เป็นอีกหนึ่งงานใหญ่ในปีนี้ของวงการ Startup ซึ่งรวม Speaker ทั้งชาวไทยและต่างชาติที่มากประสบการณ์มาบรรยายและแบ่งปันประสบการณ์ที่น่าสนใจให้กับชาว Startup ?Echelon Ignite Thailand 2012 เป็นงานย่อยที่แยกออกมาจากงาน e27 Echelon Conference ซึ่งเป็นงาน Startup ระดับภูมิภาคที่จัดที่สิงคโปร์ งานนี้จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้และเป็นการเตรียมตัวให้กับStartup ไทยที่สนใจจะเข้าร่วมงานในระดับภูมิภาคต่อไป?
Editorial note:?บทความนี้คือบทความพิเศษที่เราเรียกว่า Guest Post จาก คุณอรรถพร ชาญประโคน (ออฟ) หรือหลายคนที่เล่น twitter อาจคุ้นเคยในนาม?@ojazzy?แห่ง wearcase และคลุกคลีอยู่ในแวดวงของ Startup ไทยมาโดยตลอด โดยส่งมาให้กองบรรณาธิการ thumbsup อัพโหลดขึ้นให้ชาว thumbsup อ่านโดยเฉพาะ สิ่งที่ผู้เขียนได้เขียน ไม่สะท้อนแนวคิดของกองบรรณาธิการ thumbsup เป็นเพียงมุมมองส่วนตัวของคุณอรรถพร
บทความนี้ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของผู้เขียน ซึ่งมี thumbsup เป็น ผู้เผยแพร่เดียวที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ หากต้องการนำบทความไปใช้กรุณาให้เกียรติด้วยการอ้างอิงชื่อผู้เขียนและลิงก์ กลับมายังบทความต้นฉบับ
งานนี้แบ่งออกเป็น 2 วันโดยลักษณะของงานจะเน้น Keynote และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบ Panel Discussion เป็นหลัก และเหล่านี้คือเรื่องที่ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจและสรุปได้จากงานนี้ครับ
- ข้อดีของการนำตัวเองสู่ตลาดระดับภูมิภาคหรือระดับโลก
1) จำนวนผู้ใช้ที่มากขึ้น
2) จำนวนลูกค้าที่จ่ายเงินให้กับคุณเพิ่มมากขึ้น
3) โอกาสทางธุรกิจที่มากขึ้น
4) พันธมิตรทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น
5) สามารถหาแหล่งเงินทุนได้มากยิ่งขึ้นและง่ายขึ้น
6) ความรู้ของเราจะเพิ่มพูนขึ้นมาก
- เรื่องที่Startup มักจะพลาดกันเวลาที่ทำการขอเงินทุน
1) มาเร็วเกินไป : ยังไม่มีความจำเป็นที่แท้จริงที่ต้องหาทุนจากนักลงทุน (ข้อนี้ยังไม่ค่อยรุนแรงเท่าไรนักเพราะอย่างน้อยก็ยังได้ลองพูดคุยกับนักลงทุนและได้รับฟีดแบ็คเอาไปเตรียมความพร้อมให้มากขึ้น)
2) ไม่ทำความรู้จักกับตลาดของตนเองให้ดีก่อน : ไม่เข้าใจธรรมชาติและมูลค่าของตลาดที่ตัวเองอยู่ทำให้มองภาพข้างหน้าได้ไม่ชัดเจนนัก ดังนั้นค้นคว้าและทำความเข้าใจกับตลาดให้ดี
3) มองเพียงตลาดภายในประเทศของตัวเองเท่านั้น : ผู้ประกอบการมองเพียงแต่จะขายในประเทศของตัวเอง ซึ่งเมื่อเทียบกับสเกลตลาดระดับภูมิภาคหรือตลาดระดับโลกแล้วเล็กมากๆ นักลงทุนมักจะไมสนใจถ้ามูลค่าตลาดที่เรามองไว้น้อยเกินไป ดังนั้นคิดให้ใหญ่และนำเสนอวิสัยทัศน์ของคุณให้นักลงทุนเห็นซะ
4) กลัวขั้นตอนการตรวจสอบ : ก่อนที่นักลงทุนจะลงเงินกับStartup ใดๆ เขาจะทำการตรวจสอบในทุกแง่มุมเสียก่อน ทั้งเรื่องของพื้นเพสมาชิกในทีมและสถานะทุกด้านของบริษัท หลายคนไม่ต้องการเปิดเผยสถานะตัวเอง สุดท้ายจึงพลาดเงินลงทุนไป
5) ห่วงเรื่องการประเมินมูลค่าของบริษัทมากเกินไป : Startup หลายรายกังวลและต้องการให้มีการประเมินมูลค่าบริษัทของตนออกมาให้สูงๆตั้งแต่ช่วงแรกๆของธุรกิจ ทำให้บางครั้งเสียเวลากับขั้นตอนนี้มากเกินไป ในช่วงแรกๆอาจจะยังไม่ใช่เรื่องที่ต้องห่วงมากนัก สิ่งสำคัญคือเติบโตและเพิ่มมูลค่าของตนเองให้เร็วที่สุด
- จงกล้าที่จะฝันใหญ่ แต่อย่างไรก็ขอให้ไม่ลืมความเป็นจริง
- สิ่งที่ Jakob Lykkegaard ผู้ก่อตั้ง PageModo ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของเขา
1) Fake it ’till you make it : จำลองหรือทำให้คนเห็นภาพโดยใช้วิธีอื่นๆ เช่น วิดีโอ หรือ mockup ตัวอย่างให้คนเห็นภาพไปก่อนจนกว่าโปรดักท์หรือฟีเจอร์ของเราจะเรียบร้อย
2) Think only about the 80% : ให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้า 80% ที่สนใจเราจริง ถ้ามี 20% ที่ท้วงติงหรือไม่พอใจผลิตภัณฑ์ของเรา ถ้าสิ่งที่พวกเขาไม่พอใจมันไม่สำคัญจริงๆก็ปล่อยให้พวกเขาไปใช้ผลิตภัณฑ์อื่นในตลาดเถอะ
3) Launch fast, be embarrassed : ออกผลิตภัณฑ์ให้เร็วที่สุด ถ้าคุณไม่รู้สึกขวยเขินกับสภาพของผลิตภัณฑ์ตัวแรกของคุณ คุณช้าไปแล้วล่ะ
4) Sell product, not time : สร้างผลิตภัณฑ์ที่สร้างครั้งเดียวขายได้เรื่อยๆขึ้นมาขายดีกว่าเสียเวลาขายชิ้นงานที่ต้องเสียเวลาปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของลูกค้าบ่อยๆ
5) Avoid long lockdown : โดยทั่วไปหลังจากขายบริษัทแล้ว ผู้ก่อตั้งมักจะต้องเซ็นสัญญาทำงานกับบริษัทต่อไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ในกรณีของเขาคือ 4 ปีซึ่งเขามารู้ตัวในภายหลังว่ามันนานเกินไปทำให้เสียโอกาสในการสร้างสิ่งใหม่ๆหลายๆอย่าง
6) Sell to people who can teach : ถ้ามีโอกาสให้ลองนำงานของคุณไปเสนอหรือขายกับคนที่สามารถสอนหรือให้มุมมองและแนวคิดกับคุณได้ เงินเป็นสิ่งที่จะอยู่กับคุณชั่วคราวแต่ความรู้จะเป็นสิ่งที่ติดตัวคุณไปตลอด
- แม้จะมีสภาพแวดล้อมที่ดีทั้งเรื่องของแหล่งเงินลงทุนและเทคโนโลยี แต่สิงคโปร์อาจไม่ใช่ที่ๆดีที่สุดสำหรับเริ่มทำStartup แรกของคุณ เหตุเพราะจำนวนประชากรในประเทศที่ไม่เยอะมากนักและค่าครองชีพที่ค่อนข้างสูง
- ประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะกับการทำStartup เป็นอย่างยิ่ง ด้วยจำนวนประชากรที่เยอะเพียงพอที่จะสร้างรายได้ในระดับ local ได้คุ้มค่า ค่าครองชีพที่ไม่สูงนัก และจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ถ้าหากคุณสามารถเจาะตลาดประเทศที่มีอุปสรรคสูงได้ตั้งแต่แรก การขยายตัวไปประเทศอื่นๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยากมากแล้ว
- If you’re are a nobody, join a BIG SHIP : ถ้าคุณไม่ได้เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลหรือเป็นที่รู้จักในหมู่คน แนะนำให้หาสังกัดของคุณเสีย ไม่ว่าจะเป็น Incubator หรือเครือข่าย Startup ใดๆ ก็ตามที่มีอิทธิพลเพียงพอ พลังของกลุ่มเครือข่ายจะทำให้คุณทำงานง่ายขึ้น
- การอยู่ในกลุ่มเครือข่ายที่ทรงพลัง เช่น AngelPad หรือ 500 Startups แห่ง Silicon Valley จะช่วยทำให้คุณเข้าหานักลงทุน สื่อรายใหญ่ และพูดคุยต่อรองกับบริษัทใหญ่ๆ ได้ง่ายขึ้น
- ควรติดต่อพูดคุยกับเพื่อนร่วมกลุ่มอยู่อย่างต่อเนื่อง แบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
- หลีกเลี่ยงการเมืองภายในกลุ่ม เพราะการเมืองอาจทำให้กลุ่มสูญเสียประสิทธิภาพได้
- เลือกตลาดที่มีขนาดใหญ่?อย่ามัวเสียเวลาทำอะไรเล็กๆ จะเหนื่อยทั้งทีเหนื่อยให้คุ้มค่า
- ถ้าข้อความหรือสารของผลิตภัณฑ์ของคุณนั้นไม่เซ็กซี่พอสำหรับคนทั่วไป ให้เปลี่ยนมันเสีย
- กฎทองคำสามข้อของ Dave Mcclure ผู้ก่อตั้ง 500 Startups สำหรับStartup
– Hire good people : จ้างคนให้ดี
– Make customers happy/productive : ทำให้ลูกค้ามีความสุขหรือผลิตภาพที่สูงขึ้น
– Make money : ทำเงินให้ได้
- Michael Smith ซึ่งดำรงตำแหน่ง Chief Product Officer ของ Spuul คิดว่าการทำ Startup ต้องคำนึงถึงปัจจัย 5 ประการต่อไปนี้
1) Karma : กฎแห่งกรรม คุณทำอะไรไว้คุณก็จะได้รับสิ่งนั้นกลับคืน ดังนั้นก่อนจะจะพูดอะไรทำอะไรกับใครขอให้คิดให้รอบคอบ
2) People : เวลาเลือกคนเข้ามาทำงานด้วยต้องให้ความสำคัญเรื่องบุคลิกลักษณะพอๆกับเรื่องของทักษะความสามารถ เมื่อรับเขามาทำงานแล้วเราควรช่วยส่งเสริมให้เขาเติบโตและมีความสามารถเพียงพอที่จะนำตนเองได้
3) Data : ไม่ว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณจะเป็นอะไรก็ตาม ข้อมูลเป็นอาวุธที่ทรงพลังเสมอ เพราะข้อมูลจะช่วยทำให้การตัดสินใจของคุณแม่นยำมากยิ่งขึ้นและยังคอยเตือนคุณเวลาไปผิดทางอีกด้วย ดังนั้นให้เก็บสะสมข้อมูลไว้ตั้งแต่เนิ่นๆแม้เวลานั้นจะยังไม่ได้ใช้ก็ตาม
4) Focus/Simplicity : อย่าพยายามทำอะไรพร้อมกันหลายๆอย่าง พยายามทำทุกสิ่งให้เรียบง่ายที่สุด หลายครั้งที่ความซับซ้อนมักจะนำพาปัญหามาให้
5) Customer Care : ทำให้วัฒนธรรมการดูแลเอาใจใส่ลูกค้าอยู่ในทุกๆกระบวนการของคุณ แม้มันจะต้องใช้เวลานานสักหน่อยแต่เมื่อผลของมันสุกงอม นี่คือการตลาดที่ยอดเยี่ยมที่สุด
- Content is the king but distribution is the King-Kong! : แม้จะมีเนื้อหาที่ดีอยู่ในมือแต่ถ้าไม่มีช่องทางในการกระจายเนื้อหานั้นๆก็จบกัน
- สภาพแวดล้อมในการลงทุนที่ Silicon Valley หลากหลายกว่าที่สิงคโปร์มาก อีกทั้งยังใช้เวลาในการดำเนินการขอทุนจากนักลงทุนน้อยกว่าอีกด้วย
- ในความเป็นจริงStartup ที่ Silicon Valley ก็ไม่ได้คิดถึงการไปตลาดโลกตั้งแต่แรกสักเท่าไรนัก ส่วนใหญ่จะคิดถึงแต่ตลาดอเมริกา ดังนั้นโอกาสในการแข่งขันระดับโลกของ Startup ในเอเชียยังมีอีกมาก
- ควรมีจุดมุ่งหมายและวางแผนการใช้เงินอย่างชัดเจนก่อนไปเอาเงินของนักลงทุนมา
- การโฟกัสกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนในระดับประเทศของตัวเองก่อนนั้นเป็นรากฐานที่ดีของการมุ่งสู่ระดับโลก
- การไประดับโลกได้ต้องอาศัยผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ดี การประชาสัมพันธ์ที่ดี และภาษาอังกฤษ
สุดท้ายต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ทำให้เกิดงานดีๆแบบนี้ขึ้นได้ โดยเฉพาะทีมงาน Hubba เรียกได้ว่าทำงานได้อย่างยอดเยี่ยมจริงๆ และแน่นอนว่างานนี้เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นได้ว่าประเทศไทยเริ่มได้รับความสนใจจากระดับภูมิภาคในเรื่องของStartup แล้ว ใครมีไอเดียอย่ารอช้า จังหวะดีๆมาแล้วครับ
ภาพจาก e27