อ่านพาดหัวไม่ผิดค่ะ ในขณะที่ AIS และ TRUE เร่งพัฒนาโครงข่ายและลงทุนอีโคซิสเต็มเรื่อง 5G กันอย่างหนักหน่วง จับมือพาร์ทเนอร์กันสนุกสนาน ดีแทคกลับมองว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่ถึงเวลาแม้โควิด-19 จะมาเยือน คนใช้งานออนไลน์สูงขึ้น แต่ก็เพิ่มศักยภาพในการใช้งานให้ดีขึ้น สำคัญกว่าการลงทุนใหม่ๆ
ในมุมมองของผู้เขียนนั้น รักดีแทคนะคะ เราไม่ได้โจมตีกัน แค่อยากให้เห็นอีกหนึ่งมุมมองว่าน่าสนใจดี เพราะอย่างที่ทราบกันว่าเรื่อง 5G ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา กลายเป็นเรื่องของการแข่งขันสนุกสนานระหว่างโอเปอร์เรเตอร์เบอร์ต้นๆ ทั้งสองราย คือถ้าตามข่าวทุกคนก็คงจะเห็นว่าบริการอะไรที่ฝ่ายหนึ่งมี อีกฝ่ายก็ต้องออกมามีแข่งกันสนุกสนาน
แต่ดีแทคกลับเป็นรายเดียวที่ไม่ลงมาเล่นในสนามนี้ เพราะถ้ามองย้อนกลับไปสัก 5 ปีกับซีอีโอ 3-4 คนจะมีแนวทางไปในทิศทางเดียวกันคือ ไม่ใช้เงินฟุ่มเฟือย หากคุณเข้าใจในวิถีของฝรั่งจะเข้าใจว่าวัฒนธรรมของดีแทคก็เป็นแบบนี้แหละ เลือกช้อปและลงทุนในสิ่งที่ตนเองชอบและมองว่าสมเหตุสมผล แต่จะไม่ไหลไปแบบวิถีของคนไทยที่ชอบความอลังการใหญ่ตู้ม
ซึ่งการที่ดีแทคเป็นแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าเขาจะถอนการลงทุนและออกจากประเทศไทยไป แต่เขาจะรักษารูปแบบธุรกิจให้กลับไปเป็นในวิถีของเขาคือไม่เน้นหวือหวาเปรี้ยงปร้าง เน้นเดินเบาๆ ช้าแต่ชัวร์
โดยวันนี้ผู้เขียนเอง ได้เข้าร่วมฟังสัมภาษณ์กลุ่มแบบรักษาระยะห่างกับ 4 ผู้บริหารหนุ่ม คือ คุณชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, คุณประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่
ไม่ใช่ไม่ทำแค่รอก่อน
ความน่าสนใจของการพูดคุยคือ ดีแทคมองเห็นพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง 4 ด้าน คือ การจับจ่ายใช้สอยที่ลดลง การใช้งานช่องทางดิจิทัลมากขึ้น แรงงานที่หลั่งไหลกลับประเทศและการใช้ดาต้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
โดยเราสรุปจากเนื้อหาที่ผู้บริหารบอกมาแบบรวมๆ ไม่เจาะจง ก็คือ ทีมดีแทคมองว่า ผู้ใช้งานในกลุ่มของนักท่องเที่ยวและแรงงานใช้บริการของดีแทคเยอะมาก ซึ่งยังประเมินว่าพวกเขาจะยังไม่กลับมาในช่วงครึ่งปีหลังนี้ แล้วจะเร่งลงทุน 5G ไปเพื่ออะไร แต่ไม่ใช่ว่าฐานผู้ใช้งานชาวไทยไม่สำคัญ ลูกค้ากลุ่มนี้ก็สำคัญ แต่ก็ยังไม่ใช่จังหวะที่พวกเขาจะลงทุนหรือช้อปสินค้าที่เกี่ยวกับ 5G มากนัก
แต่จะเน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพการใช้งานที่ดีกว่าเดิม ถ้าใครยังใช้งานเครือข่ายดีแทคอยู่ จะรู้ว่าสัญญาณในเมืองของดีแทคดีขึ้นกว่าช่วงที่ปรับปรุงและพัฒนาสัญญาณมาก แต่เราก็เข้าใจว่าคนยังติดภาพเดิมๆ ของปัญหาในขณะนั้น ซึ่งปีที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ดีแทคก็ยังเน้นใช้เงินหลัก 8,000-10,000 ล้านในการพัฒนา Mimo ให้ดีและครอบคลุมมากที่สุด
นอกจากนี้ ทีมดีแทคยังมองว่า ช่วงโควิด-19 นั้น ทุกคนทั่วทั้งโลกต่างก็เจอผลกระทบหมด ถ้าเราหมุนไปเร็วกว่าตลาดอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะเราดูจากฐานข้อมูลของลูกค้าทั่วไปแล้ว พบว่าอาจยังไม่พร้อมเท่ากับกลุ่มธุรกิจหรือบีทูบีในการใช้งาน 5G
ดังนั้นเราจึงเลือกการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ก่อน รอ Journey ของลูกค้าพร้อมก่อน นั่นถึงเรียกว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการลงทุนเรื่อง 5G เพราะการลงทุนครั้งใหญ่ไม่ใช่เกมส์ ไม่ต้องแข่งกัน ไม่จำเป็นต้องปั่นกระแสให้ใหญ่โตก็ได้ การลงทุนควรเป็นเรื่องของการเรียนรู้จังหวะที่เหมาะสมและเดินหน้าอย่างแข็งแรงต่อเนื่อง นั่นถึงจะเรียกว่าเป็นการเดินหน้าธุรกิจอย่างมั่นคง
ส่วนในมุมบริการ ลูกค้าไม่ต้องกังวลเรื่องไม่มี 5G ใช้งาน เรามีพาร์ทเนอร์ต่างประเทศมากมายที่พร้อมจะเข้ามาให้บริการ หากลูกค้าอยากใช้บริการอะไรดีแทคก็พร้อมนำมาเสิร์ฟอยู่แล้ว
กลยุทธ์รับมือโควิด-19
จากรายงานของธนาคารโลก ประชากรไทยจำนวนกว่า 8.3 ล้านคนนั้นเสี่ยงต่อการตกงาน หรือสูญเสียรายได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว ดีแทคจึงได้มอบสิทธิพิเศษและบริการต่างๆ ในราคาที่เป็นมิตร และช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินให้ลูกค้าที่เป็นคนฐานใหญ่ของประเทศ
เพื่อตอบสนองกับความต้องการพื้นฐานของลูกค้า อาทิ ประกันสุขภาพ และการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ยิ่งไปกว่านั้น ดีแทคยังเร่งเดินหน้าติดตั้งเทคโนโลยี Massive MIMO และระบบ 4G-TDD เพื่อรองรับการใช้งานดาต้าที่เพิ่มขึ้น
ซึ่งโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์สื่อสารของลูกค้าดีแทคกว่า 76 เปอร์เซ็นต์ นั้นรองรับระบบ 4G-TDD ในวันที่ผู้บริโภคต้องอาศัย “การเชื่อมต่อและบริการดิจิทัล” เป็นเครื่องมือหลักในการดำรงชีวิต
นายชารัด มองว่า ช่วงโควิด-19 ลูกค้าของเราได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน ปริมาณการใช้งานดาต้าและช่องทางดิจิทัลของลูกค้าดีแทคก็เพิ่มสูงขึ้นกว่าในอดีต ดังนั้น เป้าหมายสำคัญของเราจึงเป็นการเดินหน้าพัฒนาประสิทธิภาพเครือข่ายสำหรับลูกค้าทุกคน รวมทั้งมอบข้อเสนอและบริการที่จะช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินของลูกค้าด้วย
ประเด็นที่เปลี่ยนแปลง ได้แก่
- ปริมาณการใช้งานดาต้าเฉลี่ยในแต่ละเดือนนั้นเติบโตขึ้นกว่า 44 เปอร์เซ็นต์ จากเดือนมกราคมถึงมิถุนายน หลังความนิยมในแอปพลิเคชันสำหรับการทำงานที่บ้านอย่าง Zoom และ MS Teams และบริการที่จำเป็นจำพวกระบบการเรียนออนไลน์ การใช้บริการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ต่างก็เติบโตพุ่งพรวด
- การแลกสิทธิพิเศษดีแทค รีวอร์ดในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการช้อปปิ้งออนไลน์และบริการสั่งอาหารออนไลน์นั้นเพิ่มสูงขึ้นกว่า 5 เท่าในช่วงระยะเวลาเดียวกัน เนื่องจากการปิดตัวของร้านค้าต่างๆ นั้นผลักดันให้ผู้บริโภคหันไปใช้งานช่องทางออนไลน์มากขึ้น
- ปริมาณการใช้งานดาต้าในพื้นที่ภูมิภาคนั้นเติบโตสูงกว่ากรุงเทพฯ 5 เท่า และยังคงอยู่ในระดับที่สูงแม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว อันเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าคนจำนวนมากเลือกเดินทางกลับไปใช้ชีวิตในภูมิลำเนา มากกว่าการเผชิญชีวิตในกรุงเทพฯ ในฐานะคนว่างงาน
ด้วยเหตุนี้เอง ดีแทคจึงมุ่งยกระดับประสบการณ์การใช้งานดิจิทัล ผ่านการเชื่อมต่อโลกออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน พร้อมทั้งจับมือกับพันธมิตรธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอบริการบนดีแทคแอปที่เป็นประโยชน์และช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคในช่วงเวลาที่ยากลำบาก
- ประสบการณ์ดิจิทัล ดีแทคแอปช่วยให้ลูกค้าสามารถเชื่อมต่อประสบการณ์บนโลกออฟไลน์และออนไลน์ได้อย่างไร้ร้อยต่อ ด้วยบริการเสริมต่างๆ ที่มาในรูปแบบเกมและกิจกรรมสนุกๆ ไปจนถึงทางเลือกการจับจ่ายใช้สอยที่หลากหลายและบริการเดลิเวอรี่
- ราคาที่จับต้องได้ นอกเหนือจากการมอบข้อเสนอดาต้าฟรีที่หลากหลาย ในช่วงที่มีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นแล้ว ดีแทคยังมีแพ็กเกจราคาเบาๆ ในรูปแบบรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ซึ่งสามารถเลือกสมัครได้ตามการใช้งานและงบประมาณ
- บริการใหม่ๆ ดีแทคเดินหน้าเปิดตัวบริการเสริมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การสนับสนุนลูกค้าอย่างทันท่วงที อาทิ ประกันสุขภาพ และคูปองส่วนลดสำหรับร้านขายยา
เน็ตไฮสปีดสำหรับทุกคน
ดีแทคประกาศเดินหน้าลงทุนด้านโครงข่ายอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เพื่อตอบรับการหลั่งไหลกลับภูมิลำเนาของแรงงานจำนวนมาก อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกระแสการทำงานแบบ remote working
- การขยายบริการคลื่น 2300 MHz บนคลื่นทีโอที เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยตั้งเป้าจะเพิ่มสถานีฐานบนเครือข่าย 4G-TDD เป็นจำนวนมากกว่า 20,000 สถานีฐาน ภายในปี 2563 ตอกย้ำสถานะของดีแทคในฐานะผู้นำในการให้บริการบนระบบ 4G-TDD ซึ่งเป็นระบบที่สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่รองรับการใช้งาน
- การเร่งขยาย Massive MIMO ในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่นทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานที่ดีกว่าเดิม 3 เท่า และยกระดับประสบการณ์ใช้งานทั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนมือถือและเน็ตบ้านแบบใหม่ (dtac@home)
- เดินหน้าติดตั้งสถานีฐาน 5G คลื่น 26 GHz ในพื้นที่ที่กำหนดเปิดให้บริการ (โดยเริ่มติดตั้งในไตรมาส 2) และคลื่น 700 MHz (รอใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช.) ในรูปแบบทดสอบการใช้งาน (use case) สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม ในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อให้บริการในไตรมาส 3 อาทิ กล้องตรวจการณ์อัจฉริยะ และ Fixed Wireless Access (FWA) หรือบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงประจำที่
- ติดตั้งคลื่น 700 MHz เพื่อเพิ่มความครอบคลุมของสัญญาณในภูมิภาคสำคัญ (ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสำนักงาน กสทช. ที่จะอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่ 700 MHz)
หลักการทำงานแบบ ‘ชัดเจน-ยืดหยุ่น-ชัดเจน (tight-loose-tight)’
นอกจากนี้ ดีแทคยังได้เดินหน้าปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานภายในองค์กร ให้สอดรับกับยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน การนำระบบ automation หรือ ‘ระบบควบคุมอัตโนมัติ’ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และช่วยย่นระยะเวลาให้สามารถส่งมอบสินค้าและบริการถึงมือผู้บริโภคได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ลดภาระงานของมนุษย์ และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ปัจจุบัน ออฟฟิศทุกแห่งของดีแทคนั้นอนุญาตให้พนักงานกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ทำงานแบบยืดหยุ่น โดยพนักงานจะสลับกันเข้าออฟฟิศในแต่ละสัปดาห์หรือในวันที่จำเป็นเท่านั้น
ทั้งนี้ ยังมีแผนจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ด้วยการนำระบบออโตชันมาใช้ในส่วนงานเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบปฏิบัติการโครงข่าย และในฟังก์ชันธุรกิจต่างๆ พนักงานจะได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมการแข่งขัน ‘BOTATHON’ ซึ่งทีมที่ชนะจะมีโอกาสสร้าง ‘หุ่นยนต์ผู้ช่วย’ ของตนเอง
โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อย่นระยะเวลาการทำงาน ป้องกันความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และช่วยย่นระยะเวลาให้สามารถส่งมอบสินค้าและบริการถึงมือผู้บริโภคได้รวดเร็วยิ่งขึ้น