ปัจจุบันคงต้องยอมรับว่าช่องทางอีคอมเมิร์ซ คือช่องทางที่มีศักยภาพและสามารถอำนวยความสะดวกให้กับการจำหน่ายสินค้าในหมวด FMCG (Fast-Moving Consumer Goods) ได้เป็นอย่างดี โดยเรามักพบว่า แบรนด์โลคอลมีโอกาสเติบโตในตลาดอีคอมเมิร์ซได้ไม่แพ้แบรนด์ดัง ๆ เช่น แบรนด์อย่าง Inoherb ในประเทศจีน หรือ Dollar shave club ในสหรัฐอเมริกา ที่สามารถสร้างส่วนแบ่งตลาดได้อย่างเข้มแข็งไม่แพ้แบรนด์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเช่น Olay หรือ Gillette
อย่างไรก็ดี ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเทียบกับประเทศยักษ์ใหญ่ข้างต้น สินค้าในหมวดนี้กลับมีส่วนแบ่งจากการขายในช่องทางอีคอมเมิร์ซไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ความเปลี่ยนแปลงน่าจะกำลังเกิดขึ้นกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทาง A.T. Kearney ได้คาดการณ์ไว้ว่า ไม่เกินปี 2020 ยอดขายสินค้า FMCG ในย่านบ้านเราจะเกิดการเติบโตขึ้นเป็นสิบเท่าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ จึงถือเป็นความท้าทายและโอกาสสำหรับผู้ขายสินค้าอย่างยิ่งที่จะหาโซลูชันที่เหมาะสมมาเตรียมรับการเติบโตไว้แต่เนิ่น ๆ
โดยข้อมูลจาก A.T. Kearney ระบุว่า ช่องทางในการเข้าถึงอีคอมเมิร์ซของผู้บริโภคใน SEA นั้น หลัก ๆ ต่างจากในสหรัฐอเมริกาที่มีทั้งสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์เดสก์ทอป ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้บริโภคเลือกใช้ช่องทางสมาร์ทโฟนเป็นหลัก
ยกตัวอย่างเช่น มาเลเซีย คนมาเลย์ใช้เวลา 187 นาทีต่อวันกับโทรศัพท์มือถือ หรือในไทย ก็มีการสำรวจพบว่าคนไทยใช้เวลาเฉลี่ย 160 นาทีกับสมาร์ทโฟนเช่นกัน (ข้อมูลจากการศึกษาเรื่อง How Southeast Asia Uses Smartphones จาก eMarketer, 2016) นอกจากนั้นยังพบว่า หากไม่ใช้ผู้ใช้ในเมืองใหญ่แล้ว โดยมากจะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนเป็นหลัก นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมการค้าอิเล็กทรอนิกส์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงต้องพึ่งพาโซเชียลมีเดีย และ Messaging Apps อย่าง Facebook หรือ WhatsApp นั่นเอง
จากช่องทางดังกล่าว สิ่งที่ผู้ผลิตต้องให้ความสำคัญก็คือ การเลือกโซลูชันให้เหมาะสมกับสินค้าผ่านช่องทางเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น การขายรองเท้า กระเป๋า เหล่านี้เป็นสินค้าประเภทที่ต้องสอบถามความเห็นเพิ่มเติมจากผู้ขาย ก็อาจต้องพึ่งพาแอปพลิเคชันแชท เพื่อการติดต่อสื่อสาร การเช็คสต็อกสินค้า สี รุ่น ฯลฯ ก่อนนำไปสู่การตัดสินใจซื้อ
ขณะที่สินค้าประเภทวัสดุสิ้นเปลืองใช้แล้วหมดไป เช่น ทิชชู่ น้ำยาซักผ้า ยาสีฟัน เหล่านี้อาจไม่ต้องการตัวช่วยใด ๆ เพิ่มเติม แต่ผู้บริโภคอาจต้องการความสะดวกในการซื้อมากกว่าปกติ เช่น หมดปุ๊บอยากสั่งซื้อปั๊บ กรณีนี้โซลูชันอย่างปุ่ม Dash ของ Amazon อาจเหมาะสม นอกจากนั้น สินค้าเหล่านี้ยังมีรูปแบบการใช้เป็นแพทเทิร์น เช่น ครอบครัวหนึ่งมีสี่คน จะใช้ทิชชู่ 12 ม้วนหมดทุก ๆ สองเดือน กรณีนี้ ผู้ขายอาจใช้วิธีชวนสมัครสมาชิกเสียเลย (แต่อาจมีระบบให้แคนเซิล หรือเปลี่ยนแปลงการสั่งซื้อได้อย่างสะดวกเอาไว้ด้วย) หรือไม่ก็บันทึกรูปแบบการสั่งซื้อไว้ และให้โปรแกรมทำการคำนวณล่วงหน้าว่าเมื่อไรครอบครัวนี้จึงจะเริ่มต้องการซื้อสินค้าชนิดดังกล่าวอีก จะได้ส่งอีเมล – ราคาสินค้าในเวลาที่เหมาะสม เป็นต้น
ทั้งนี้ ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นเขตการค้าอิเล็กทรอนิกส์แห่งใหม่ที่มีการเติบโตสูงสุดตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นไป และตัวเลขประชากรอินเทอร์เน็ตก็คาดว่าจะเติบโตกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ด้วย ด้วยเหตุนี้แบรนด์สินค้า FMCG จึงจำเป็นต้องขยับตัว และเริ่มหากลยุทธ์อีคอมเมิร์ซที่เหมาะสมกับแบรนด์และประเภทของสินค้าให้ได้โดยไวนั่นเอง
ที่มา CampaignAsia