น
- แลปท็อปและคอมพิวเตอร์ 64.4%
- แท็บเลต 34.3%
- ทีวีสตรีมมิ่ง 14.4%
- เกมส์คอนโซล 21.4%
- สมาร์ทโฮมดีไวซ์ 12.3%
- สมาร์ทวอชหรือริสแบนด์ 23.3%
- เวอร์ช่วลดีไวซ์ (เช่น แว่นวีอาร์) 4.4%
ทั้งนี้ การเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตนั้น ยังถูกแบ่งออกเป็นพฤติกรรมของแต่ละคนในแต่ละช่องทาง ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกันเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด คือ 6.54 ชั่วโมงต่อวัน ตามมาด้วยการรับชมรายการทีวีแบบสตรีมมิ่ง 3.24 ชั่วโมงต่อวัน และเล่นโซเชียลมีเดีย 2.25 ชั่วโมงต่อวัน
สำหรับช่องทางที่คนทั่วโลกนิยมในการใช้ค้นหาสิ่งต่างๆ ที่ต้องการ ยังคงเป็น Google ถึง 91.4% ตามมาด้วย Bing Yahoo และ Yandex ซึ่งก็แล้วแต่ความชำนาญในการเข้าถึงช่องทางการค้นหา (Search) ที่แตกต่างกัน
แน่นอนว่าในหนึ่งคนที่มีสมาร์ทโฟนต่างก็มีแอปพลิเคชั่นไว้ให้เลือกใช้งานเยอะมากเช่นกัน และสำหรับพฤติกรรมที่คนนิยมทำผ่านอุปกรณ์สมาร์โฟนก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการสื่อสารหรือแชท เล่นโซเชียลมีเดีย ดูคลิปวิดีโอ และฟังเพลง ตามลำดับ
ส่วนเรื่องของการใช้ระยะเวลากับแอปบนมือถือนั้น ภาพรวมอยู่ที่การจับใช้งานมือถือ 4.10 ชั่วโมงต่อวัน อาจจะเป็นช่วงของการเดินทาง ช่วงเวลาพักจากการทำงาน เพื่อมีเวลาส่วนตัวในการเข้าถึงคอนเทนต์ สื่อสารกับบุคคลอื่นๆ และผ่อนคลาย เป็นต้น
ทางด้านของแอปพลิเคชั่นยอดนิยมและมีการเข้าใช้งานซ้ำบ่อยที่สุด (Active user) คงหนีไม่พ้น Facebook, Whatsapp, Facebook Messenger, Instagram และ Amazon ซึ่งการใช้งานส่วนใหญ่ก็คงไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ นั่นคือ สื่อสาร เข้าถึงข้อมูลบุคคลอื่นๆ ซื้อสินค้า เป็นต้น
ส่วนทางด้านของแอปหน้าใหมที่มีคนดาวน์โหลดใหม่เยอะที่สุด ก็คงจะเป็น Tiktok แอปวิดีโอสั้นที่มีความสนุกสนานและเป็นแอปที่มีคอนเทนต์แปลกใหม่ทุกวัน สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนที่ชอบทำอะไรสนุกๆ และไม่ต่อเนื่องยาวเกินไป เพราะเวลาในการรับชมแต่ละครั้งจะสั้นลงเรื่อยๆ
ส่วนแอปที่มีการใช้จ่ายภายในแอปมากที่สุด แน่นอนว่านาทีนี้มาแรงแซงโค้งกว่าใคร นั่นคือ Tinder อาจเพราะคนเราเมื่อต้องกักตัวหรือมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ก็เริ่มอยากที่จะพูดคุยกับคนใหม่ๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ Tinder กลับมามียอดการใช้จ่ายสูงสุดในปีนี้
อีกข้อมูลหนึ่งที่เราอยากจะแทรกเข้ามาเพื่อแจ้งให้นักการตลาดทราบนั่นก็คือ คนส่วนใหญ่เริ่มมีการใช้ Ad Blockers กันมากขึ้น ซึ่งการใช้เครื่องมือนี้ หมายถึงการยิงโฆษณาถึงกลุ่มเป้าหมาย หรือการติดตั้งฟีเจอร์ให้นักท่องอินเทอร์เน็ตอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป อาจเป็นผลพวงมาจากการที่คนเริ่มใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น
แบรนด์หรือสินค้าต่างก็ไม่อยากที่จะห่างหายไปจากสายตาของผู้ชมจึงมีการซื้อโฆษณาจากแพลตฟอร์มยอดนิยมต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเรื่องดีคือมีการใช้จ่ายให้กับแพลตฟอร์มยังอยู่รอดได้ เพียงแต่ข่าวร้ายคือการยิงแอดหรือทำโฆษณาประเภทต่างๆ บนแพลตฟอร์มนั้น อาจไม่ใช่เรื่องการันตีได้ว่ากลุ่มเป้าหมายที่เราวาดฝันจะเห็นงานโฆษณาของเราทุกชิ้นอีกต่อไป
ภาพรวมการใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
เราจะมาดูข้อมูลการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมกันบ้าง เริ่มกันที่ Facebook ยังคงมีผู้ใช้งานแตะ 2.18 พันล้านคนทั่วโลก ซึ่งในกลุ่มนี้เป็นบัญชีผู้ใช้งานที่มีคุณภาพต่อแบรนด์หรือธุรกิจที่ต้องการยิงโฆษณาถึง 36% ทำให้แบรนด์มีโอกาสในการเข้าถึงบัญชีเหล่านี้สูงถึง 48 ล้านบัญชี และเพศชายก็เป็นผู้ที่มีจำนวนบัญชีในเฟสบุ๊กมากกว่าผู้หญิง
Youtube
มาแรงแซงตามกันไม่น้อยสำหรับ Youtube ที่มีผู้ใช้งานทั่วโลกแตะ 2,000 ล้านคน โดยผู้คนทั่วโลกยังคงชื่นชอบในการรับชมคอนเทนต์วีดีโอจากแพลตฟอร์มนี้มากที่สุด และส่วนใหญ่ก็จะรับชมจากสมาร์ทโฟนส่วนตัวถึง 70%
อีกหนึ่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่คนชอบถ่ายรูปนิยมเข้าไปส่องภาพสวยๆ กันมากที่สุดอย่าง Instagram ที่มีจำนวนบัญชีผู้ใช้งานกว่า 1.22 พันล้านบัญชี และยังช่วยให้นักการตลาดทำโฆษณาเข้าถึงเจ้าของบัญชีโดยตรงได้ถึง 20% ซึ่งจะมีคนเห็นคอนเทนต์โฆษณาของคุณได้กว่า 63 ล้านคนแล้ว
Tiktok
แอปวิดีโอสั้นน้องใหม่มาแรง ก็สร้างผู้ใช้งานรายเดือนแบบ Active user กว่า 11.3% จากจำนวนดาวน์โหลดทั้งหมด 689 ล้านคน ซึ่งผู้ใช้งานใหม่ก็ยังคงให้ความสนใจกับช่องทางนี้
แม้จำนวนผู้ใช้งานทวิตเตอร์จะดูเติบโตช้าๆ และยังคงมีการในไทยไม่คึกคักเท่ากับต่างประเทศ แต่ก็มีตัวเลขการใช้งานรวมกว่า 353.1 ล้านบัญชีแล้ว อาจเป็นเพราะมีแอคหลุมเกิดขึ้นเยอะทำให้ยากกับระบบที่จะคัดกรองได้ว่าใครเป็นผู้ใช้งานตัวจริงและมีการเข้าถึงหรือมีส่วนร่วมกับแบรนด์หรือนักการตลาดได้จริงๆ แต่เรื่องดีๆ ก็คือมีจำนวนผู้ใช้งานที่เข้าถึงโฆษณาและแคมเปญต่างๆ เพิ่มขึ้นแล้ว
อย่างไรก็ตามยังมีตัวเลขและข้อมูลอีกมากที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาพรวมการใช้งานดิจิทัล 2021 ซึ่งทาง thumbsup จะนำข้อสรุปมาแยกย่อยให้ผู้อ่านได้เห็นสถิติใหม่ๆ กันอีกเรื่อยๆ ค่ะ
ที่มา : We are Social