ตามไปดูหลากเรื่องราวของ E-Commerce วันนี้ ทั้งในแง่ช่องทาง ความท้าทาย และสถิติความฮ็อตใน 5 ประเทศชั้นนำ และที่ขาดไม่ได้คือแง่มูลค่า ซึ่งข้อมูลล่าสุดระบุว่า E-Commerce ทั่วโลกมีเงินสะพัดทะลุ 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2012 ที่ผ่านมา
การทำธุรกิจผ่านทางออนไลน์ (E-commerce) เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และโดยเฉพาะปีที่แล้ว (2012) พบว่า ทั่วโลกมีมูลค่าในการซื้อขายสินค้าผ่านทางออนไลน์รวมกันทำสถิติสูงถึง 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ผลจากการขยายตัวของธุรกิจ E-commerce บนช่องทางที่หลากหลาย
ผลการสำรวจของเว็บไซต์ Cuecommerce พบว่า ปัจจุบันช่องทางในการเข้าถึงธุรกิจ E-commerce ของผู้บริโภคเริ่มมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดย 3 ช่องทางหลักที่ถูกใช้งานเพื่อซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์มากที่สุด ได้แก่ คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก (82%), แท็บเล็ต (10%) และโทรศัพท์สมาร์ทโฟน (8%) และโดยเฉพาะ “แท็บเล็ต” พบว่ามีสัดส่วนการใช้งานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยอยู่ที่ 2% ต่อปี (ตั้งแต่ปี 2010-2013) ในขณะที่โทรศัพท์สมาร์ทโฟนถูกใช้งานเพื่อซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1% ต่อปี
ฃประเทศ 5 อันดับแรกของโลกที่พบว่า มีมูลค่าในการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์สูงสุดในปีที่แล้ว (2012) ได้แก่ “สหรัฐฯ” มีมูลค่าในการซื้อสินค้าออนไลน์อยู่ที่ 384.80 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาเป็น จีน (181.63 พันล้านเหรียญสหรัฐ), อังกฤษ (141.53 พันล้านเหรียญสหรัฐ), ญี่ปุ่น (140.35 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และเยอรมัน (53 พันล้านเหรียญสหรัฐ)
ส่วนสินค้าที่ได้รับความนิยมในการซื้อผ่านทางออนไลน์ประกอบด้วย แผ่นดีวีดี ซีดีและหนังสือ (23.2%) ตามมาด้วยการจองตั๋วและที่พักเกี่ยวกับการพักผ่อนในช่วงวันหยุด (22.6%), คอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ (19.7%), คอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ (11%) รวมถึงอุปกรณ์เครื่องเสียงและวิดีโอ (3.8%)
เว็บไซต์ Cuecommerce ตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่จะสามารถเพิ่มยอดขายในธุรกิจ E-Commerce นั้นมีหลายจุด หนึ่งในนั้นคือการทำ SEO (Search Engine Optimization), การเขียนบทความลงบล็อกอื่น (Guest Blogging), การเขียนบทความลงเว็บไซต์และมีการใส่ลิงค์เพื่อเอื้อต่อการทำ SEO และเคล็ดลับที่ไม่ควรมองข้ามเลยอย่าง Alt Tags รวมถึงการใช้รูปแบบในการนำเสนออย่าง “อินโฟกราฟฟิกและวิดีโอ” มาช่วยกระตุ้นและดึงดูดความสนใจของผู้พบเห็น ซึ่งการนำเสนอโดยใช้รูปภาพและเคลื่อนไหว จะยิ่งช่วยเพิ่มการจดจำรายละเอียดที่ธุรกิจต้องการสื่อสารถึง อีกทั้งยังง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูลและเอื้อต่อการนำไปแชร์ต่อ
ที่สำคัญ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในการทำธุรกิจ E-Commerce อีกอย่างคือ “โซเชียลมีเดีย” เพราะนอกจากโซเชียลมีเดียเหล่านี้จะอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคโดยตรงแล้วยังกลายเป็นช่องทางเพื่อเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจและผู้บริโภคอยู่ในเวลานี้ โดยผลการสำรวจพบว่าปัจจุบันมีผู้บริโภคซื้อสินค้าผ่าน Facebook เป็นสัดส่วนอยู่ที่ 35% และบน Twitter 32% และสินค้าที่ถูกแชร์ต่อผ่านลิงค์บน Facebook ยังมีส่วนกระตุ้นในการซื้อสินค้าของผู้ใช้งาน Facebook อีกเป็นจำนวนกว่า 28%
นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจท่ำ E-Commerce ยังควรเรียนรู้ถึงอุปสรรคสำคัญในการทำ E-Commerce ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่รู้สึกหวาดหลัว ก็คือ “การละทิ้งการสั่งซื้อสินค้า (Cart Abandonment)” ผลสำรวจพบว่ามีผู้บริโภคที่ละทิ้งการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์คิดเป็นอัตราส่วน (Abandonment Rates) มากถึง 67%
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคละทิ้งการสั่งซื้อสินค้า และไม่ชำระเงินตามรายการสินค้าที่สั่งซื้อไว้ ได้แก่ การเปลี่ยนใจกระทันหันของผู้บริโภค โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงสุดถึง 61% ของจำนวนผู้บริโภคทั้งหมด รองลงมาเป็น การเจอแบรนด์อื่นที่จำหน่ายในราคาต่ำกว่า (57%), พบว่ายอดการซื้อสินค้ามีมูลค่าสูงเกินไป (49%), ตัดสินใจเก็บไว้ซื้อในอนาคต (47%), มีขั้นตอนการซื้อที่ยุ่งยาก (44%) และสุดท้ายคือ มีค่าขนส่งที่สูงเกินไป (28%)
ที่มา: cuecommerce