Site icon Thumbsup

Digital Wellbeing ความเป็นอยู่ที่ดีบนโลกออนไลน์ สมดุลระหว่างชีวิตและเทคโนโลยี

เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคนมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นการค้นหาข้อมูล การเดินทาง การหาคู่ รวมถึงรักษาและสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนได้

แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เหมือนเราไม่สามารถออกห่างจากเทคโนโลยีได้เลย เมื่อตื่นขึ้นมาสิ่งแรกที่ทำคือคว้าโทรศัพท์ขึ้นมาเช็กก่อนเริ่มต้นวันใหม่ ใช้เวลาบนโลกออนไลน์มากกว่าชีวิตจริง และหากขาดสมาร์ทโฟนไม่กี่ชั่วโมงก็อาจเดือดร้อนได้

จึงเกิดคำถามสำคัญที่ทำให้เราฉุกคิดว่า”เทคโนโลยีกำลังควบคุมเรา หรือเราควบคุมเทคโนโลยี”

ความเป็นอยู่ที่ดีบนโลกดิจิทัล

Well-being หรือความเป็นอยู่ที่ดีนั้นเกี่ยวข้องทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ แต่ปัจจุบันเกิดศัพท์ใหม่ที่ชื่อว่า ‘Digital Wellbeing’ หรือความเป็นอยู่ที่ดีในโลกดิจิทัล

คำดังกล่าวถูกนิยามไว้หลากหลาย แต่โดยทั่วไปแล้วสามารถตีความได้ว่า ใช้เทคโนโลยีแล้วไม่ส่งผลเสียต่อความเป็นอยู่ในชีวิตจริง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับระยะเวลาที่เราใช้ในโลกออนไลน์, การมีส่วนร่วมในโลกออนไลน์ หรืออารมณ์ที่ได้รับจากโลกออนไลน์

Google Digital Wellbeing เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้เข้าใจว่า เราใช้เวลาบนโลกออนไลน์อย่างไร เช็กโทรศัพท์บ่อยแค่ไหน ซึ่งการรู้จักพฤติกรรมบนโลกดิจิทัลของตัวเองก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราสร้างความเป็นอยู่ที่ดีได้ง่ายขึ้น

บทเรียนจากสารคดี The Social Dilemma สะท้อนให้เห็นปัญหาของเทคโนโลยีได้อย่างชัดเจนว่า โซเชียลมีเดียถูกออกแบบด้วยเทคนิคด้านจิตวิทยา เพื่อให้ผู้ใช้เสพติดและพึ่งพาแอปฯเหล่านี้ ซึ่งส่งผลต่อความคิด อารมณ์และความรู้สึกของผู้ใช้งาน

ค้นหาสมดุลระหว่างตัวเรากับเทคโนโลยี

บ่อยครั้งที่เราถูกดึงดูดความสนใจในโลกดิจิทัลจนไม่สามารถโฟกัสกับชีวิตจริง แต่เทคโนโลยีควรเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเราดีขึ้น ดังนั้นผู้เขียนจึงได้รวบรวมเทคนิคที่จะช่วยพัฒนาความบนอยู่ที่ดีในโลกดิจิทัลของทุกคน ดังนี้

1.โฟกัสตัวเองให้น้อยลง – เมื่อเราใช้โซเชียลมีเดียภายในความคิดความรู้สึกจะพรั่งพรูไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดเห็น งานวิจัยจึงแนะนำว่าการมองในมุมผู้อื่นจะช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีได้

2.แบ่งปันสิ่งที่ดี – เมื่อใช้เวลาในโลกออนไลน์ให้พยายามมองหาสิ่งดีๆ และแชร์ให้กับผู้อื่น สิ่งเหล่านี้จะช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของคุณทั้งออนไลน์และออฟไลน์

3.พัฒนาทัศนคติ – ทัศนคติเป็นองค์ประกอบสำคัญของความเป็นอยู่ที่ดีในโลกออนไลน์ การแบ่งปันและแลกเปลี่ยนทัศนคติให้กันและกันจะช่วยให้สังคมออนไลน์น่าอยู่มากขึ้น

4.เห็นคุณค่าในตัวเอง – บ่อยครั้งที่เรื่องราวของคนอื่นในโซเชียลมีเดียทำให้เรารู้สึกแย่หรือรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ เพื่อต่อสู้กับความรู้สึกเหล่านี้ลองใช้เครื่องมือดิจิทัลในการเพิ่มคุณค่าในตัวเอง เช่น เรียนออนไลน์หรือสร้างคอนเทนต์ และให้ความสำคัญกับเรื่องราวคนอื่นน้อยลง

ปัจจุบัน Digital Wellbeing เป็นส่วนสำคัญของความเป็นอยู่ที่ดีของชีวิต ดังนั้นการหาสมดุลระหว่างตัวเรากับเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้

ที่มา

Google Wellbeing

Psychologytoday