ดีแทคเดินหน้าต่อเนื่องผลักดันไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแข็งแกร่ง พร้อมต่อยอดดิจิทัลแบรนด์ 2020 ด้วยการนำ “บล็อกเชน” กระตุ้นไทยเพิ่มขีดความสามารถสู่ระดับโลก เชิญกูรูชื่อดัง “อเล็กซ์ แทปสก็อตต์” ผู้เขียนหนังสือ “BLOCKCHAIN REVOLUTION” จัดเสวนาในไทยหวังกระตุ้นทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการรายย่อย ประชาชน รับมือกระแสนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะมาปฏิวัติทุกวงการ ชูการเตรียมพร้อมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของไทยให้ก้าวสู่โลกดิจิทัลทุกภาคส่วนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “บล็อกเชน (Blockchain) คือนวัตกรรมเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่ไม่ใช่แค่พลิกโฉมประเทศไทย แต่จะรวมถึงพลิกโฉมประเทศต่างๆ ในโลก ซึ่งนอกจากบล็อกเชนจะเข้ามาปฏิวัติโลกธุรกิจ และแวดวงการเงินการธนาคารแล้ว ยังจะเข้ามายกระดับและเปลี่ยนวิถีชีวิตประชาชนทั่วไปเฉกเช่นเดียวกันกับอิทธิพลของโลกออนไลน์ในขณะนี้ ถึงแม้เทคโนโลยีบล็อกเชนจะยังคงใหม่และต้องใช้เวลากว่าจะมีการใช้อย่างแพร่หลายในสังคม แต่เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่พร้อมและการเสียโอกาสจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีใหม่ๆ นักวางแผน นักกลยุทธ์ ตลอดจนผู้กำหนดนโยบายภาครัฐต่างๆ รวมถึงกิจการโทรคมนาคม ควรตระหนักถึงอิทธิพลของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบในกิจการโทรคมนาคมอย่างฉับพลันในอนาคตอันใกล้ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมต่อโอกาสและความท้าทายในอนาคตจะทำให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบ เมื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีเหล่านั้นพร้อมให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ”
รายงานการใช้งานดาต้าผ่านอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยบนมือถือโครงข่ายดีแทคต่อคนต่อเดือนจากตุลาคม พ.ศ. 2557 เทียบกับ ตุลาคม พ.ศ. 2559 เพิ่มเกือบ 200% ในขณะที่ข้อมูลจาก www.internetworldstats.com ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 รายงานการจัดอันดับ 20 ประเทศที่มีผู้ใช้งานการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นสูงสุด มีประเทศไทยติดอยู่ในอันดับ 19 ของโลก โดยไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 41 ล้านคน จากประชากรไทยประมาณ 68.2 ล้านคน โดยเพิ่มสูงถึง 1682.6% เมื่อเทียบกับการใช้งานปี พ.ศ. 2543-2559 แสดงว่าประเทศไทยมีการพัฒนาสู่ดิจิทัลอย่างเร็วและน่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยกำลังประสบและเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมเทคโนโลยีในอนาคต คือ “กรอบนโยบายที่ชัดเจนต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยในอนาคต” เพื่อรองรับต่อปริมาณการใช้ข้อมูลมหาศาลหรือ “บิ๊กดาต้า (Big Data)” อันเกิดจากเทคโนโลยีการสื่อสารในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น 5G และ Internet of Things (IoT) ซึ่งเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลกในอีก 3 ปีข้างหน้า
“ดีแทคในฐานะผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมของไทย ได้ตั้งเป้าหมายในการเป็นอันดับ 1 ดิจิทัลแบรนด์ 2020 หรือ ปี พ.ศ. 2563 ซึ่งการเตรียมความพร้อมจะเป็นหัวใจหลักในการพัฒนากิจการโทรคมนาคมไทย โดยรวมถึงบล็อกเชนที่คาดว่าจะเข้ามาพลิกโฉมหน้าการดำเนินธุรกิจในทุกภาคส่วนของไทย สร้างการเติบโตให้แก่ประเทศผ่านเทคโนโลยี ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลการพัฒนาของประเทศ Thailand 4.0 ที่รัฐบาลได้กำหนดขึ้นเพื่อยกระดับรายได้ประชาชนและคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน อีกทั้งต้องร่วมกันพัฒนาระบบการเข้าถึงดิจิทัลที่ทุกฝ่ายจะต้องมีส่วนช่วยในกระบวนการลดความเหลื่อมล้ำในทางสังคม ทุกคนจะต้องก้าวไปพร้อมๆ กันทุกระดับ ทั้ง ภาครัฐ ราชการ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทเอกชน ผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกร ประชาชน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายลาร์ส กล่าว
สำหรับการกระตุ้นทุกภาคส่วนให้สนใจและสร้างศักยภาพความพร้อมของบุคลากรกับ “บล็อกเชน (Blockchain)” ดีแทคจึงได้ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงาน กสทช. และเนชั่นกรุ๊ปได้จัดงานเสวนายิ่งใหญ่ส่งท้ายปีในชื่อ “BLOCKCHAIN REVOLUTION” ด้วยการเชิญ กูรูระดับโลก “อเล็กซ์ แทปสก็อตต์” ผู้เขียนหนังสือ “BLOCKCHAIN REVOLUTION: How the Technology Behind Bitcoin is Changing Money, Business, and the World” ร่วมกับ ดอน แทปสก็อตต์ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยอเล็กซ์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้งบริษัทกองทุน นอร์ธเวสต์ พาสสาจ (Venture Capital) ที่ลงทุนในบล็อกเชน ตลอดระยะเวลา 7 ปี ในตลาดทุนแคนาดาและสหรัฐอเมริกา โดยเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับบล็อกเชนที่ได้รับการยอมรับและพูดถึงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
เป้าหมายของการส่งเสริมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น “บล็อกเชน” รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ มาขับเคลื่อนและสนับสนุนสู่ศักยภาพการแข่งขัน โดยเฉพาะภาครัฐที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ กรอบแผนงานเหล่านี้ควรมุ่งเน้นให้เกิดการส่งเสริมและพัฒนาของภาคธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ และขจัดอุปสรรคต่างๆ เพื่อประโยชน์ต่างๆ จะได้มุ่งสู่ประชาชนในการเข้าถึงการใช้งานอย่างแท้จริง รวมถึงกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และความถี่ต่างๆ เพื่อนำมาใช้งานในประเทศไทยด้วยศักยภาพสูงสุดอย่างยั่งยืน