สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ The Digital Advertising Association of Thailand (DAAT) ร่วมกับ คันทาร์ (ประเทศไทย) บริษัทวิจัยการตลาดและที่ปรึกษากลยุทธ์ด้านแบรนด์ชั้นนำของโลก เผยผลสำรวจรายงานมูลค่าโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลของประเทศไทยประจำปี 2567 และคาดการณ์มูลค่างบประมาณปี 2568 พบว่า เม็ดเงินและการใช้จ่ายในโฆษณาดิจิทัลของไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2567 ตัวเลขการลงทุนจริงได้แตะที่ 31,544 ล้านบาท หรือที่อัตราการเติบโตที่ 8% และยังได้คาดการณ์ว่างบลงทุนโฆษณาบนสื่อดิจิทัล ปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตที่ 10% คิดเป็นมูลค่า 34,556 ล้านบาท
ทางด้านของ กลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนในสื่อโฆษณาดิจิทัลสูงสุด 5 อันดับแรกในปี 2567-2568
- กลุ่มผลิตภัณท์สกินแคร์ มีเม็ดเงินการลงทุน 5,066 ล้านบาทในปี 2567 และจะเติบโตจนถึง 6,128 ล้านบาทในปี 2568
- กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ มีเม็ดเงินลงทุน 3,016 ล้านบาทในปี 2567 แต่มีการคาดการณ์ว่าเม็ดเงินในอุตสาหกรรมนี้อาจมีการชะลอตัวที่ 2,981 ล้านบาทในปี 2568
- กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีเม็ดเงินการลงทุน 2,513 ล้านบาทในปี 2567 และจะเติบโตถึง 2,942 ล้านบาทในปี 2568
- กลุ่มโทรคมนาคม ที่มีการลงทุนที่ 2,014 ล้านบาทในปี 2567 และคาดการณ์ว่าจะโตถึง 2,525 ล้านบาทในปี 2568
- กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม มีเม็ดเงินการลงทุน 2,035 ล้านบาทในปี 2567 และเติบโตขึ้นไปอยู่ที่ 2,104 ล้านบาทในปี 2568
เมื่อพิจารณาการลงทุนตามช่องทางโฆษณาดิจิทัล พบว่า Facebook และ Instagram จากค่าย Meta ยังคงเป็นแพลตฟอร์มหลักที่นักการตลาดเลือกใช้ แม้ว่าส่วนแบ่งการตลาดจะลดลงเล็กน้อยจาก 28% ในปี 2567 เป็น 26% ในปี 2568 แต่แพลตฟอร์มที่น่าสนใจคือการเติบโตอย่างรวดเร็วของ TikTok ที่คาดว่าในปี 2568 จะขึ้นแท่นเป็นแพลตฟอร์มที่มีเม็ดเงินโฆษณาสูงสุดเป็นอันดับสอง ด้วยมูลค่า 5,510 ล้านบาท ขณะที่แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์อย่าง YouTube กลับลดลงเป็นอันดับ 3 และแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอื่นๆ ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง
ภารุจ ดาวราย นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ด้วยมูลค่าการลงทุนโฆษณาดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ 31,544 ล้านบาท ในปี 2567 และคาดการณ์ว่าจะเติบโตอีก 10% เป็น 34,556 ล้านบาทในปี 2568 DAAT เชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นแนวทางสำคัญให้ผู้ประกอบการและนักการตลาดสามารถวางแผนกลยุทธ์ และกำหนดทิศทางของการลงทุนของอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัลไทยได้อย่างแม่นยำและเติบโตอย่างยั่งยืน”
ทางด้านของเสวนาเกี่ยวกับวงการตลาดโฆษณาดิจิทัล ที่ได้ตัวแทนจากเอเจนซีต่างๆ และได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้งบในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ
ดร. อาภาภัทร บุญรอด กรรมการผู้จัดการฝ่ายลูกค้า และประธานฝ่ายการเจริญเติบโตแห่งเอเชียอาคเนย์ คันทาร์ (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจโดยรวม และการจำกัดงบประมาณการโฆษณาของกลุ่มแบรนด์ต่าง ๆ ในช่วงครึ่งปีหลังของ 2567 มีผลมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาทางดิจิทัลไม่ได้เติบโตเท่าที่มีการคาดการณ์เอาไว้
หากมองในมุมของกลุ่มอุตสาหกรรม จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์ดูแลผิว มีการเติบโตในการลงทุนเม็ดเงินโฆษณาสูง ซึ่งสะท้อนไลฟ์สไตล์ในเรื่องการทำงานและการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมมากขึ้น รวมถึงเทรนด์ของเรื่องสุขภาพและความงามที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญและใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามมากขึ้น
ส่วนด้านช่องทางการลงโฆษณานั้นเป็นไปตามที่คาด ว่า TikTok จะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด และเห็นได้ชัดเจนว่า เป็นการเติบโตจากเม็ดเงินโฆษณาในกลุ่มของผลิตภัณฑ์สกินแคร์
พิสิษฐ์ จาตุรพันธ์ นักวิจัยการตลาดอาวุโส คันทาร์ (ประเทศไทย) ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ปัจจัยส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอด 12 ปีที่ผ่านมาคือสัดส่วนการเข้าถึงสื่อดิจิทัลและการใช้เวลาบนโลกออนไลน์ที่สูงมากของคนไทย ในรอบปี 2567 และ 2568 เรามีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเก็บผลวิจัย โดยแยกระหว่างกลุ่มโทรคมนาคม และอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ออกจากกัน ทำให้พบว่า กลุ่มอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ยังคงมีอัตราการเติบโตที่ต่อเนื่อง ส่งผลมาจากการที่แบรนด์ออกอุปกรณ์สื่อสารรุ่นใหม่ ๆ
ในขณะที่กลุ่มโทรคมนาคมมีแนวโน้มที่จะหดตัวลงเล็กน้อย เกิดมาจากการแข่งขันในตลาดที่เปลี่ยนความสนใจจากทำแบรนด์ดิ้ง เป็นการเน้นที่รักษาฐาน และเพิ่มความภักดีของลูกค้าปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องมือวัดผลและเก็บข้อมูลบนโซเชียลมีเดียนั้น พบว่า AI เป็นเครื่องมือที่มีการใช้งานมากขึ้นถึง 75% และคาดว่าทั้งในแง่นักการตลาดและบุคคลทั่วไปจะมีข้อมูลจำนวนมากหลั่งไหลเข้าไปในระบบเทคโนโลยีนี้ จากการเปิดกว้างในเรื่องของ opensource ai , multimedia model ai, ยิ่งทำให้เครื่องมือนี้เป็นที่นิยม ขณะเดียวกันภาครัฐก็เริ่มเข้ามาเดินหน้าเรื่อง ai governance เข้ามาจัดการเรื่องลิขสิทธิ์ต่างๆ มากขึ้น ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ai ส่งผลต่อทุกสายอาชีพ แต่ไม่ว่า ai จะสำคัญแค่ไหน แต่ในเรื่องของ people intelliigence ก็สำคัญไม่แพ้กัน