คนเราทุกคนล้วนมีปัญหาสุขภาพ บ่อยครั้งที่เราหรือคนในครอบครัวเจ็บป่วย ก็พยายามดูแลกันเอง บางทีก็ปล่อยให้หายเอง บางทีก็ไปซื้อยามากิน จนถึงกับไม่ไหวก็ต้องไปโรงพยาบาล
แน่นอนว่าการช่วยตัวเองเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่ทุกคนอยากทำได้เอง จะได้บรรเทาอาการ หายเร็ว อาการเจ็บป่วยหรือเหตุฉุกเฉินหลายๆ อย่าง ถ้าเรารู้วิธีการรับมือ ก็สามารถทำได้เองทันที แต่ปัญหาคือจะมีสักกี่คนที่จะมีความรู้พอที่จะดูแลตนเองและคนรอบข้างได้ เมื่อถึงคราวจำเป็น ส่วนข้อมูลที่มีในปัจจุบัน ถ้าเป็นหนังสือก็ไม่ได้อยู่กับเราตลอดเวลา ใช้เวลานานกว่าจะค้นแนวทางการปฏิบัติตัวเจอ ส่วนจะหาในอินเทอร์เน็ต ก็ไม่มั่นใจว่าข้อมูลที่มีอยู่มหาศาลนั้นเชื่อถือได้หรือไม่
ในขณะเดียวกัน คนปัจจุบันนิยมใช้ smartphone ติดตัวไปทุกที่ เราใช้โทรศัพท์ทำทุกอย่าง ตั้งแต่โทร แชท เช็คอีเมล ค้นหาข้อมูล เข้าเครือข่ายสังคม ถ่ายรูป ฟังเพลง อ่านข่าว เล่นเกม ยังไม่นับแอปพลิเคชั่นเพิ่มเติมที่มีให้เลือกใช้นับแสน ตั้งแต่ดูทีวี แต่งรูป แชร์ภาพ เช็คอินสถานที่ อ่านหนังสือ ซื้อตั๋วหนัง สั่งพิซซ่า และอื่นๆ อีกมากมาย
จะดีไหมถ้าเราสามารถแก้ปัญหาสุขภาพเบื้องต้นด้วยตนเอง โดยใช้ข้อมูลจากโทรศัพท์ที่เราติดตัวไปทุกที่และใช้ทำทุกอย่าง?
DoctorMe เป็นแอพพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบคำถามข้างต้น พวกเราซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ชอบเทคโนโลยีและอยากแก้ปัญหาสังคม จึงสร้าง DoctorMe ขึ้นมา โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผู้สนับสนุน ส่วนทีมที่คิดและพัฒนา คือสถาบัน ChangeFusion และบริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด ร่วมกับมูลนิธิหมอชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ให้เนื้อหามาลงในแอปพลิเคชั่น
เริ่มจากศูนย์
ถึงแม้พวกเราจะคุ้นเคยกับเว็บและระบบข้อมูลที่แสดงผลผ่านจอคอมพิวเตอร์ แต่พอมาถึงแอปพลิเคชั่นบนอุปกรณ์เคลื่อนที่เช่นมือถือ ก็เป็นเรื่องใหม่ที่เรามีประสบการณ์น้อยมากในช่วงเริ่มแรก
การสร้าง DoctorMe เริ่มต้นด้วยแนวคิดกว้างๆ ว่าอยากทำแอปที่ช่วยให้คนดูแลสุขภาพด้วยตนเอง ติดตัวไปทุกที่ ใช้งานได้ง่ายที่สุด เร็วที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องต่ออินเทอร์เน็ต เป็นเหมือนคู่มือที่พร้อมใช้ ทั้งเมื่อตนเองหรือคนรอบข้างเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ เช่นเป็นหวัด ปวดหัว ท้องเสีย หรือเจอเหตุฉุกเฉินเช่นตกน้ำ บาดแผล กระดูกหัก หรือต้องปั๊มหัวใจช่วยชีวิต
เราเริ่มด้วยการสำรวจสถานการณ์และตลาดของผู้ใช้ smartphone โดยเลือกสำรวจกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใช้ไอโฟน พบว่าส่วนมากไม่นิยมจ่ายเงินซื้อแอป และใช้แอปอยู่ไม่กี่ประเภท เช่น ถ่ายรูป เครือข่ายสังคม และเล่นเกม แต่ข้อที่น่าสนใจ คือส่วนมากนิยมหาแอปใหม่ๆ มาลอง และถ้าใช้ได้ดี ตอบความต้องการได้ ก็จะเก็บไว้ใช้
ในขณะเดียวกัน ทีมออกแบบก็ไปศึกษาแนวทางการออกแบบแอปพลิเคชั่นบน iPhone ซึ่งถือว่าเป็น Platform ที่ได้รับความนิยม และคนรุ่นใหม่ใช้มากในขณะนี้ เราไปหาตัวอย่างแอปดีๆ และน่าสนใจที่มีอยู่แล้ว และหาหนังสือเกี่ยวกับการออกแบบ iPhone App มาอ่าน
จากนั้น เราเริ่มออกแบบเค้าโครง ว่าแอพนี้จะทำอะไรได้ หน้าตาเบื้องต้นเป็นอย่างไร กดอะไรไปไหน นี่คือหน้าตาแรกสุดของแอพนี้
ในขณะเดียวกัน แอพพลิเคชั่นต้องมีเนื้อหา เราได้ลองสำรวจดู และพบว่าเนื้อหาที่น่าจะเหมาะกับประชาชนทั่วไป น่าจะอยู่ที่มูลนิธิหมอชาวบ้านซึ่งเราเคยร่วมงานกันมาแล้วในการพัฒนา เว็บไซต์หมอชาวบ้าน (http://doctor.or.th) จนเพิ่มยอดคนเข้าจากวันละหลักสิบเป็นหลายพัน เราเข้าไปคุยกับคุณณีน้อย ปิติเจริญ ผู้จัดการมูลนิธิหมอชาวบ้าน พี่ณีน้อยได้แนะนำให้รู้จักกับ รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ ผู้เขียนหนังสือคู่มือการตรวจวินิจฉัยโรค คู่มือหมอชาวบ้าน และเจ้าของคอลัมน์สารานุกรมทันโรคในนิตยสารหมอชาวบ้าน
คุณหมอสุรเกียรติได้เสนอให้นำเนื้อหาในคู่มือหมอชาวบ้าน ไปดัดแปลงใส่ลงในแอพฯ ซึ่งประกอบด้วยการดูแลตนเองจากอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น การปฐมพยาบาล ข้อมูลการใช้ยาและสมุนไพร ทีมงานในภายหลังได้ขออนุญาตนำข้อมูลเกี่ยวกับโรคต่างๆ เกือบ 90 โรค จากสารานุกรมทันโรค เข้ามาประกอบด้วย โดยเชื่อมโยงเนื้อหาเข้ากับเนื้อหาเกี่ยวกับอาการในหนังสือคู่มือหมอชาวบ้าน ทำให้ข้อมูลทั้งหมดมีกว่า 200 รายการ
ตลอด 4 เดือนที่พัฒนาเนื้อหา ทีมงานได้ทำงานร่วมกับคุณหมอสุรเกียรติในการเชื่อมโยงเนื้อหาระหว่างอาการ กับรายละเอียดของโรค รวมทั้งได้ปรับปรุง แก้ไขเนื้อหาให้ทันสมัยยิ่งขึ้น จนกลายเป็นเนื้อหาที่เห็นในแอปในปัจจุบัน คุณหมอสุรเกียรติ ยังวางแผนจะเขียนเนื้อหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยจะนำมาอัพเดตในแอปอย่างต่อเนื่อง
ลงมือพัฒนา
กลับมาถึงเรื่องการพัฒนาโปรแกรม ขั้นตอนต่อมาก็นำโครงร่างมาเขียนในคอมพิวเตอร์ เป็นโครงร่างอย่างละเอียด
พอได้โครงร่าง ทีมโปรแกรมก็เริ่มเขียนโปรแกรม จุดที่สำคัญในขั้นนี้ คือเรื่องเนื้อหา ซึ่งทีมโปรแกรมต้องหาวิธีให้ทีมเนื้อหานำข้อมูลมาใส่ จึงพัฒนาเว็บแอพขึ้นมาพิเศษเพื่อใส่ข้อมูลเนื้อหา โดยออกแบบช่องและวิธีการใส่ให้รองรับโครงสร้างเนื้อหา ซึ่งต้องมีการเชื่อมโยง แนะนำเนื้อหา การจัดหมวดหมู่อาการออกตามโซนร่างกายที่เกิดอาการ และรายละเอียดอื่นๆ อีกมากมาย เว็บแอปนี้จะเก็บข้อมูลทั้งหมดลงในระบบฐานข้อมูล ที่เชื่อมกับฐานข้อมูลของแอป เพื่อให้สามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมข้อมูลได้โดยสะดวกในอนาคต
จากนี้ไป กระบวนการพัฒนาจะคู่ขนานกันไป ระหว่างการพัฒนาโปรแกรม กับการพัฒนาเนื้อหา โดยจะมีการเชื่อมกันตลอด ผ่านการ Workshop ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ
ในส่วนการพัฒนาโปรแกรม ความท้าทายหลักคือการออกแบบส่วนติดต่อกับผู้ใช้ (User Interface) ให้ใช้งานง่าย เป็นธรรมชาติ และเข้าถึงข้อมูลได้จริง และมีเสถียรภาพ ไม่หลุดจากโปรแกรม ทั้งหมดเพื่อให้ผู้ใช้สามารถได้ประโยชน์จริงๆ จากการใช้ ไม่ว่าผู้ใช้จะชอบกดดู (Browse) หรือพิมพ์คำค้น (Search) นอกจากนั้น ยังต้องใส่ใจรายละเอียดเกี่ยวกับการแสดงผลเนื้อหาให้ดูสวยงาม เรียบร้อย
ซึ่งเชื่อมโยงกับส่วนการพัฒนาเนื้อหา ซึ่งทีมเนื้อหาได้แปลงเนื้อหาทั้งหมดเป็นดิจิทัล ตรวจ Proof ความถูกต้องและการจัดรูปแบบอย่างละเอียด (เฉพาะกระบวนการนี้กินเวลาเกือบ 2 เดือน) และนำเอาเนื้อหาเข้าระบบเว็บฟอร์มทีละชิ้น โดยต้องตรวจ Proof และรูปแบบอีกรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะต้องใส่ใจในการจัดรูปแบบเนื้อหาให้ได้มาตรฐาน HTML เช่น การใส่ย่อหน้า ลำดับชั้นของเนื้อหา List แบบ Bullet และตัวเลข เพื่อให้เนื้อหาดูสวยงาม เป็นระเบียบ และยังทำให้เครื่องอ่าน Screen Reader อ่านเนื้อหาให้คนตาบอดฟังได้อย่างถูกต้องด้วย สิ่งที่สำคัญอีกเรื่อง คือการเชื่อมโยงเนื้อหา ซึ่งใช้วิธีพิเศษ ที่ทีมงานต้องละเอียดกับความถูกต้องของอักขระชนิดห้ามขาดห้ามเกินแม้แต่ตัว เดียว
ในส่วนภาพประกอบ ทีมงานต้องวาดใหม่ทั้งหมด โดยคัดลอกจากต้นฉบับ เพราะภาพต้นฉบับความละเอียดไม่เพียงพอ และมีสีสันไม่สวยงาม
เมื่อเนื้อหาทั้งหมดถูกนำขึ้นและตรวจสอบเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการโฟกัสเรื่อง Design โดยเฉพาะหน้าตาของหน้าแรก โทนสี กราฟฟิกในส่วนต่างๆ โดยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ 1 ครั้ง เพื่อปรับหน้าตาให้ดูเป็นมิตร สบายๆ มากกว่าเดิมซึ่งดูเป็นวิชาการ เป็นหมอมากเกินไป
หน้าตาใหม่
ในระหว่างการพัฒนา ทีมงานได้รายงานกับคณะกรรมการของ สสส. ที่ดูแลแผนงานนี้เป็นระยะ และนำความเห็นของกรรมการเข้ามาประกอบการออกแบบและพัฒนา
จากนั้น มาถึงขั้นตอนสุดท้าย คือการทดสอบโดยรวมก่อนเปิดให้ดาวน์โหลด เน้นการทดสอบประสิทธิภาพ ตรวจหา Bug และหาช่องว่างหรือข้อผิดพลาดอื่นๆ (ซึ่งพบเรื่อยๆ) และนำไปแก้ไขจนดีพอที่จะส่งให้ Apple ตรวจพิจารณาให้ปล่อยดาวน์โหลดได้ ซึ่ง Apple ก็ให้ผ่านตั้งแต่ครั้งแรกที่่ส่งตรวจ
เสียงตอบรับ
ทีมบริหาร ทีมออกแบบ และทีมพัฒนาโปรแกรม ได้ทำงานร่วมกับทีมการตลาด ในการวางแผนการตลาดของแอป DoctorMe โดยได้ฝ่าย CSR ของบริษัท DTAC เป็นที่ปรึกษา โดยทาง DTAC ได้ให้คำแนะนำว่าให้เพิ่ม Feature ที่ใช้ประโยชน์จากเครือข่าย 3G เช่นการดูคลิปวิธีการปฐมพยาบาล ทำให้ผู้ใช้จะสามารถเข้าใจวิธีการได้ง่ายกว่าการอ่านแต่อย่างเดียว โดยเฉพาะในเรื่องที่ต้องใช้เทคนิควิธีการในการปฏิบัติ ซึ่งปัจจุบัน ทีมงานกำลังเตรียมเนื้อหาใหม่นี้เพื่อเสริมเข้าไปในแอป จากนั้นจึงจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยในปัจจุบันให้ดาวน์โหลดเป็นเวอร์ชั่นทดลองใช้ก่อน และกำลังเก็บความคิดเห็นจากผู้ใช้ในวงกว้างเพื่อนำมาพัฒนาเป็นตัวสมบูรณ์
ภายหลังการเปิดให้ดาวน์โหลดรุ่นทดสอบ พบว่ามีผู้สนใจจำนวนมาก ภายในไม่กี่ชั่วโมง DoctorMe ได้เป็น iPhone App ฟรีอันดับ 1 ในหมวด Health & Fitness และในวันถัดไปได้อยู่อันดับที่ 3 เมื่อคิดรวมจากทุกหมวด (ไต่มาจากอันดับ 185, 75, 9, และ 8 ในวันก่อนหน้า) โดยได้คะแนนโหวตเฉลี่ยเต็ม 5 ดาว (ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2554) ซึ่งน่ายินดีมากว่ามีผู้ให้ความสนใจจำนวนมากและเห็นว่าเป็นแอปที่มีประโยชน์ และมีคุณภาพ
?
อันดับ 1 ในหมวด Health & Fitness
อนาคต
DoctorMe เป็นก้าวแรกขององค์กรบริการสาธารณะอย่าง สสส. ที่ให้บริการเครื่องมือทางเทคโนโลยีสำหรับประชาชนอย่างแพร่หลาย โดยใช้วิธีการทำงานแบบสร้างนวัตกรรมร่วมกันกับเครือข่ายและผู้สนใจ พวกเราหวังว่า แอปพลิเคชั่นลักษณะนี้น่าจะให้ประโยชน์โดยตรงแก่ประชาชน โดยมีแผนจะขยายไปยัง Platform อื่น เช่น Android และเว็บไซต์ทั่วไป ทำให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ และจะขยายความสามารถให้ตอบสนองความท้าทายด้านสุขภาพได้ดีขึ้น เช่น การสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตนเองที่สอดคล้องกับอาการเจ็บป่วยที่มี อยู่แล้วหรือ Lifestyle ของผู้ใช้ได้ รวมทั้งการสร้างกิจกรรมบนระบบดิจิทัลที่ช่วยกระตุ้น ส่งเสริม ให้ประชาชนมีวิถีชีวิตที่สร้างเสริมสุขภาพทั้งทางกาย การใจ ทางปัญญา และของทั้งสังคม
ที่มา: ThaiHealth