Site icon Thumbsup

4 แบรนด์ดังมุ่งสู่อนาคต หันมาหนุนธุรกิจ E-Sport

เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่า E-Sport เข้ามาในไทยตั้งแต่ปี 2543 แล้ว  แต่ก่อนหน้านี้ยังไม่ได้เฟื่องฟูนัก นั่นเป็นเพราะการเล่นเกมส์อาจไม่เวิร์คสำหรับมุมมองผู้ใหญ่ที่เป็นเจ้าของเงิน ทำให้วงการ E-Sport ต้องอาศัยเม็ดเงินสนุบสนุนจากการโฆษณาและขอสปอนเซอร์เป็นหลัก ต่างจากปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันแบบจริงจังและมีหลายแบรนด์ที่โดดเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนใน E-Sport ลองมาดูกันมีแบรนด์ไหนบ้างเข้ามาเล่นในสนามนี้

Major Cineplex

Major Group ซึ่งดำเนินธุรกิจโรงภาพยนตร์มาอย่างยาวนาน แม้กระแสคนดูหนังในโรงยุคนี้ไม่บูมเมื่อในอดีต ทีมบริหารเมเจอร์กรุ๊ปส์เองก็ยอมรับว่า “ต้องปรับตัว” ให้เข้ากระแส และได้จัดทำโรงภาพยนตร์เพื่อรองรับการแข่งขัน E-Sport เป็นแห่งแรกของโลก

โดยได้ตั้งอยู่ที่ห้างสรรพสินค้า Esplanade Cineplex รัชดา ด้วยความร่วมมือระหว่างเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และ Dell (เดลล์) ผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเกมมิ่ง ที่มาร่วมสนับสนุนอุปกรณ์การเล่น และสร้าง Alternative Content เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือก นอกจากการชมภาพยนตร์  รวมทั้งมีการกำหนดกลุ่มลูกค้าหลักเป็นหน่วยงานหรือองค์กรที่ต้องการจัดกิจกรรมการแข่งขันด้าน E-sports

ทั้งนี้ ศูนย์ในรูปแบบอีสปอร์ตมีอีกแห่งหนึ่งที่ห้างพันทิปพลาซ่าที่มีรูปแบบการให้บริการคล้ายกัน แน่นอนว่าเมเจอร์ชูจุดเด่นในเรื่องของ การรองรับการแข่งขันด้าน E-sports อย่างครบวงจร ด้วยอุปกรณ์ชั้นนำไม่ว่าจะเป็น หน้าจอขนาดใหญ่ เครื่องฉาย 4K  ระบบเสียง ระบบอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 1,000 GB สามารถรองรับผู้เข้าแข่งขันได้ 72 คน พร้อมผู้ชมอีก 200 คน

และมองเผื่อไว้ว่า หากไม่มีใครมาจัดการแข่งขันหรืออีเว้นท์ ก็ยังคงนำโรงดังกล่าวมาฉายภาพยนตร์ตามปกติได้ ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางขยายรายได้ของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ที่มีการตั้งเป้ารายได้จากโรงภาพยนตร์ E-sports ไว้ที่ปีละ 12 ล้านบาท

Buriram United

ใครจะไปคาดคิดว่า Buriram United (บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด) สโมสรฟุตบอลอาชีพที่น่าสนใจอีกรายหนึ่งของเมืองไทย  ภายใต้การบริหารของอดีตนักการเมืองชื่อดังอย่าง เนวิน ชิดชอบ จะสนใจวงการอีสปอร์ต จนปั้นทีม E-Sport เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาดแบรนด์บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด

จากความเชื่อที่ว่า E-Sport จะสามารถเข้าถึงคนได้จำนวนมาก เปิดรับชมได้ทุกที่ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีคนดูกว่า 10 ล้านคนแล้ว  โดยยังคงให้ฟุตบอลยังคงเป็นธุรกิจหลัก เพียงแต่มองว่า E-Sport มีการเติบโตมหาศาล และมีฐานแฟนที่เยอะพอๆ กับฟุตบอล ทำให้เป็นกีฬาขยายแบรนด์ได้  และพร้อมจะแตกไลน์ธุรกิจอย่างสินค้าที่ระลึกได้อีกด้วย

นอกจากนั้นยังมีเป้าหมายที่ใหญ่ที่ชัดเจน มุ่งไปไกลให้ถึงระดับชิงแชมป์โลก ด้วยการจัดตั้ง “อีสปอร์ตอะคาเดมี” เพื่อสอนลูกหลานคนไทยที่ชอบเล่นเกม และอยากพัฒนาไปสู่การเป็นนักกีฬา E-Sport อาชีพ ให้เหมือนกับนักฟุตบอลอาชีพ รวมไปถึง “อีสปอร์ต สเตเดียม” ที่จะใช้จัดการแข่งขันนัดต่างๆ

ลองอ่านแนวคิดของคุณเนวิน เพิ่มเติมได้ที่นี่

AIS

จะไม่มีแบรนด์ใหญ่อย่างรายนี้ก็คงจะไม่ได้ เพราะ AIS เคยประกาศตัวว่าจะสนับสนุนทุกเรื่องที่เป็นดิจิทัลและเทรนด์ในอนาคต ด้วยการประเดิมจัดรายการ “Thailand PVP E-Sports Championship Powered by AIS”  เพื่อสนับสนุนการแข่งขัน E-Sport และผลักดันเกมเมอร์ของไทยสู่การแข่งในระดับโลก

โดยรูปแบบจะเป็นการแข่งขันเกมส์ ROV และ DOTA 2  เพื่อชิงเงินรางวัลรวม 1.6 ล้านบาท (DOTA2 600,000 บาท, ROV 1,000,000 บาท) จากนั้น จะเข้าสู่การแข่งขันระดับภูมิภาคที่ชื่อว่า “PVP E-Sports Championship” ที่ประเทศสิงคโปร์ (และแน่นอนว่าทีมไทยคว้าแชมป์เกม ROV ได้แก่ ทีมALPHA X จากประเทศไทยคว้าเงินรางวัล 40,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐไปเรียบร้อย)

สำหรับรูปแบบการแข่งขันที่เกิดขึ้นนั้น มาจากการจับมือของพาร์ทเนอร์ของ AIS กับ สิงเทล กรุ๊ป ประเทศสิงคโปร์ และโอเปอเรเตอร์ในเครืออีก 6 ประเทศ นอกจากนั้น ยังมีพันธมิตรในวงการเกมระดับชั้นนำของโลกอย่าง Garena, Razer, Bliazzard และ Mineski Event Team

ทั้งนี้ AIS ได้นำเอาเรื่องสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่เป็นจุดแข็ง มาเชื่อมโยงเข้ากับเรื่อง E-Sport ด้วยประเด็นของซิมโทรศัพท์ที่ให้เล่นเกม ROV ได้แบบไม่เสียค่าเน็ตและแจกไอเท็มฟรี นอกจากนั้นยังมีวิดีโอการแข่งขันเกมร่วมกับเหล่า Game Caster ของไทย ที่ดูย้อนหลังผ่านแอป AIS Play และกล่อง AIS PLAY BOX ได้ เรียกว่าเอาใจคอเกมขั้นสุด

Acer

แม้ว่าในไทยจะเพิ่งเห็นการเปิดตัวคอมพิวเตอร์ โน้ตบุคหรืออุปกรณ์สำหรับคอเกม แต่ที่จริงแล้ว ACER เรียกได้ว่าเป็นผู้สนับสนุนวงการ E-Sports มาสักพักหนึ่งแล้ว สำหรับในไทยก็มีการจับมือกับสมาคมไทยอีสปอร์ต (TESA) มาเป็นเวลากว่า 4 ปี ล่าสุดมีการจัดงาน “Predator League Thailand 2019” เพื่อคัดนักกีฬา จากเกม Dota 2 และ Player Unkown’s Battlegrounds (PUBG) เพื่อลุ้นเงินรางวัลมูลค่า 460,000 บาท

โดยการแข่งขันที่จัดขึ้นมีมากกว่า 1,900 คน จาก 320 ทีมในเกม PUBG และ 64 ทีม ในเกม DOTA2 และจะคัดทีมที่ชนะเป็นตัวแทนประเทศไทย  เพื่อแข่งขันกับประเทศอื่นในเอเชียแปซิฟิก ในการแข่งขัน “Asia Pacific Predator League 2019” ที่ไทยจะได้เป็นเจ้าภาพ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2019

ก่อนหน้านี้ ทาง ACER ได้มีการร่วมมือจัดการแข่งขันอีสปอร์ตในฐานะผู้จัดงาน เพื่อคัดเลือกนักกีฬามาแล้วหลายรายการอย่าง Acer Dota 2 Road to AGES, Esport 2017 World Championship BUSAN 9th ด้วย

แม้ว่า ภาพของ เด็กติดเกมส์จะเป็นมุมมองที่ยังคงไม่สวยงามสำหรับคนยุคเก่า แต่การสนับสนุน E-Sport อย่างจริงจังของแบรนด์ น่าจะช่วยดึงเรื่องภาพลักษณ์ของ E-Sport มีแนวทางที่ดีข้ึน รวมทั้งอาจเป็นโอกาสให้คนรุ่นใหม่ไม่ได้ติดเกมส์แบบไม่มีเป้าหมาย แต่นำพาตัวเองไปเป็นนักกีฬา E-Sport ระดับทีมชาติให้เป็นจริงได้ รวมทั้งในวันนี้ E-Sport ได้กลายเป็นกีฬาสาธิตแข่งขันในเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18  แล้ว จึงไม่น่าแปลกเลยที่หลายๆ แบรนด์จะหันมาลงทุนและสนับสนุนเส้นทางแห่งอนาคตนี้อย่างจริงจัง

อ้างอิง:

http://www.majorcineplex.com/news/dell-gaming-esports-cinema

https://esports.ais.co.th/

https://www.buriramunited.com/main_news/detail/505