Site icon Thumbsup

พักบ้างก็ได้ เมื่อคนเราไม่จำเป็นต้อง Productive ตลอดเวลา

คนในยุคนี้ถูกบอกให้เป็นคน Productive ตลอดเวลาแต่บางครั้ง ใครจะเป็นได้ตลอดเวลาล่ะ? เมื่อเทคโนโลยีทำให้ชีวิตของมนุษย์สะดวกสบายมากขึ้น แต่เราไม่ได้ทำงานน้อยลงเลย

การทำงานกลับแข่งขันกันมากขึ้น กลายเป็นว่าทุกคนต้องจริงจังทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน ทุกๆ อย่างเร็วขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ

แค่อยู่บ้านเฉยๆ นอนบนเตียง นอนเล่น TikTok ก็รู้สึกผิด ต้องหาคอร์สเรียนออนไลน์ ต้องอ่านหนังสือพัฒนาตัวเอง ต้องวิ่งมาราธอน เพื่อให้ตัวเองเก่งขึ้นและพัฒนาตลอดเวลา

ซึ่งก็เข้าใจว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว คนอยากมีความมั่นคงในชีวิต อยากประสบความสำเร็จให้เร็วที่สุด แต่คนเราจำเป็นต้องเคร่งเครียดกันตลอดเวลารึเปล่านะ

จำเป็นไหมที่ต้อง Productive ตลอดเวลา?

การเป็นคน Productive เป็นเรื่องดีแต่การพักก็มีข้อดีเหมือนกัน งานวิจัยชิ้นหนึ่งจาก University of Chicago พบว่า ความคิดสร้างสรรค์ของเราคนจะเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ หากลองปล่อยให้จิตใจได้คิดเรื่อยเปื่อย เช่น ขึ้นไอเดียดีๆ ได้ในระหว่างขับรถ กินข้าว หรืออาบน้ำ

“การหยุดคิดเป็นหนึ่งในกระบวนการคิด” สภาวะที่คนเราไม่มีความคิด คำพูดหรือรูปภาพในสมองหรือจิตใจช่วงเวลาหนึ่ง ทำให้คนเรามีความคิดเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ดังนั้น การปล่อยให้ร่างกายจิตใจได้หยุดพักบ้างก็น่าจะส่งผลดีกับตัวเราไม่น้อย

Productive ให้ถูกทาง

Productive ไม่จำเป็นต้องทำตัวยุ่งตลอดเวลา หรือการไม่ต้อง Productive ก็ไม่ได้หมายความว่าหยุดพัฒนาตัวเอง แต่ให้หาความบาลานซ์ระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานได้พอดี (Work-Life Balance) ขอยกตัวอย่างวิธีบาลานซ์ที่นำปรับใช้ได้ ดังนี้

1. ทำในสิ่งที่ชอบเคยได้ยินไหมครับ “ถ้าทำงานในสิ่งที่ชอบจะรู้สึกว่าไม่ได้ทำงานอยู่” การที่เราได้ทำในสิ่งที่รักแล้วรู้สึกว่าเป็น ‘งาน’ น้อยลง นอกจากนี้ไม่รู้สึกเหนื่อยแล้วยังทำให้มีแรงผลักดันในการทำงานอีกด้วย

2. ทำให้เป็นขั้นเป็นตอน (Step by Step) ตั้งเป้าหมายในภาพรวม แล้วเริ่มต้นทำไปทีละขั้นตอน หลักการนี้ใช้ได้กับการทำงานทุกแบบ เช่น แทนที่จะโฟกัสว่าเดือนนี้ต้องได้ผลลัพธ์แบบไหน ลองมองว่าในแต่ละวันต้องทำอะไรบ้างเพื่อไปให้เป้าหมายได้โดยไม่กดดันตัวเองเกินไป

3. จัดลำดับความสำคัญ แบ่งระหว่างชีวิตส่วนกับการทำงาน หลายครั้งการทำหลายอย่างพร้อมกัน (Multitasking) ใช้พลังงานมากกว่าการโฟกัสไปทีละเรื่อง การเช็คอีเมลระหว่างที่กินข้าว การตอบลูกค้าก่อนนอน ส่งผลเสียมากกว่าผลดี

4. อย่าแลกความ Productive ด้วยกาแฟและสุขภาพ การทำงานตลอดทั้งวัน แล้วนอนหลับพักผ่อนเพียงไม่กี่ชั่วโมง เพื่อให้งานสำเร็จไม่ได้หมายความว่าคุณทำงานมีประสิทธิภาพ แต่คุณแค่ทำงานเกินเวลา (อย่าลืมว่าเราไม่ใช่หุ่นยนต์)

สุดท้ายความ Productive อาจเป็นสิ่งที่หัวหน้าหรือเจ้านายให้ความสำคัญ รวมถึงเป็นตัวชี้วัดในการประเมินประสิทธิภาพ แต่อย่าปล่อยให้ความ Productive มาทำลายตัวเราที่อาจหมดไฟและทำงานเหนื่อยยิ่งกว่าเดิม

อ้างอิง medium, pubmed, talkspace, Lifehack