คู่เหมือนดิจิทัล หรือ Digital Twins คือการสร้างแบบจำลองวัตถุทางกายภาพให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล อีกหนึ่งเทคโนโลยีความหวังใหม่ของอุตสาหกรรมที่ทั้งโลกจับตามอง จากจุดเริ่มต้นแนวคิดในอุตสาหกรรมการผลิต อาทิ การผลิตอากาศยาน หรือรถยนต์ สำหรับการจำลองเหตุการณ์และวางแผนการดำเนินการผลิตหรือการซ่อมบำรุง รวมทั้งการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ แนวคิดการสร้าง Digital Twins นั้นถือกำเนิดมาตั้งแต่หลายทศวรรษก่อน แต่การทำให้แนวคิดดังกล่าวเป็นจริงได้ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหลายชนิด รวมทั้งเงินทุนจำนวนมหาศาล มีองค์กรเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่สามารถนำมาใช้ได้
แต่ในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ง่ายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีการสร้างวัตถุ 3 มิติ เทคโนโลยีเซ็นเซอร์และ Internet of Things (IoT) เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งเทคโนโลยีที่สร้างช่องทางการสื่อสารที่เชื่อมโยงระบบต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่าง Cloud ทำให้แนวคิด Digital Twins กลายเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทและได้รับการจับตามองมากขึ้นเช่นกัน หลายอุตสาหกรรมเริ่มนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้งานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และเพื่อการพัฒนาไปสู่การเป็น Smart City ทั้งนี้ Digital Twins ไม่เพียงเป็นภาพจำลองที่สวยงามเท่านั้น แต่มีกลไกในการนำวัตถุ กระบวนการ ความสัมพันธ์ และพฤติกรรมทางกายภาพมารวมเข้าด้วยกัน เพื่อใช้สังเกต และติดตามประสิทธิภาพของวัตถุอย่างละเอียด รวมทั้งสามารถสำรวจหรือคาดการณ์ผลลัพธ์ในอนาคตที่อาจไม่ได้สะท้อนสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
นางสาวธนพร ฐิติสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ESRI ผู้นำด้าน Location Intelligence การวิเคราะห์ภูมิสารสนเทศ ในมุมมองใหม่ จากความเชี่ยวชาญในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ArcGIS แพลตฟอร์มภูมิสารสนเทศอัจฉริยะระดับโลกในประเทศไทยมากว่า 30 ปี ให้ความเห็นว่า แนวคิดของการทำ Digital Twins สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม โดย Gartner บริษัทวิเคราะห์เทคโนโลยีหนึ่งในบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำคาดการณ์ว่า Digital Twins จะเป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตามองและเป็นกุญแจสำคัญในอีก 5 ปีข้างหน้า หลายองค์กรได้นำ Digital Twins มาเป็นหนึ่งในอาวุธที่จะเข้ามาบริหารจัดการข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน หรือเพื่อศึกษาแนวโน้มสำหรับการคาดการณ์ในอนาคต อาทิ ธุรกิจขุดเจาะน้ำมันนำ Digital Twins มาใช้ในการตรวจสอบอุปกรณ์ในบ่อเจาะน้ำมันและโรงกลั่น เพื่อคาดการณ์เวลาที่ต้องซ่อมบำรุง
นอกจากนี้ ยังมีการนำ Digital Twins ไปใช้ในด้านผังเมือง โดยใช้ในการจำลองสภาพแวดล้อม สภาพเมืองให้ใกล้เคียงกับเมืองจริง ๆ ให้มากที่สุด เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดแนวทางการวางผัง การแก้ปัญหา และการจัดการเมือง ก่อนที่จะลงมือจัดการกับสถานการณ์จริง รวมไปถึงการนำมาใช้ด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเมืองสู่สมาร์ทซิตี้ อาทิ สำนักงานการวางแผนพัฒนาเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นำเทคโนโลยี Digital Twins มาใช้ในการสร้างแบบจำลอง 3 มิติ เพื่อวิเคราะห์รูปแบบเมืองและทำความเข้าใจผลกระทบการเปลี่ยนแปลงของเมืองในหลากหลายมิติและบริบทที่อาจเกิดขึ้น ช่วยประกอบการตัดสินใจได้เร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น นับเป็นเทรนด์เทคโนโลยีความหวังใหม่ของทุกอุตสาหกรรมที่น่าจับตามอง
สำหรับการนำเทคโนโลยี GIS มาประยุกต์ใช้เป็นองค์ประกอบของ Digital Twins สามารถใช้ในการจำลองสภาพเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบัน บริหารจัดการ หรือมอนิเตอร์ประสิทธิภาพของระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สินทรัพย์ในพื้นที่ โครงข่ายสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลง และนำไปสู่การปรับปรุง บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานในเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้น ตลอดจนการจำลองภาพผังในอนาคต เช่น การวางผังเมือง ผังชุมชน ผังโครงการต่าง ๆ ที่กำลังจะมีการพัฒนาในอนาคต นำไปสู่การพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ และเชื่อมโยงสอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงในระดับนานาชาติอีกด้วย
ทั้งนี้ เทคโนโลยี GIS ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของ Digital Twins ในการวางผังเมืองและจัดการโครงสร้างพื้นฐานของเมือง (Planning and Engineering) ตั้งแต่กระบวนการเตรียมข้อมูลเพื่อทำ Digital Twins ไปจนถึงการประยุกต์ใช้ ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้
- Data Capture เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลจากภาพถ่ายจากโดรน หรือการ Integrate Data มาจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น CAD และ BIM
- Real time and Visualization การแสดงผลข้อมูลแบบเรียลไทม์ เช่น การบูรณาการร่วมกับ Internet of Things (IoT) หรือการมอนิเตอร์ข้อมูล รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อดูแนวโน้มและประเมินผลกระทบด้านประชากรและสภาพแวดล้อม
- Share and Collaborate รองรับการบูรณาการและการมีส่วนร่วม สามารถเข้าถึงข้อมูลร่วมกันในองค์กรและชุมชน รวมไปถึงการสร้างช่องทางการมีส่วนร่วม เพื่อสื่อสารกับภาคเอกชนและประชาชน
- Analyze and Predict การวิเคราะห์และคาดการณ์ ด้วยการนำระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยี AI, Machine Learning และ Deep Learning มาใช้ในการคาดการณ์ล่วงหน้า เพื่อเตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ นำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง ลดความผิดพลาด
การนำ Digital twins มาปรับใช้ในประเทศไทย ควรเริ่มตั้งแต่การบูรณาการข้อมูลมาเป็น Onemap เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการทำ Digital Twins ให้มีประสิทธิภาพ ทำให้การวางแผน การตัดสินใจรัดกุมขึ้น แก้ปัญหาตรงจุดขึ้น ใช้โซลูชันถูกต้องมากขึ้น เพื่อเป็นแผนการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม ทำให้สามารถมองเห็นภาพพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และระยะเวลาที่น้ำจะท่วม เพื่อการวางแผนเข้าช่วยเหลือ และแจ้งเตือนประชาชนได้ทันที รวมทั้งการบริการและอำนวยความสะดวกประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำข้อมูลนี้มารวบรวมประมวลผลเพื่อวางแผนลดผลกระทบและป้องกันการเกิดสถานการณ์ต่าง ๆ ในอนาคต นำไปสู่แผนการสร้างสมาร์ทซิตี้อย่างแท้จริง
ขณะนี้ภาครัฐเริ่มสนใจที่จะรวบรวมข้อมูลของทุกหน่วยงานไว้ที่ Cloud ส่วนกลาง เพื่อเป็น Open Data ให้ทุก ๆ ภาคส่วน สามารถเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ได้ หากข้อมูลที่แชร์มีคุณภาพและเป็นข้อมูลที่อัปเดตได้แบบเรียลไทม์ จะสามารถเพิ่มมิติของข้อมูลให้ใกล้เคียงกับความจริงได้มากขึ้น เช่น 3D จำลอง หรือ Simulate เหตุการณ์น้ำท่วม หรือสถานการณ์อื่น ๆ รวมทั้งนำเทคโนโลยีประเภท AI Machine Learning และ Deep Learning มาใช้ในการคาดการณ์ล่วงหน้า เพื่อเตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ
โดยหน่วยงานรับผิดชอบจะต้องมีเครื่องมือที่พร้อมสำหรับทำงานปฏิบัติการ วิเคราะห์ สั่งการได้อย่างเป็นระบบทันท่วงที ปัญหาต่าง ๆ จะได้รับการแก้ไขและขับเคลื่อนด้วยความรวดเร็ว นอกจากนี้หากมี Data Hub อย่างเป็นระบบแล้ว ภาคเอกชนก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการนำข้อมูลไปวิเคราะห์จากแนวคิด Digital Twins ได้เช่นกัน เช่น การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย พฤติกรรมลูกค้า เพื่อการหาทำเลที่ตั้งร้านค้า และหาวิธีการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เหมาะสม รวมทั้งวางแผนป้องกันความเสี่ยง เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจที่ประสบความสำเร็จต่อไปในอนาคตได้
ติดตามกิจกรรมต่อเนื่องสำหรับเทคโนโลยี Digital Twins ในงาน Thai GIS User Conference 2021 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ลงทะเบียนได้ที่ : https://bit.ly/3k5kjw0