ปัญหาการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์หรือ Cyberbully ยังคงเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมอยู่เสมอ ด้วยความที่โลกโซเชียลมีทั้งความจริงและเรื่องหลอกลวงได้ง่ายมาก การที่รัฐและเอกชนร่วมมือกันเพื่อช่วยลดปัญหาการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์นั้น น่าจะเป็นการช่วยเหลือสังคมที่ดี เสมือนเป็นการจุดประกายปัญหา แต่ก็ต้องยอมรับว่าคนไทยยังไม่ค่อยตระหนักถึงปัญหามากนัก
จากภาพดังกล่าว เป็นภาพนักแสดงจากละครเรื่องหนึ่ง ซึ่งจากคอมเม้นท์จะเป็นการแสดงความคิดเห็นเชิงสนุกสนาน แต่ความเป็นจริงแล้ว คือการคุกคามทางเพศของนักแสดงที่แม้จะเป็นผู้ชายก็ตาม ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็น Cyberbully ประเภทหนึ่ง แม้ว่าจะมีการรณรงค์มาตลอดระยะเวลา 1 ปีแต่ก็ยังเห็นว่าความสนุกสนานของคนบนโลกออนไลน์ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัญหาที่น่ากังวลสำหรับเด็กรุ่นใหม่ ที่ยังไม่สามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการโดนกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ได้
จากงานวิจัยพบว่า 1 ใน 3 ของเด็กไทยเผชิญปัญหาการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ ชี้พฤติกรรมติดสื่อสังคมออนไลน์มีแนวโน้มก่อให้เกิด Cyberbullying มากขึ้น
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า จากผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ.2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เด็กอายุระหว่าง 15-24 ปี มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงถึง 89.8% และส่วนใหญ่เป็นการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ ในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา หรือวัยรุ่น รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว และเปิดเผยความเป็นตัวตนชัดเจนขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงในการถูกล่อลวงทางโลกออนไลน์
ทางกระทรวงจึงมีการจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์และช่องทางติดต่อเพื่อเข้าช่วยเหลือ โดยขอความร่วมมือ ปอท. ในการให้คำปรึกษาฯ ในช่วงเวลา 16.00 – 22.00 น. พร้อมกันนี้ ยังร่วมกันให้บริการคำปรึกษา/แนะนำ Stop Bullying Chat Lineผ่านศูนย์ดิจิทัลชุมชน พร้อมทั้งจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยผ่านกิจกรรมยุวทูตในโรงเรียนด้วย
ทางด้านของ นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคมีหนทางการเข้าช่วยเหลือ แบ่งเป็น 4 ด้านคือ 1. สร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาทางอินเทอร์เน็ตที่มีต่อเด็ก 2. ผสานเข้าไปกับผลิตภัณฑ์และบริการ 3. สร้างความร่วมมือทางอินเทอร์เน็ตเพื่อระบบนิเวศที่ดีขึ้น และ 4. ร่วมสร้างนโยบายและการกำกับที่ดี
ที่ผ่านมา ดีแทค ได้เดินสายโร้ดโชว์ให้ความรู้แก่กลุ่มนักเรียนประถมปลายกว่า 50 แห่ง เพื่อจัดเวิร์กช้อปให้ความรู้และสอนวิธีการรับมือหากถูกผู้อื่นกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ โดยมีนักเรียนเข้าร่วมกว่า 27,000 คน สำหรับบริการห้องแชท Child Chat Line ที่ได้เปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา พบผู้ขอคำปรึกษาจำนวน 278 คนและมีผู้เข้าชมเว็บไซต์กว่า 40,000 ครั้ง สะท้อนถึงความรุนแรงของปัญหาในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประชากรอินเทอร์เน็ตไทย
รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากงานวิจัยเรื่อง “การกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ในนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น” โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอัก 13 ประเทศทั่วโลก พบว่า 1 ใน 3 ของเด็กไทยมีประสบการณ์กลั่นแกล้งและถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ผู้ตอบแบบสำรวจ 34.6% เคยแกล้งผู้อื่นและ 37.8% เคยถูกกลั่นแกล้ง และ 39% เข้าไปร่วมวงในเหตุการณ์กลั่นแกล้งนั้นด้วย ทำให้พฤติกรรม Cyberbullying ขยายวงกว้าง
นอกจากนี้ ยังพบว่าพฤติกรรมการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์แปรผันตรงกับพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งเด็กไทยใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตถึง 4.8 ชั่วโมงต่อวันโดยเฉลี่ย โดยใช้ยูทูปมากที่สุด รองลงมาคือไลน์และเฟซบุ๊ก
ทั้งนี้ 47% ของผู้ตอบสอบถามระบุว่าเคยแชทกับคนแปลกหน้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 56% เป็นเพื่อนกับคนที่ไม่รู้จักมาก่อนในสื่อสังคมออนไลน์ 65% เคยให้เพื่อนใช้มือถือขณะที่ยังล็อกอินอยู่บยโซเชียลมีเดีย 28% เคยลืม Log Out หลังจากใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะ และ 6.5% เคยนัดพบกับคนแปลกหน้า นอกจากนี้ 48% ของผู้ตอบแบบสอบถามยังบอกว่ามีคนอื่นรู้รหัสผ่านของตัวเอง โดยส่วนใหญ่เป็นเพื่อน ซึ่งกลุ่มที่กลั่นแกล้งผู้อื่นยังมีพฤติกรรมเกเร สมาธิสั้น มีปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ นอกจากนี้ พฤติกรรมการติดสื่อสังคมออนไลน์ยังมีความสัมพันธ์กับการเป็นผู้กลั่นแกล้ง ผู้ถูกหรือแม้แต่ผู้ที่ร่วมแชร์หรือกดไลค์ (Bystander)
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนจำต้องทำอย่างบูรณาการ มององค์รวมไปถึงต้นตอ อันได้แก่ การสร้างวัฒนธรรมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์ปลอดภัย (Safe Internet) ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชนและประชาสังคมในการร่วมแก้ปัญหา
ยิ่งการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยมีสูงขึ้นเท่าไหร่ การดูแลลูกหลานและการสื่อสารบนโซเชียลมีเดียอย่างเหมาะสม จะช่วยให้เด็กรู้จักป้องกันตนเองจากปัญหา และแบรนด์ก็ควรใส่ใจปัญหารวมทั้งสร้างกลยุทธ์เพื่อสื่อสารกับแต่ละช่วยวัยให้เหมาะสม